
สัมภาษณ์
นั่งทำงานมากว่าครึ่งปี สำหรับ 5 กสทช.ชุดปัจจุบัน (คนที่ 6 เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างสรรหาอีก 1) ท่ามกลางภารกิจร้อน นับตั้งแต่การพิจารณาดีลควบรวมระหว่างกลุ่มทรู-ดีแทค มาจนถึงกรณีล่าสุด “บอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย)”
แม้ว่า กสทช.จะมีส่วนสำคัญทำให้คนไทยไม่พลาดศึกบอลโลกรอบสุดท้าย ในฐานะแกนนำสนับสนุนเงินก้อนโตถึง 600 ล้านบาท จน กกท.สามารถรวมเงินซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาได้ แต่การณ์กลับกลายเป็นได้ “ก้อนหิน” มากกว่า “ดอกไม้”
- ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจผลรางวัล งวด 1 ธ.ค. 2566
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสไตล์การทำงานที่ผ่านมาของบอร์ด กสทช. เป็นไปในลักษณะ “สื่อสารทางเดียว” กล่าวคือจะมีการเปิดเผยมติที่ประชุมบอร์ด (เฉพาะในบางเรื่อง) ผ่านเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ ไม่เปิดโอกาสให้ซักถามเพิ่มเติม ทั้งที่แต่ละเรื่องภายใต้ภารกิจในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ และคุ้มครองผู้บริโภคมีผลกระทบเป็นวงกว้าง
6 เดือนปรับจูนการทำงาน
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายตลอดหลายเดือน ล่าสุด นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนประจำ กสทช.แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการทำงานของ กสทช. อันนำไปสู่การรับปากว่าในปีหน้าหลังการประชุมบอร์ด กสทช. อย่างน้อยเดือนละครั้งจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามเรื่องต่าง ๆ ได้ พร้อมกับอธิบายว่า เพิ่งเข้ามาทำงานไม่นาน จึงต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลและปรับจูนการทำงาน ทั้งระหว่างกรรมการ กสทช.ด้วยกัน และกับสำนักงาน กสทช.
“บอร์ดชุดที่แล้วอยู่มานาน ชินกับนักข่าวแล้ว ส่วนบอร์ดชุดนี้เพิ่งเข้ามาก็ต้องให้เวลา ในแง่การทำงานกับสำนักงาน กสทช.เองก็ด้วย เราเป็นคนนอกเข้ามา ซึ่งตอนนี้ 6 เดือนแล้ว ถือว่าได้รู้จักกันแล้ว”
พร้อมจัดเวทีพบสื่อเดือนละครั้ง
เมื่อถามว่าอยากเปลี่ยนแปลงอะไรอีกบ้าง ตนคงบอกได้แต่เพียงว่าขอเวลาพูดคุยกับทีมงานก่อนแล้วจะมาแชร์ให้ฟังว่าปีหน้า 2566 จะทำอะไรอีกบ้าง
“ปีหน้าคาดว่าจะมีการประชุมบอร์ดทุก 2 อาทิตย์ จึงคิดว่าจะจัดให้มีการแถลงข่าวอย่างน้อยเดือนละครั้ง คงมีเรื่องใหญ่ ๆ ที่ต้องทำอีกเยอะ ทั้งการจัดประมูลดาวเทียม, กรณีเอไอเอส-3BB รวมถึงการกำหนดมาตรฐาน Wi-Fi 6 เป็นต้น”
ทั้งปฏิเสธว่า ที่ผ่านมาไม่เคยห้ามบอร์ด กสทช.ให้ข่าว ส่วนการเปิดเผยมติที่ประชุมบอร์ดมีกฎหมายรองรับไว้อยู่แล้วว่าอะไรได้ ไม่ได้แค่ไหน ถ้าเป็นความเห็นของ กสทช.แต่ละคนสามารถพูดได้อยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่ความเห็นของบอร์ดทั้งหมดแต่อย่างใด
เดินหน้า “เทเลเมดิซีน”
นายแพทย์สรณยังพูดถึงความตั้งใจส่วนตัวที่ทำให้ตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็น “กสทช.” ด้วยว่า ในฐานะแพทย์ที่สนใจด้านเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม มองว่าการจะเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขเพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวกและทั่วถึงทำได้ด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ซึ่ง บทบาทของ กสทช.ขับเคลื่อนผลักดันให้เป็นจริงได้ โดยประสานการทำงานร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล
“ระบบสาธารณสุขเราต้องเปลี่ยน ถ้าผมไปทำงานกระทรวงสาธารณสุข คงเปลี่ยนไม่ได้หรอก จึงคิดว่าจะไปอยู่ตรงไหนแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้การแพทย์ดิจิไทซ์เป็นเรื่องสำคัญ คิดว่าตรงนี้อยู่นานพอที่จะทำให้เป็นจริงได้ ทำให้ระบบแพทย์ปฐมภูมิไปถึงคนไทยแต่ละคนได้ด้วยเทเลเมดิซีน”
