
วันรัฐธรรมนูญ รวมวาทะกินใจระดับโลกของนักต่อสู้ ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย สร้างแรงบันดาลใจจนถึงปัจจุบัน
วันที่ 10 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 89 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศให้แก่ปวงชนชาวไทย
- วันรัฐธรรมนูญ : 89 ปีประชาธิปไตย รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญกี่ครั้ง
- วันรัฐธรรมนูญ : เรื่องน่ารู้จากทั่วทุกมุมโลก
“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมวาทะระดับโลกจากผู้ขับเคลื่อนการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนี้
อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln)
เว็บไซต์ทำเนียบขาว ระบุว่า อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีเป็นคนที่ 16 แห่งสหรัฐอเมริกา ในฐานะประธานาธิบดี เขาได้สร้างพรรครีพับลิกันให้เป็นองค์กรระดับชาติที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ เขายังรวบรวมพรรคเดโมแครตในภาคเหนือส่วนใหญ่ให้เข้าร่วมกับสหภาพ
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2406 เขาได้คำประกาศเลิกทาส และปราศรัยต่อรัฐสภาว่า “ท่านสมาชิกรัฐสภา เราไม่อาจหลีกเลี่ยงประวัติศาสตร์ได้ รัฐสภานี้จะได้รับการจดจำแม้พวกเราในที่นี้จะหาไม่แล้ว การให้อิสรภาพแก่ผู้เป็นทาส คือการรักษาอิสรภาพแก่ผู้เป็นไท เรามีเกียรติในการให้เท่ากับที่เราเป็นผู้รักษา”
“ผมไม่ยอมเป็นทาส ดังนั้น ผมก็จะไม่ยอมเป็น นายทาส นี่แหละคือความหมายของการเป็นประชาธิปไตยในความคิดผม”
มหาตมา คานธี
ผู้นำและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวอินเดียและศาสนาฮินดู มหาตมา คานธี ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียด้วยวิธีอหิงสา จนนำมาซึ่งเอกราชแก่อินเดียในปี 2490 ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจให้นักต่อสู้หลายคนในเวลาต่อมา
“จิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตยไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ท่ามกลางความรุนแรงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคประชาชน”
เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke)
รัฐบุรุษชาวไอร์แลนด์ อีกทั้งยังเป็นนักปรัชญา นักปราศรัย นักทฤษฎีการเมือง และเป็นนักการเมืองอังกฤษด้วย เขาเป็นสมาชิกสภาสามัญชน เป็นที่รู้จักจากการสนับสนุนการปฏิวัติอเมริกา
เบิร์กเชื่อว่าเสรีภาพและจารีตประเพณีสามารถไปด้วยกันได้ ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งถึงขั้นนองเลือดหรือสถาปนาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขึ้นเป็นฝ่ายชนะอย่างขาดลอยชัดเจน การเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันนั้นจะนำมาซึ่งความสูญเสียไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้รับ ดังนั้นเขาจึงเชื่อมั่นในวิถีแห่งการประนีประนอมมากกว่าการห้ำหั่นเอาชนะ
“รัฐบาลทั้งหมด แท้จริงแล้ว ผลประโยชน์และความเพลิดเพลินของมนุษย์ทุกอย่าง คุณธรรมทุกอย่าง และการกระทำที่รอบคอบทุกอย่าง ล้วนตั้งอยู่บนการประนีประนอมและการแลกเปลี่ยน”
เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)
บีบีซี เผยว่า เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ และเป็นหนึ่งในนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก
สมัยที่แมนเดลายังเป็นเด็กหนุ่ม คนผิวขาวและผิวดำในแอฟริกาใต้จะต้องดำเนินชีวิตโดยถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจนภายใต้นโยบายการแบ่งแยกสีผิว (apartheid) คนผิวดำมักถูกกีดกันไม่ให้มีสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิการเลือกตั้ง
แต่เขาเชื่อว่าทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เขาได้เข้าร่วมพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress หรือ ANC) และในเวลาต่อมาได้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตเยาวชนพรรค ANC ซึ่งเป็นแกนนำการประท้วงนโยบายแบ่งแยกสีผิว
“อิสระไม่ใช่การปลดโซ่ตรวนที่ล่ามเอาไว้ แต่คือการใช้ชีวิตอยู่อย่างเคารพและส่งเสริมเสรีภาพของผู้อื่น”
เบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto)
ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของปากีสถาน และถือเป็นผู้นำหญิงคนแรกในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นบุตรสาวของซัลฟิการ์ อาลี บุตโต ผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน (พีพีพี)
“คุณสามารถจองจำคนได้ แต่ไม่สามารถจองจำความคิดได้ คุณสามารถเนรเทศคนได้ แต่ไม่สามารถขับไล่ความคิดของเขาได้ คุณสามารถฆ่าคนได้ แต่ไม่สามารถฆ่าความคิดของเราได้”
ออง ซาน ซู จี
ผู้นำพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และอดีตผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเมียนมา สตรีผู้เรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตยให้กับเมียนมาตั้งแต่ปี 2531 เธอถูกจองจำอยู่ภายในบ้านพัก และลิดรอนสิทธิเสรีภาพมายาว ตั้งแต่ปี 2532-2546 และได้รับการปล่อยตัว เป็นลูปอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา
จนกระทั่งปี 2553 ได้รับการปล่อยตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งการถูกจับกักบริเวณแต่ละครั้ง ล้วนเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารทั้งสิ้น
ล่าสุด วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซู จีได้ถูกจับกุมตัวอีกครั้งจากการทำรัฐประหารของ พล.อ.มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังถูกกล่าวหาว่า ทุจริตการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ชาวเมียนมาเรียกเธอว่า “ดอว์ซู” หรือแม่ซู
“ฉันพยายามอธิบายว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์ที่สุด แต่มันคือโอกาสที่จะลิขิตชะตาชีวิตของคุณ”
- “ออง ซาน ซู จี” ศาลเมียนมาตัดสินคดีแรก โทษจำคุก 4 ปี
- ออง ซาน ซู จี ถูกตัดสินจำคุก ทั่วโลกมีปฏิกิริยาอย่างไร ?
- รู้จัก “ออง ซาน ซู จี” จากวีรสตรีประชาธิปไตย สู่ผู้นำที่ถูกยึดอำนาจ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)
ห้องสมุด มสธ เผยว่า 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย นับเป็นการพระราชทานพระราชอำนาจแก่ปวงชนชาวไทยโดยสมบูรณ์
โดยคำปรารภของรัฐธรรมนูญย่อหน้าสุดท้าย มีข้อความสำคัญที่แสดงถึงความปรารถนาของพระองค์ว่า
“ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรของเราวันนี้ จะเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุก สันติคุณวิบูลราศรี แก่อาณาประชาชนตลอดจำเนียรกาลประวัติ นำประเทศสยามบรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬาร
ขอให้พระบรมราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการทหาร พลเรือน ทวยอาณาประชาราษฎรจงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนี้ให้ยืนยงอยู่กับสยามรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสาน สมดั่งพระบรมราชประณิธาน ทุกประการเทอญ…”