จับตาสถานการณ์โควิด 2566 ยอดป่วยใหม่-ตายเพิ่ม ไม่ได้หายไปไหน

สถานการณ์โควิด-19
FILE PHOTO: REUTERS/Aly Song/File Photo

1 มกราคม 2566 เข้าปีใหม่ ปีกระต่ายแล้ว มีสถานการณ์ใหญ่ ๆ ที่ต้องติดตามและจับตามอง

ทั้งปัญหาเรื่องเศรษฐกิจในภาพรวม ปัญหาปากท้อง เรื่องของราคาพลังงาน น้ำมัน-ก๊าซราคาแพง ค่าไฟขึ้นราคา การเมือง ที่จะมีการการเลือกตั้งใหญ่ในปีนี้ ปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องสภาพอากาศที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น

ซึ่งรอบปีที่ผ่านมาหลายพื้นที่ของประเทศไทยเจอน้ำท่วมกันแบบหนักหนาสาหัสทีเดียว รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เจอฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่ อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในรอบหลายปี

และยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่ต้องเฝ้าติดตาม

นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ดูเหมือนว่า “โรคโควิด-19” ที่เริ่มบรรเทาเบาบางลง หลังจากที่เป็นมหันตภัย(โรค)ถล่มโลกมา 2-3 ปี ก็กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

โดยเฉพาะกับการที่จีน ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เตรียมเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม 2566 นี้ หลังจากที่ชัตดาวน์ ปิดประเทศมานานถึง 3 ปี

หลาย ๆ ประเทศดูเหมือนว่าจะดีใจกับการที่จีนเปิดประเทศ ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้นมีทั้งปริมาณและกำลังซื้อมหาศาล

แต่ขณะเดียวกันก็ออกจะแหยงๆ หรืออดกังวลไม่ได้ เนื่องจากการควบคุมการติดเชื้อโควิดในจีนนั้นยังเป็นที่กังขาต่อสายตาชาวโลก

ยอดป่วยใหม่-เสียชีวิต มีทุกสัปดาห์

รายงานสถานการณ์โควิดรายสัปดาห์(51)
รายงานสถานการณ์โควิดรายสัปดาห์ล่าสุด(สัปดาห์ที่ 51)

เช่นเดียวกับประเทศไทย แม้โรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นไปแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 แต่ดูเหมือนสถานการณ์การระบาดกลับน่าเป็นห่วงขึ้นมาอีกครั้งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

ล่าสุดข้อมูลของ กรมควบคุมโรค เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา(สัปดาห์ที่ 51) ระหว่างวันที่ 18-24 ธันวาคม 2565 พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 2,900 ราย เฉลี่ย 414 ราย/วัน พบผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) 89 ราย เฉลี่ย 12 ราย/วัน

ขณะที่สัปดาห์ก่อนหน้ายอดป่วยใหม่พุ่งขึ้นไป 3 พันกว่าราย และเสียชีวิตถึง 113 ราย หรือเฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 15-16 ราย

แต่ที่ไม่เป็นข่าวใหญ่โต เพราะไม่มีการแถลงข่าวจากทางการ เป็นเพียงการรายงานตัวเลขผ่านทางเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์โควิด-19 ของรัฐบาล

และส่วนใหญ่ก็มักจะระบุว่าเป็นกลุ่ม 608 ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว หรือไม่ก็เป็นพวกที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบ หรือไม่ได้ไปฉีดเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือน

ฉีดวัคซีน
แฟ้มภาพ : CVC กลางบางซื่อ

กระนั้นก็ตามบรรดาคุณหมอ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างระบุตรงกันว่า สถานการณ์โรคโควิดในประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

แต่ที่ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่ดูเหมือนน้อย ก็เพราะว่าในทางปฏิบัติมีการตรวจหาเชื้อกันน้อยด้วย ขณะที่บางส่วนมีอาการไม่มาก บางส่วนซื้อยากินเอง และบางส่วนก็อาจจะหายเองได้ หนำซ้ำบางส่วนไม่รู้ว่าตัวเองติดโควิดด้วยซ้ำ คิดว่าเป็นแค่โรคหวัดธรรมดา

กระนั้นก็ตามแพทย์ชื่อดังหลายคนได้ให้ความเห็นต่อสถานการณ์การระบาดในปัจจุบันว่า ยังคงต้องจับตามอง เพราะยังมีความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันเป็นช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ เป็นช่วงของการหยุดยาว มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปท่องเที่ยว รวมถึงการจัดงานสังสรรค์รื่นเริงปีใหม่

ขณะเดียวกันก็ละเลยมาตรการป้องกันส่วนบุคคล การที่ต้องอยู่ห่างกัน หมั่นล้างมือ สวมใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย

