ดีป้า จุดพลุปั้นอินฟลูเอนเซอร์ ผนึกพันธมิตรอัพสปีด ศก.ดิจิทัล

ดีป้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ผลักดันให้อุตสาหกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตก้าวกระโดด ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งเป็นกลไกกระตุ้นให้ธุรกิจออนไลน์มีบทบาท และกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร อาทิ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดตัวโครงการ CONNEXION หลักสูตรออนไลน์เรียนฟรีผ่าน www.depaconnexion.com เพื่อยกระดับองค์ความรู้ พัฒนาทักษะใหม่ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลแก่ผู้ว่างงาน และนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางาน ให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพใหม่ในยุคดิจิทัล เช่น ดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และดิจิทัลอินฟลูเอนเซอร์ที่มีคุณภาพ โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสื่อโซเชียลออนไลน์ 15 คน

CONNEXION นำร่องปั้นอินฟลูฯ

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสให้ความสำคัญกับอีคอมเมิร์ซและค้าขายออนไลน์มาตลอด ได้เห็นการพัฒนาของอีคอมเมิร์ซมาหลายปี จากยุคแรก ร้านค้าเปิดเว็บไซต์ขายให้ลูกค้า ยุคที่ 2 เข้าสู่มาร์เก็ตเพลซ ซึ่งเติบโตในช่วงโควิด ทำให้มีการซื้อของออนไลน์เยอะมาก ประกอบกับการพัฒนาช่องทางการจ่ายเงินที่สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ปัจจุบันกำลังก้าวสู่ยุคที่ 3 ยุคดิจิทัล “ไดเร็กต์เซล” คือ อินฟลูเอนเซอร์โฆษณาแล้วขายโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ซึ่งจะเกิดได้หากช่วยกันผลักดัน

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

โครงการ CONNEXION (1)

โครงการ CONNEXION

สำหรับโครงการ CONNEXION ของดีป้า มีเป้าหมายส่งเสริม e-Commerce ฝึกเยาวชนคนรุ่นใหม่หรือคนทั่วไปที่สนใจทักษะการขายของออนไลน์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ให้มีคนดูเยอะ ๆ สามารถขายของไปด้วยได้จะได้มีรายได้ ตั้งเป้าผู้สมัครไว้ 25,000 คน

“การสร้างเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์ สร้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้สินค้าของคนไทยขายได้มากขึ้น ผู้ผลิตก็จะผลิตสินค้าได้มากขึ้น ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในธุรกิจนี้จะมีรายได้จากการสร้างสรรค์คอนเทนต์ รวมถึงเชื่อมโยงด้านการเก็บข้อมูล ใช้วิเคราะห์การตลาด ข้อมูลธุรกิจ รวมถึงเป็นเครื่องมือหาสินเชื่อให้ด้วย ถ้ามีข้อมูลการค้าออนไลน์ ก็จะมีเครดิตสตอรี่ จึงอยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำอาเซียน”

รัฐมนตรีดีอีเอสทิ้งท้ายด้วยว่า อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่หันมาประกอบอาชีพนี้ว่า การมีรายได้ หมายถึงต้องมีการเสียภาษี ไม่ขายของผิดกฎหมาย และมีความซื่อตรง สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า โครงการ CONNEXION จัดอบรม 2 หลักสูตรคือ หลักสูตร Digital Content Creator และหลักสูตร Digital Influencer แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ basic-intermediate-advanced ทั้ง 2 หลักสูตรเปิดรับผู้เรียนไม่น้อยกว่า 25,000 ราย จะได้เรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญ ผลักดันให้เกิดการรีวิว หรือสร้าง storytelling ให้สินค้าไม่น้อยกว่า 200,000 รายการ

