“ก่อกิจ” พาวิ่งสู่ “ดิจิทัล” 137 ปีไปรษณีย์ไทยกับภารกิจใหม่

นับเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ คนแรกของ “ไปรษณีย์ไทย” ที่ไม่ได้มาจากลูกหม้อในองค์กร สำหรับ “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 4 มี.ค. 2563 หลังจากนั่งเป็น รองเลขาธิการ กสทช. ด้านโทรคมนาคม มานาน 7 ปี “ประชาชาติธุรกิจ” พาเปิดวิสัยทัศน์และแนวคิดของซีอีโอใหม่ ในการพาองค์กรเก่าแก่ที่กำลังจะครบรอบ 137 ปี ในปีนี้

Q : เป็นคนนอกคนแรกท้าทายมาก

ครั้งนี้ไม่มีคนในสมัครเลย ก็ถือเป็นโอกาสให้นำไอเดียใหม่ ๆ เข้ามาในองค์กร ซึ่งบนความเปลี่ยนแปลงของทั้งโลกทุกคนก็ต้องปรับตัว เราก็ต้องปรับ4 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของเศรษฐกิจ ขณะที่ตอนทำงาน กสทช. สามารถใช้อำนาจได้เบ็ดเสร็จ แต่พอมาที่นี่ก็มีข้อจำกัด กระบวนการเดินอาจจะใช้เวลานานกว่า ขณะที่โลกดิจิทัลทุกอย่างต้องปราดเปรียว แต่โชคดีที่คนที่นี่ใส่ใจ ทุ่มเท ใจสู้มาก ก็ต้องค่อย ๆ ปรับกัน เพราะเราแบกความคาดหวังของสังคมที่มีต่อไปรษณีย์ แบกงานขององค์กรที่มีอายุยาวนานที่สุดที่หนึ่งของประเทศ ก็ต้องรักษา legacy เดิม และเปิดสู่รายได้ใหม่ ๆ

Q : จะขยายธุรกิจใหม่เกี่ยวกับอีเมล์

เป็นการต่อยอดจุดแข็งเดิม และเป็นไปตามอนุสัญญาข้อที่ 37 ของ UPU สหภาพไปรษณีย์สากล ที่ให้ไปรษณีย์แต่ละประเทศเป็น account credit email ระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่จะทำจะเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ธุรกิจและประชาชน โดยให้ไปรษณีย์ไทยเป็นผู้ verify อีเมล์, เอกสารสำคัญของภาครัฐและภาคธุรกิจ อย่าง invoice ใบอนุญาตต่าง ๆ เพื่อให้ผู้รับมั่นใจว่าเอกสารที่ได้รับถูกต้อง ใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ตามกฎหมาย และผู้ส่งก็มั่นใจได้ว่าเอกสารส่งถึงจริง ๆ เพราะบัญชีอีเมล์และโซเชียลมีเดีย ทำปลอมได้หมด

ปัจจุบันเอกสารสำคัญนี้จะต้องส่งเป็นกระดาษและใช้บริการไปรษณีย์ตอบรับเพื่อใช้เป็นหลักฐาน ก็จะเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลได้ และใช้เคาน์เตอร์บริการของเราคัดสำเนา-ขอรับใบอนุญาตบางอย่างที่สำคัญได้ ซึ่งบริการแบบนี้ในอังกฤษและเยอรมนีเริ่มดำเนินการแล้ว และเป็นแนวโน้มที่บริษัทวิจัยชั้นนำของเยอรมนีอย่าง Roland Berger คาดไว้เป็นการเอาความเป็นไปรษณีย์กลับมาสู่ไปรษณีย์ไทยในโลกดิจิทัล

Q : โลจิสติกส์จะไม่สู้แล้ว

ยังสู้อยู่ ไปรษณีย์ยืนอยู่ในจุดที่ต้องให้บริการด้วยคุณภาพในราคาที่เหมาะสมหนึ่งในตัวชี้วัดของผม คือ นอกจากการสร้างรายได้แล้ว ยังต้องผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างบริษัทแม่ คือ ไปรษณีย์ไทย กับลูกอย่าง ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น ที่จะเข้ามารับหน้าที่ในการขนส่งโปรเจ็กต์ใหญ่ที่บริษัทแม่ดีลมา อย่างตอนนี้คือการขนส่งน้ำยาล้างไต ขนส่งหน้ากากอนามัยให้กับ รพ.ต่าง ๆ และจะมีอีกหลายงานด้านสาธารณสุข

