“Acer-ASUS” 2 ยักษ์พีซีโลก เพิ่มกำลังการผลิตในอินเดีย

acer asus อินเดีย

2 ยักษ์พีซีโลก “Acer-ASUS” เตรียมเพิ่มการผลิตในอินเดีย หลังรัฐบาลคุมเข้มการนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อผลักดันนโยบาย “Make in India” ยกระดับประเทศเป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า 2 ผู้ผลิตและจำหน่ายพีซี (PC) รายใหญ่ของโลกอย่าง “เอเซอร์” (Acer) และ “เอซูส” (ASUS) วางแผนที่จะเพิ่มการผลิตในอินเดียในปีนี้ เนื่องจากอินเดียพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศ และเริ่มใช้มาตรการควบคุมสินค้านำเข้าที่เข้มงวดมากขึ้น

นายเจสัน เฉิน (Jason Chen) ประธานของ Acer กล่าวว่า อินเดียกลายเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของบริษัททั้งในแง่ของยอดขายและจำนวนการจัดส่งรองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเร่งยอดขายในส่วนของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กสำหรับคอนซูเมอร์ในอินเดียในปีนี้

ทั้งนี้ Acer กำลังเจรจากับซัพพลายเออร์ด้านการผลิตในอินเดีย เช่นเดียวกับซัพพลายเออร์รายอื่น ๆ ในไต้หวัน เพื่อเพิ่มการผลิตในประเทศ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอินเดีย

“ความร่วมมือของเรากับซัพพลายเออร์ในอินเดียที่เริ่มตั้งแต่ปี 2566 กำลังดำเนินไปด้วยดี รวมถึงตลาดในอินเดียยังเติบโตอย่างรวดเร็วจนไม่อาจละเลยศักยภาพของตลาดได้”

นายแซมสัน หู (Samson Hu) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของ Asustek Computer หรือ ASUS กล่าวกับสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียว่า บริษัทกำลังทำงานเชิงรุกกับซัพพลายเออร์ เพื่อตอบสนองต่อแรงผลักดันของรัฐบาลอินเดียที่ต้องการให้มีการผลิตในท้องถิ่นมากขึ้นในระยะยาว

ADVERTISMENT

“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเราส่วนใหญ่ประกอบขั้นสุดท้ายในอินเดีย แต่เรากำลังวางแผนที่จะผลิตส่วนประกอบอื่น ๆ ในประเทศด้วย”

นายแซมสันกล่าวด้วยว่า ASUS ได้สร้างแบรนด์โน้ตบุ๊กสำหรับคอนซูเมอร์ในอินเดียในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป อินเดียจะกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่ ASUS ให้ความสำคัญในการขยายธุรกิจเกี่ยวกับโน้ตบุ๊กเชิงพาณิชย์

ADVERTISMENT

โดยปัจจัยที่มีผลต่อแผนการดำเนินงานในอินเดียของทั้งสองแบรนด์ มาจากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีหลายชนิดเมื่อเดือน ส.ค. 2566 ซึ่งมีผลบังคับทันที และต้องมีใบอนุญาตสำหรับการนำเข้าเสมอ เช่น โน้ตบุ๊ก แท็บเลต ออลอินวันพีซี และเซิร์ฟเวอร์

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะสนับสนุนนโยบาย “Make In India” ของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของรัฐบาลอินเดียเพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หันมาตั้งฐานการผลิตสินค้าในประเทศอินเดีย และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับสินค้าที่ผลิตในอินเดียให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก

การใช้มาตรการดังกล่าวอย่างกะทันหัน ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ส่งผลให้รัฐบาลต้องยอมประนีประนอม จากที่จะต้องมีใบอนุญาตสำหรับการนำเข้า รัฐบาลเริ่มกำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ใช้ระบบการจัดการการนำเข้าแบบใหม่ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 แทน

การผลักดันของอินเดียเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยี เกิดขึ้นในขณะที่จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตของโลกกำลังต่อสู้ในสงครามการค้ากับสหรัฐ มีการกระจายฐานการผลิตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เช่น สมาร์ทวอตช์ ลำโพงอัจฉริยะ และเซิร์ฟเวอร์ โดยประเทศที่ได้ประโยชน์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม และไทย ส่วนมาเลเซียกำลังฟื้นตัวในฐานะศูนย์กลางการประกอบและทดสอบชิป

อย่างไรก็ตาม นโยบายการนำเข้าของปี 2566 ไม่ใช่ความพยายามในการส่งเสริมการผลิตเทคโนโลยีในประเทศครั้งแรกของอินเดีย เนื่องจากเมื่อ 3 ปีก่อน รัฐบาลได้เปิดตัวโปรแกรม Production-Linked Incentive (PLI) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน เช่น แอปเปิล (Apple) และซัมซุง (Samsung) ผลิตสินค้าในโรงงานที่ตั้งในประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อแลกกับรางวัลจูงใจ

และในเดือน พ.ค. 2566 รัฐบาลได้เปิดตัวโปรแกรม PLI 2.0 โดยขยายขอบเขตไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น โน้ตบุ๊กและแท็บเลต ซึ่งมีบริษัทที่เข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าวทั้งหมด 27 รายจากทั้งหมด 40 ราย เช่น HP, Dell, Lenovo, Acer และ ASUS เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียยังรายงานส่วนแบ่งตลาดพีซีในอินเดียของแต่ละแบรนด์ประจำไตรมาส 3 ของปี 2566 โดยอ้างอิงข้อมูลจาก IDC บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีไว้ดังนี้

1. HP มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 29.4% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 23.9%

2. Lenovo มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 17.0% ลดลงจากปี 2565 ที่ 21.3%

3. Dell มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14.6% ลดลงจากปี 2565 ที่ 16.0%

4. ASUS มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 12.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 9.9%

5. Acer มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 11.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 10.9%

6. แบรนด์อื่น ๆ รวมกันมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14.9% ลดลงจากปี 2565 ที่ 18.0%