“จะมีโรดโชว์ใน 6 ภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้ ส่วนผู้เข้ารับการอบรมที่ผ่านเกณฑ์และมีผลงานน่าสนใจ มีโอกาสเข้าสู่ขั้นตอนการจัดแสดงในโครงการ และได้รับโอกาส pitching กับคณะกรรมการ เพื่อต่อยอดและสร้างโอกาสเข้าร่วมงานกับบริษัทชั้นนำทั้งไทยและต่างชาติ”

สแกนตลาดอีคอมเมิร์ซ

ด้าน “กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ” นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซเติบโตทุกปี โดยเฉพาะช่วงโควิดใน 3 มิติ คือ มิติที่ 1 อีคอมเมิร์ซในไทยทุกคนต้องมีอย่างน้อย 5 ข้อ คือ 1) มีอีคอมเมิร์ซ มีมาร์เก็ตเพลซเป็นของตัวเอง และวัดผลว่า 3-6 เดือน มียอดขายเป็นอย่างไร และทำ CRM ให้ดี 2) e-Marketing (การตลาดอิเล็กทรอนิกส์) ของเราเป็นอย่างไร 3)e-Logistics (อีโลจิสติกส์) เราส่งของถึงมือลูกค้าภายใน 1-3 วัน หรือภายใน 1 วันได้หรือไม่ เพราะทุกคนต้องการความเร็ว 4) e-Payment ช่องทางการชำระเงินสะดวก ปลอดภัยหรือไม่ และ 5) e-Commerce plus entertainment เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะดึงให้คนสนใจ คาดว่ามูลค่าการเติบโตอีคอมเมิร์ซในไทยจาก 8 แสนล้านบาท จะเพิ่มเป็น 4 ล้านล้านบาท

“ตัวเลขนี้ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยร่วมกับหลายพันธมิตร มองว่าเราไปถึงแน่นอน เพราะต่อไปนี้เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล”

มิติที่ 2 cross border e-Commerce ปั้น KOL ในไทยให้แข็งแรง มีต้นแบบดี ๆ ดังเช่น KOL ต่างประเทศ อย่างในประเทศจีน “หลี่ เจียฉี” ไลฟ์ขายลิปสติก 6 เดือน 9 หมื่นกว่าล้านบาท และ มิติที่ 3 คือ Meta-commerce การซื้อขายสินค้าบนโลกเสมือนจริง ปัจจุบันมี virtual KOL แล้ว ฉะนั้นในอนาคตการซื้อของผ่าน VR, AR จะกลายเป็นเรื่องปกติ

“ทั้ง 3 มิติจะเชื่อมโยงด้วย live commerce เชื่อว่าเทรนด์ e-Commerce ไม่มีวันตาย มีแต่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ”

กูรูเผยเคล็ดไม่ลับ

“อภิวิชญ์ เอกธาราวงศ์” จากเพจ Eatguide มองทิศทางอินฟลูเอนเซอร์ว่า จะเกิดอินฟลูเอนเซอร์ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นตามความสนใจของคนดู แม้เป็น niche market แต่กำลังซื้อสูง

“key success ของผม คือ การสร้างแบรนดิ้งของตัวเอง ทำคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับจุดยืน และบนพื้นฐานของความจริงใจ”

“โปแปง อุดมพัฒน์วรโชติ” TikToker ในชื่อ Jessicaqueennnn กล่าวว่า แม้ทุกวันนี้ใคร ๆ จะเป็นอินฟลูฯได้ แต่การจะประสบความสำเร็จ มีคนติดตาม และทำเป็นอาชีพได้ ไม่ง่าย พร้อมกับพูดถึงตนเองว่าใช้เวลากว่า 6 เดือน ในการลองผิดลองถูก และค้นหาสไตล์ของตนเองจนเจอ

“โครงการ CONNEXION เสมือนทางลัด อินฟลูฯหลายท่านจะมาแชร์ประสบการณ์ตรง อุปสรรคต่าง ๆ เทคนิคการนำเสนอ หรือแม้แต่การรับมือกับดราม่าที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ”