ออง ซาน ซู จีถูกตัดสินจำคุก ทั่วโลกมีปฏิกิริยาอย่างไร ?

ปฏิกิริยาทั่วโลกหลังจำคุกอองซานซูจี
REUTERS/Jorge Silva/File Photo

สหประชาชาติ สหภาพยุโรป รวมถึงมหาอำนาจหลายประเทศ แสดงปฏิกิริยาและความเห็น หลังจาก “ออง ซาน ซู จี” อดีตผู้นำเมียนมา ถูกตัดสินจำคุก 

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 อัลจาซีรา รายงานว่า ออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำรัฐบาลเมียนมา ได้รับโทษจำคุก 4 ปี จากข้อหายุยงปลุกปั่น และละเมิดข้อห้ามในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ “วิน มินต์” อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี

แม้ในเวลาต่อมา ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาจะลดโทษจำคุกทั้งคู่เหลือ 2 ปี แต่ทั่วโลกยังแสดงท่าทีคัดค้านเรื่องนี้

สหประชาชาติ

“มิเชล บาเชเลต์” มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์ว่า การตัดสินลงโทษมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ภายหลังการพิจารณาคดีที่เสแสร้งในกระบวนการที่ดำเนินการลับ ๆ ต่อหน้าศาลที่ถูกควบคุมโดยทหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าใดเลย นอกจากเป็นแรงจูงใจทางการเมือง

“คำตัดสินออง ซาน ซู จี มีแต่จะทำให้การต่อต้านรัฐประหารรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังทำให้สถานการณ์เข้าสู่จุดที่ยากขึ้น หากต้องการเข้าสู่การเจรจาและยุติวิกฤตทางการเมืองอย่างสันติ”

สหภาพยุโรป

“สหภาพยุโรปขอประณามคำตัดสินที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวอีกประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในเมียนมา นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา” โจเซป บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป กล่าวในแถลงการณ์ในนามของ 27 ประเทศสมาชิก

“การกระทำของกองทัพแสดงให้เห็นถึงการดูหมิ่นเจตจำนงของประชาชน ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563” เขากล่าวและว่า “มีความจำเป็นที่ทหารเมียนมาต้องยอมให้เมียนมากลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยโดยเร็ว”

สหรัฐอเมริกา

“แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า การที่รัฐบาลทหารเมียนมาตัดสินลงโทษออง ซาน ซู จีอย่างไม่ยุติธรรม และปราบปรามเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งตามรอบประชาธิปไตยคนอื่น ๆ ถือเป็นการดูหมิ่นประชาธิปไตยและความยุติธรรมในเมียนมา

“เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัว ออง ซาน ซู จี และผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมทุกคน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย” เขากล่าว

ฝ่ายค้านเมียนมา

“ผมไม่คาดหวังอะไรจากระบบยุติธรรมที่พังทลาย” มอ ตุน อ่อง รัฐมนตรีพลัดถิ่นของเมียนมา กล่าว

ด้าน ดร.ซาซ่า โฆษกรัฐบาลพลัดถิ่น กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่น่าอับอายสำหรับหลักนิติธรรม ความยุติธรรม และความรับผิดชอบในเมียนมา รัฐบาลเผด็จการทหารที่โหดร้ายได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขามองว่าตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย

“ประชาคมโลกจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายเพิ่มเติมในการคว่ำบาตรต่อกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรของกองทัพ ธุรกิจที่พวกเขาเป็นเจ้าของ รวมถึงบริษัทในเครือและคนกลางต่าง ๆ”

อังกฤษ

“การพิจารณาคดีของออง ซาน ซู จี เป็นอีกความพยายามที่น่าตกใจของรัฐบาลทหารเมียนมา ในการยับยั้งการต่อต้านและปราบปรามเสรีภาพและประชาธิปไตย” ลิซ ทรัส รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษกล่าวและว่า

“อังกฤษขอเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมือง, เข้าร่วมการเจรจา และยอมให้ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย การกักขังนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งตามอำเภอใจ มีความเสี่ยงต่อความไม่สงบมากขึ้น”

จีน

“ในฐานะเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายในเมียนมาจะดำเนินการโดยยึดผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ เชื่อมความแตกต่างภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมถึงเดินหน้าพัฒนาการเปลี่ยนผ่านระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้มาอย่างยากเย็น ตามความเหมาะสมของชาวเมียนมา” จ้าว ลี่เจี้ยน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนกล่าว

ญี่ปุ่น

“คำตัดสินดังกล่าวเป็นพัฒนาการที่เป็นภัยต่อสมาชิกประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น ที่ขอเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูระบบการเมืองประชาธิปไตยในเมียนมา และเรารู้สึกกังวล” กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นระบุในถ้อยแถลง