และคาดว่าจะเริ่มเห็นในเดือน พ.ค.ปีหน้าเป็นต้นไป หลังคณะทำงานเทเลเมดิซีน หรือเทเลเฮลท์ ซึ่งมีตัวแทนทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข และ กสทช.จัดทำแผนงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
“แผนเสร็จแล้วรอประสานกับกระทรวงสาธารณสุข คุยกันนัดสุดท้าย ต่อไปคนป่วยติดเตียงไม่ต้องไป รพ. แต่ให้ยาที่บ้านได้ ระบบคอมมิวนิเคชั่นดีอยู่แล้ว ถ้าทำได้จะเซฟเงิน เซฟอะไรต่าง ๆ ได้มาก เราจะใช้งบฯในโครงการ USO (บริการทั่วถึง) คาดว่าคงหลักพันล้านบาท เริ่มที่ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ก่อน เป็นอินฟราสตรักเจอร์ที่ต้องทำ ตอนนี้ กม.โทรเวชกรรม หรือการแพทย์ทางไกลก็มีแล้ว นี่คืองานที่ผมตั้งใจจะเข้ามาทำให้สำเร็จ”
ย้อนรอยปมบอลโลก
ประธาน กสทช.กล่าวถึงกรณีบอลโลก 2022 ด้วยว่า มติบอร์ด กสทช.ล่าสุดได้ให้สำนักงาน กสทช.ส่งหนังสือแจ้งการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้ดำเนินการตามข้อตกลงที่ทำไว้ ซึ่งมีข้อปฏิบัติชัดเจนว่าต้องบริหารจัดการให้ทุกแพลตฟอร์มเข้าถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็นไปตามกฎมัสต์แครี่ และหาก กกท.ไม่ดำเนินการตามข้อตกลงก็จะต้องเรียกเงิน 600 ล้านบาทคืน
“ถ้าให้มองย้อนกลับไปเราไม่รู้ว่าเขาจะทำอย่างที่เขาทำ เมื่อ 8 ปีก่อน กสทช.เคยถูกสั่งให้ไปจ่ายตามคำสั่งศาลกรณีอาร์เอส เพราะมีกฎมัสต์แครี่ออกมาทีหลัง และเมื่อปีที่แล้วก็จ่ายไป 270 กว่าล้านบาท ในกรณีโอลิมปิก กับกรณีบอลโลกล่าสุด จะเริ่มการแข่ง วันที่ 21 พ.ย. แต่ กกท.มาหาเราวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งผมก็มองว่าเขามาด้วยความสิ้นหวังว่าไม่มีตังค์ มาถึงก็จะขอเงินทั้งก้อน 1,200 ล้านบาท แต่มาลงที่ตัวเลข 600 ล้านบาทได้ เพราะเราใช้ฟอร์แมตเดิมกับตอนสนับสนุนโอลิมปิก คือคนละครึ่ง แบบนี้ เราอธิบายที่มาที่ไปได้”
นายแพทย์สรณกล่าวด้วยว่า กสทช.เคยเชิญตัวแทนสมาคมทีวีดิจิทัลมาหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก็ได้ความเห็นว่าอยากให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลก แต่ไม่อยากให้นำเงินกองทุน กทปส.มาจ่าย
“ทุกคนพูดแบบนี้หมด อยากดูบอลโลก แต่ไม่อยากให้จ่าย ซึ่งในความเป็นจริง ถ้าอยากดูก็ต้องมีคนจ่าย ถ้าไม่มีเงินเริ่มต้นก็คงไม่มีใครเริ่ม แรก ๆ ผมไปไหนเจอใครคนเดินมาทักแล้วบอกว่า ขอบคุณที่ทำให้ได้ดูบอลโลก แต่ตอนนี้โดนด่าจากคนที่ดูไม่ได้ ผมจะไปออกสื่อว่าอย่ามาด่าผม ไปด่าคนนั้นซิก็คงไม่ใช่ คนทำงานก็แบบนี้ ถ้าไม่ทำอะไรก็จะไม่โดนอะไร ถือว่าการมีคนด่า ทำให้เรานำมาปรับแก้”
เมื่อ กสทช. ให้ไป 600 ล้าน กกท. ก็ต้องหาคนมาลงเพิ่ม ซึ่งในส่วนของ กสทช. มองว่ากฎมัสต์แครี่ คือให้กับทุกคน ทุกแพลตฟอร์ม ในเอ็มโอยูก็เขียนแบบนี้
“ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโอกาสสำหรับบางคน เอ็มโอยูของเรากับ กกท.ชัดเจน แต่เอ็มโอยูของเขากับเอกชนรายอื่นเราไม่รู้ในฝั่งเราย้ำกับ กกท.มาตลอด”
เล็งทบทวนกฎมัสต์แครี่
ทั้งกฎมัสต์แครี่ยังเกิดขึ้นมาก่อนที่บอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบันเข้ามา ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าอาจเร็วเกินไปที่จะบอกว่าต้องปรับแก้ เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่บอร์ด กสทช.ในอดีตทำไว้มีเจตนาดีอย่างไร จึงอยากใช้คำว่าเมื่อมีปัญหาก็ต้อง “ทบทวน”
“ผมเคยทำกฎหมายมาก่อน การจะแก้ต้องดูที่มาที่ไป ไม่ใช่ชอบส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วไปแก้ทั้งหมด ซึ่งการจะทบทวนก็ต้องมีการหารือกันในบอร์ด กสทช.”
ประธานบอร์ด กสทช.ยังกล่าวถึงการพิจารณาดีลควบรวมทรู-ดีแทคด้วยว่าได้รับแรงกดดันรอบด้าน แต่ได้พิจารณาโดยยึดหลักของกฎหมายเป็นหลัก
“ขนาดมีรุ่นพี่ผมเขียนไลน์มาต่อว่าแรงมาก ซึ่งผมก็ตอบไปว่าเป็นเรื่องของ กม. ไม่เกี่ยวกับความชอบ หรือไม่ชอบใด ๆ ส่วนที่บอกว่าเอื้อเอกชน ถามว่าตรงไหนล่ะ และผมไม่ได้เป็นหนี้ใครนะ”