ซึ่งดูเหมือนว่าหลาย ๆ คนยกการ์ดลงเป็นส่วนใหญ่แล้ว

 5 พฤติกรรมเสี่ยงติดโควิด

ล่าสุดกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยผลสำรวจ พฤติกรรมเสี่ยงติดโควิด-19 ช่วงปีใหม่ น่าสนใจ

เพราะผลสำรวจที่ออกมา พบว่า กลุ่มที่ชวนกันไปกิน “หมูกระทะ ชาบู สุกี้ “ติดอันดับหนึ่งของความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด

เพราะเด็ก ๆ วัยรุ่น หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เอง คิดอะไรไม่ออกก็ “ไปกินหมูทะ-ชาบู” กัน  ส่งผลให้ร้านหมูกะทะชื่อดัง ร้านชาบูชื่อดัง ต้องเข้าคิว จองคิวกันนาน 1.30-2.00 ชั่วโมง หรืออาจนานกว่านั้น กว่าจะได้กิน

ส่วนผลสำรวจอันดับ 2 ,3 และ 4  ตามมา คือการไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า เคานต์ดาวน์ ร่วมงานเลี้ยงปีใหม่ เที่ยวงานประจำปี

เหล่านี้ล้วนเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” ที่จะทำให้การระบาดของโควิดเพิ่มสูงขึ้น

เตือนโควิดสายพันธุ์ใหม่จ่อเข้าไทย

หมอมนูญ
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เตือนสายพันธุ์โควิดชนิด XBB ระบาดในอินเดียแล้ว

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เตือนสายพันธุ์โควิดชนิดที่ระบาดในอินเดียแล้ว จะเข้าไทยในอีกไม่ช้า จากกรณีตัวอย่างหลายกรณี ขณะนี้สายพันธุ์ XBB ระบาดในอินเดียแล้ว อีกไม่นานจะเข้าไทย ชี้ติดต่อกันง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ก็ออกมาโพสต์เตือนว่า ประเทศไทยต้องจับตาเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อะไรที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศอินเดีย เพราะหลายครั้งที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ในประเทศอินเดีย หลังจากนั้นอีกไม่นานก็พบการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์นั้นในประเทศไทย

หากดูย้อนหลังไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาพบครั้งแรกในประเทศอินเดียปลายปี พ.ศ. 2563 ต่อมาแพร่กระจายเร็ว เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก และประเทศไทยก็มีการแพร่ระบาดระลอกใหญ่จากสายพันธุ์เดลตาเมื่อกลางปี พ.ศ. 2564

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ประเทศอินเดียพบไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ครั้งแรก เชื้อสายพันธุ์นี้แพร่เร็วกว่า เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ย่อย BA.5 แพร่ระบาดในประเทศอินเดีย และกระจายไปหลายประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ BA.2.75

ประเทศอินเดียเริ่มเห็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ XBB ซึ่งเป็นลูกผสมของไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.10.1 กับ BA.2.75 เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะแทนที่สายพันธุ์ BA.2.75 ในประเทศอินเดีย

ประเทศไทยเตรียมตัวได้เลยว่า หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 อีกไม่นานก็จะมีสายพันธุ์ XBB แพร่ระบาดเหมือนประเทศอินเดีย

เพราะสายพันธุ์ใหม่นี้ติดต่อกันง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม และหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจากการฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม

ปัจจุบันไวรัสโควิดสายพันธ์ใหม่ใช้เวลาสั้นกว่าเดิม เพียง 3-4 เดือน ก็เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม และทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปทั่วโลก

แต่ก็ยังโชคดีที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ไม่ได้ทำให้คนป่วยหนักและเสียชีวิตเหมือนสายพันธุ์เดลต้า โดยเฉพาะคนที่ได้รับวัคซีน 4 เข็ม คือได้วัคซีนครบ 2 โดสและตามด้วยเข็มกระตุ้นอีก 2 เข็ม

สธ.คาดโควิดปี 2566 เป็นแบบ Small Wave

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  เปิดเผยว่า คาดว่าในปี 2566 สถานการณ์การระบาดไม่น่าแตกต่างจากเดิม ยังจะพบการระบาดในลักษณะ Small Wave เชื้อโรคอาจมีการกลายพันธุ์ย่อย ๆ เล็กน้อย ขณะที่คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น แต่ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงยังคงต้องให้วัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ

ส่วนช่วงท้ายปี 2565 ระบบสาธารณสุขยังรองรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งสถานการณ์ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงอีกด้วย