ส่วนบริษัทแม่จะเป็นคนขนส่งไปให้ถึงมือประชาชนทั่วไป อย่างโครงการส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน เหมาจ่าย 50 บาทต่อกล่อง ช่วยลดความแออัดใน รพ.ที่จะผลักดันอีก คือ แพลตฟอร์ม “ระวางว่าง” เพื่อให้เรามีบทบาท ให้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างคนขับรถขนส่งต่าง ๆมีโอกาสสร้างรายได้จากสิ่งที่มีอยู่ และไปรษณีย์เองก็ได้ประโยชน์ด้วย คือเป็นตัวกลางระหว่างคนที่อยากขนของกับคนที่มีระวางสินค้าในรถว่างอยู่โดยเปิดแบบ “ฟรีเมี่ยม” คนทั่วไปใช้ได้ฟรี แต่ถ้าจ่ายค่าสมาชิกจะมีบริการ add-on ให้ แต่ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนเพื่อป้องกันการขนส่งที่ผิดกฎหมาย

Q : แพลตฟอร์มตัวกลางมีเยอะมาก

เป็นอีกทางเลือก ไปรษณีย์ไทยเองก็มีระวางว่างอยู่ การทำแพลตฟอร์มใหม่ก็ต้องทำใจว่า ต้องยอมขาดทุนเพื่อให้เกิด ecosystem และยิ่งเป็นการขาดทุนเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนได้มีงานทำ แต่เราก็ได้บริหารระวางหรืออาจจะซื้อรถใหม่น้อยลง ก็น่าจะทำ

Q : ลงทุนเพิ่มศักยภาพรับอีคอมเมิร์ซ

เป็นโครงการต่อเนื่องคือการลงทุนติดตั้งเครื่องคัดแยกให้ครบทุกศูนย์ ก็คงทยอยทำ เพราะในภาวะนี้ต้องคำนึงถึงกระแสเงินสดให้มาก โลกหลังโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ฉะนั้น บริษัทก็ต้องไม่เป็นภาระให้กระทรวงการคลัง คู่ไปกับการให้บริการประชาชน

วันเวลาแบบนี้ต้องคิดถึงเรื่องกำไรของตัวเองให้น้อยลง อย่างการเดินหน้ารับขนส่งผลไม้ให้กับเกษตรกร แม้จะรู้ว่าความเสี่ยงสูง เพราะผลไม้จะคายความชื้น ทำให้หีบห่อเปลี่ยนรูปได้ คือต้องทำใจไว้เลยว่า โอกาสถูก complain สูง แต่ต้องทำ แม้ขนส่งหลายเจ้าในช่วงก่อนนี้จะงดไม่รับส่งผลไม้สดก็ตาม ก็ให้นโยบายไปว่า ถ้าลูกค้าขอเคลมประกันก็ให้ทันที อย่าอิดออด ทุกวันนี้เสียง complain ยังมีอยู่ แต่เราก็จะปรับปรุงขึ้นไปทุก ๆ วัน

Q : จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มขึ้น

ที่เริ่มนำร่องแล้ว คือ ติดเซ็นเซอร์ IOT ในตู้ไปรษณีย์พันกว่าตู้ในเขตหลักสี่ กทม. ร่วมมือกับ CAT เพื่อมอนิเตอร์ว่ามีจดหมายให้ต้องไปไขตู้หรือไม่ เป็นการทำให้ 3 บาทค่าแสตมป์ของผู้ส่งได้รับบริการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ หย่อนตู้ไปมั่นใจมีคนมาไขตู้เก็บไปแน่ ๆ ฝั่งเราเองก็ช่วยประหยัดเวลาทั้งคนทั้งน้ำมัน ตู้ไหนไม่มีจดหมายก็ไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกไป ถ้าได้ผลดีก็จะติดตั้งให้ครบทั่วประเทศ


ทิศทางของนวัตกรรมที่จะนำมาใช้และบริการใหม่ ๆ จะวิ่งไปที่ดิจิทัลทั้งหมด ทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพบริการและเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุน