ชิปป์สไมล์ จิ๊กซอว์สบายเทคฯ เติมบริการพลิกโฉมจุดสะดวกส่ง

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาตลาดอีคอมเมิร์ซโตขึ้นแบบก้าวกระโดด จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ประเมินว่า มูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยปี 2564 ที่ผ่านมามีมูลค่าตลาดสูงถึง 4.01 ล้านล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 6.11% จากปี 2563 และคาดว่าปี 2565 จะยังเติบโตต่อเนื่อง ผลักดันให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ได้รับอานิสงส์และแตกแขนงไปอีกมาก

ที่เห็นชัดก็คือ ธุรกิจขนส่ง (โลจิสติกส์) ที่ไม่ได้มีเฉพาะแค่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ แต่แตกแขนงไปยังธุรกิจรวบรวมการขนส่งหรือจุดรับพัสดุ ซึ่งที่ผ่านมาขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในรูปแบบของการเป็นตัวแทนรับพัสดุของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง และไม่ผูกติดกับแบรนด์ใด เช่น ร้านชิปป์สไมล์ของบริษัท เอ.ที.พี.เฟรนด์ เซอร์วิส จำกัด ในเครือสบาย เทคโนโลยี

แม้จะมีสาขานับพันแห่งแล้ว แต่ดูเหมือน “ชิปป์สไมล์” จะได้รับความสนใจในโลกโซเชียล เมื่อ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ประกาศยุติการให้บริการผ่านสาขาของ “ชิปป์สไมล์”

“ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สบาย เทคโนโลยี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท เอ.ที.พี.เฟรนด์ เซอร์วิส เจ้าของร้านชิปป์สไมล์ เพราะไม่ได้มองแค่การเปิดหน้าร้านสำหรับให้บริการรับ-ส่งพัสดุเท่านั้น

แต่มองไปถึงการนำมาต่อยอดธุรกิจในเครือสบาย เทคโนโลยี และขยายไปยังบริการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจตั้งแต่การเป็นจุดชำระค่าสินค้าและบริการ จ่ายค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าภาษี หรือเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ เพื่อให้บริการฝากและถอนเงิน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการเติมบริการด้านอื่น ๆ ขณะที่บริการรวบรวมพัสดุที่ทำอยู่เดิมก็เปิดกว้างสำหรับบริษัทขนส่งทุกราย

“ตั้งแต่แรกที่เข้ามาซื้อหุ้นบริษัทนี้ก็ชัดเจนว่าเราจะเปิดกว้างสำหรับบริษัทขนส่งทุกราย แม้แฟลช เอ็กซ์เพรสจะหยุดให้บริการไป เราก็ยังทำงานร่วมกับบริษัทขนส่งอีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็นออเร้นจ์แบรนด์ลูกเคอรี่, นินจาแวน, ดีเอชแอล และอื่น ๆ”

ขณะเดียวกัน ยังเป็นตัวแทนหาร้านค้าให้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง “ลาซาด้า” และเร็ว ๆ นี้จะประกาศความร่วมมือกับช้อปปี้ด้วยอีกราย เพื่อเป็นตัวช่วยพ่อค้าแม่ค้าในต่างจังหวัดให้ขายของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ง่ายขึ้น

“พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออฟไลน์เก่ง ๆ อาจออนไลน์ทำไม่เป็น เราก็ทำให้ เอากล้องมาช่วยถ่ายรูปให้ส่งเขาแล้วส่งขึ้นลาซาด้าให้ เมื่อเขาขายของได้ก็มาส่งสินค้าที่เรา เปรียบเหมือนเราเป็นคนเพาะต้นกล้า หาพ่อค้าแม่ค้าให้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ

เพราะเขาต้องการหาร้านขึ้นไปขายบนอีคอมเมิร์ซอยู่แล้ว เราก็เป็นคนหาให้ ทั้งมีโอกาสได้ยอดการส่งพัสดุเพิ่มจากการขยายฐานไปยังพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ เราทีมขายกว่า 1,000 คน ที่เดิมขายตู้เติมเงินสบายพลัสก็จะมาช่วยหาลูกค้าใหม่ ๆ ให้ชิปป์สไมล์ด้วย”

นอกจากนี้ สบาย เทคโนโลยียังเข้าไปลงทุนในบริษัท The Letter Post, บริษัท พอยท์ เอ็กซ์เพรส จำกัด และ Payspost เพื่อขยายธุรกิจรับ-ส่งพัสดุในชื่อ Plus Express เพิ่มเติมด้วย

ขณะที่สาขาของชิปป์สไมล์ปัจจุบันมีมากกว่า 5,000 แห่ง แม้กว่าครึ่งจะอยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล แต่ “ชูเกียรติ” มองว่าในตลาดต่างจังหวัดมีโอกาสขยายได้อีกมาก

“ผมยังคาดว่าถ้าในสิ้นปีมีจุดสะดวกส่งถึง 10,000 จุด เราจะเปลี่ยนมาเป็นที่รับสมัครงานด้วยดีไหม แค่บอกมาว่ามีความชำนาญด้านนี้ อยากได้งานแบบนี้ ผมอยากช่วยรากหญ้าที่เขาอาจจะสมัครงานบนเว็บหางานไม่เป็น ก็มาสมัครที่นี่ แล้วเราฟีดเข้าสู่ระบบ เช่น ร้านอาหารในศูนย์อาหารของโลตัส ต้องการรับคน เราก็มีคนให้ กดในระบบเพื่อแมตชิ่งกัน ความตั้งใจคืออยากสร้างงาน”