สำหรับผู้เสียชีวิตทุกรายยังอยู่ในกลุ่ม 608 และเกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบ หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือน จึงต้องเร่งรัดเชิญชวนกลุ่ม 608 รวมถึงผู้ที่ได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อมาแล้วเกิน 3-4 เดือน ให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามหลัก “4 เข็ม 4 เดือน” คือรับให้ครบ 4 เข็ม หากเข็มล่าสุดเกิน 4 เดือน ให้มารับวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน

“สิ่งสำคัญคือ ขอให้มารับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม และฉีดตามกำหนด เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ไม่ต้องห่วงว่าจะรอวัคซีนรุ่นใหม่ เนื่องจากการนำมาฉีดกระตุ้นไม่ได้ให้ผลแตกต่างกว่าการฉีดวัคซีนรุ่นเดิมมากนัก และเชื้อยังมีการกลายพันธุ์ย่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง วัคซีนที่ผลิตออกมาจึงไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัส” นพ.โอภาสกล่าว

นอกจากนี้ มาตรการป้องกันตนเองยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะการสวมหน้ากากเมื่อมีอาการในระบบทางเดินหายใจ หรืออยู่ในที่มีคนจำนวนมาก หรือแออัด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในกลุ่มต่าง ๆ ทั้งสถานพยาบาล ตลาด แรงงานต่างด้าว ชุมชนแออัด

หากมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ

2566 ต่างชาติเที่ยวไทย 24 ล้านคน

ท่องเที่ยวไทย ท่องเที่ยว ประเทศไทย
Photo by Florian Wehde on Unsplash

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 2566 คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย อาจถึง 24 ล้านคน ฟื้นกลับมาเท่ากับครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนโควิด

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หลังจากที่ทางการกลับมาเปิดประเทศรับชาวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือน ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการตอบรับจากชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ทำให้ในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยคาดว่าจะมีจำนวน 11 ล้านคน ซึ่งดีกว่าที่ทางการได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านคน

ขณะที่ในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีจำนวนประมาณ 20 – 24 ล้านคน หรือกลับมาคิดเป็นสัดส่วน 50%-60% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2562

โดยนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลาง คาดกลับมาฟื้นตัวก่อนและเติบโตกว่าปี 2562 ส่วนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นในภาพรวมน่าจะฟื้นตัวได้ดี แต่ยังต้องใช้เวลากว่าที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด

คาดนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย 3 เดือนแรก 3 แสนคน

นักท่องเที่ยวจีน
Photo by Handout / Airports of Thailand / AFP

และทันที่ที่จีนประกาศเปิดประเทศ  นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เปิดเผยว่า จากกรณีทางการจีนประกาศเปิดประเทศ 8 มกราคม 2566 นี้นั้น

คาดว่าในช่วงเดือนมกราคม 2566 หรือในช่วงตรุษจีน ซึ่งเป็นเดือนแรกของการเปิดประเทศนั้นจะยังไม่เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาทันทีทันใด เนื่องจากหลายส่วนยังไม่พร้อมรองรับ โดยเฉพาะสายการบิน รวมถึงการยื่นขอทำหนังสือเดินทาง และวีซ่าซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร

ทั้งนี้ เร็วที่สุดที่น่าจะเห็นบรรยากาศการเดินทางที่คึกคักคือ ตั้งแต่เดือนเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม 2566) จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน

เช่นเดียวกับนายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่กล่าวว่า ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 น่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาทั้งทางอากาศและผ่านด่านทางบกรวมประมาณ 4 แสนคน หรือไม่ต่ำกว่า 3 แสนคนแน่นอน

โดยคาดว่าเดือนมกราคม 2566 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประมาณ 5 หมื่น – 1 แสนคน เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 น่าจะเพิ่มเป็นราว 1-2 แสนคนต่อเดือน  และคาดว่าตลอดทั้งปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

ขณะที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยในช่วงปีใหม่ คาดว่า มีจำนวนการเดินทางท่องเที่ยว 3.14 ล้านคน-ครั้ง และจะสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนประมาณ 11,200 ล้านบาท

หลับตานึกภาพดู เฉพาะคนไทยในประเทศเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่นี้ 3 ล้านคน กับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเข้ามาในไตรมาสแรกอีก 3-4 แสนคน

โอกาสที่คนไทยหรือนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเข้ามา เปอร์เซ็นต์ที่จะติดโควิด 0.01% 0.1% หรือ 1% ตัวเลขของการป่วยเพิ่ม หรือเสียชีวิตจะออกมาเท่าไร?

แต่ยังเชื่อและหวังว่า “ระบบสาธารณสุขของไทย” ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกจะรับมือได้