ศึกโลจิสติกส์ร้อนทะลุเดือด ชิปป์สไมล์ เปิดตัว ORANGE Express

ชิปสไมล์

การแข่งขันในสมรภูมิธุรกิจโลจิสติกส์ดุเดือดตั้งแต่ต้นปี ไม่เฉพาะการแข่งขันด้าน “ราคา” ระหว่างยักษ์ขนส่งเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงการช่วงชิงเครือข่ายจุดรับสินค้าที่ทำไปทำมาดูท่าจะร้อนแรงไม่แพ้กัน

พลันเมื่อ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ประกาศยุติการให้บริการผ่านจุดบริการของ “ชิปป์สไมล์” (ShipSmile) ซึ่งมีสาขากว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ โดยประกาศผ่านเฟซบุ๊กเพจ Flash Express เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2565 ระบุว่า เนื่องจากพิจารณาในหลายปัจจัยแล้ว บริษัท Flash Express และ Shipsmile ไม่สามารถหาข้อตกลงที่เหมาะสมร่วมกันได้ จึงต้องขอหยุดให้บริการรับพัสดุ Shipsmile Service ทุกสาขา และลูกค้ายังใช้บริการส่งพัสดุกับ Flash Express ได้ทั้งช่องทาง

อันที่จริง “แฟลช เอ็กซ์เพรส” กับ “ชิปป์สไมล์” เคยเป็นพันธมิตรสนิทแนบแน่นกันมาก่อน ในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัท เอ.ที.พี. เฟรนด์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ไปรษณีย์เอกชน “ชิปป์สไมล์” ผ่านบริษัท แฟลช มันนี่

ก่อนที่จะขายหุ้นออกไปในภายหลัง ซึ่งการแยกจากกันในแง่ธุรกิจ ถ้าร่วมกันได้ก็แยกกันได้ ถือเป็นเรื่องปกติ

แต่ไม่ปกติเมื่อเฟซบุ๊กเพจ Shipsmileservices สำนักงานใหญ่ออกมาระบุว่า จากประกาศของแฟลช เอ็กซ์เพรส เมื่อ 20 ม.ค. 65 เรื่องการจะหยุดให้บริการขนส่งพัสดุผ่านจุดให้บริการรับพัสดุชิปป์สไมล์นั้น ทางผู้บริหารชิปป์สไมล์ยังไม่ทราบถึงระยะเวลา และสาเหตุของการหยุดให้บริการและอยู่ระหว่างการติดต่อสอบถามไปยังแฟลช เอ็กซ์เพรส แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. เฟซบุ๊กเพจ Shipsmileservices สำนักงานใหญ่ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้ส่งจดหมายสอบถามไปยังบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด อย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่ 21 ม.ค. และฉบับที่ 2 เมื่อ 24 ม.ค. โดยเจ้าหน้าที่ของแฟลชฯตอบว่าจะตอบกลับทันที หลังคุยกันภายในแล้ว

ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา “แฟลช เอ็กซ์เพรส” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจแจ้งว่า การเลิกสัญญาการให้บริการโดยชอบตามข้อสัญญาจะมีผลให้บริการรับพัสดุที่ ชิปป์สไมล์ ได้ถึงวันที่ 24 ก.พ.2565 ขณะที่ “ชิปป์สไมล์” ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเพจ เมื่อ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาย้ำว่า “ชิปป์สไมล์” ไม่ได้รับการติดต่อจากผู้บริหาร “แฟลช เอ็กซ์เพรส” แต่อย่างใด

และหากลูกค้าได้รับผลกระทบจากการจะหยุดให้บริการดังกล่าว “ชิปป์สไมล์” จะเปิดกระทู้ให้ลงทะเบียนสาขาที่ได้รับผลกระทบ และยื่นหนังสือต่อแฟลช เอ็กซ์เพรส, สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้งหมด เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของลูกค้า และผู้ใช้บริการรายย่อยทั้งหมด

เป็นการตอบโต้กันไปมาผ่านสื่อโซเชียล โดยฝ่ายหนึ่งแจ้งยุติบริการ และยืนยันว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบ ขณะที่อีกฝ่ายยืนยันว่าไม่เคยได้รับการชี้แจงถึงสาเหตุแห่งการบอกเลิก แม้จะส่งจดหมายสอบถามไปแล้วถึง 3 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนเว็บไซต์ “ชิปป์สไมล์เซอร์วิส” ระบุว่า บริษัท เอ.ที.พี. เฟรนด์ เซอร์วิส จำกัด ดำเนินกิจการร้านสารพัดงานบริการ ภายใต้แบรนด์ “ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส” มุ่งเน้นให้เป็นร้านสะดวกใจกลางชุมชนแบบออฟไลน์เป็นศูนย์รวบรวมขนส่งด่วนชั้นนำในไทยไว้ที่เดียว เช่น แฟลช เอ็กซเพรส นินจาแวน, ดีเอชแอล เมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งแนะนำขนส่งน้องใหม่ “ORANGE Express” powered by Kerry Express น้องส้มส่งไว สบายกระเป๋า (ราคาเริ่มต้น 19 บาท น้ำหนัก 1-3 กิโลกรัม ขนาดสูงสุด 60 ซม.)

ปัจจุบัน เอ.ที.พี. เฟรนด์ เซอร์วิส มีบริษัท ทริปเปิลไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 57% และบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ถืออยู่ 43%

ด้านนายวราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริการ Orange Express เป็นบริการขนส่งพัสดุที่รับรองโดยเคอรี่

“กลุ่มสบายฯเป็นลีดในการแนะนำโปรดักต์นี้ให้กับตลาด ถามว่าต่างจากบริการเคอรี่ยังไง คงต้องบอกว่าเหมือนเบียร์ที่มีหลายตัว จับลูกค้าคนละกลุ่ม ซึ่งการที่เราเข้าไปเป็นพันธมิตรกับกลุุ่มไปรษณีย์อนุญาต โดยความตั้งใจ คือ ต้องการเข้าไปใกล้ชุมชนมากขึ้น ถือเป็นการขยายพื้นที่บริการให้ลูกค้าสะดวกขึ้น อีกส่วนเป็นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน และมั่นใจว่ากลุ่มร้านส่งพัสดุเอกชนส่วนใหญ่จะมีคนเข้ามาส่งพัสดุอยู่แล้ว ซึ่งการตัดสินใจใช้บริการอยู่ที่ลูกค้าเลือก”