จีนปิดนำเข้าทุเรียนไทย 3 วันหลังพบโควิด ผู้ว่าฯจันทบุรีสั่งล้งไหนระบาดปิด 3 วัน

ทุเรียน

ด่านโมฮานปิดนำเข้าทุเรียนไทย 3 วันหลังพบเชื้อโควิด-19 กล่องบรรจุภัณฑ์ ผวจ.จันทบุรีออกคำสั่งแนวปฏิบัติโรงคัดบรรจุเข้ม หวั่นทุเรียนส่งออกกว่า 700,000 ตันกระทบหนัก ถ้าพบล้งไหนแพร่ระบาดหนักให้สั่งปิด 3 วัน

วันที่ 14 เมษายน 2565 กรณีที่ทางการจีนสั่งระงับการนำเข้าทุเรียนไทยผ่านด่านโม่ฮานเป็นเวลา 3 วันระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน เนื่องจากตรวจพบเชื้อโควิด-19 บนรถบรรทุกและบรรจุภัณฑ์ทุเรียนเพื่อให้ไทยปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิต เพราะตรวจเจอเชื้อโควิด-19

ซึ่งส่งผลต่อราคาทุเรียนหมอนทองที่ดิ่งลงจากกิโลกรัมละ 150 บาทในวันที่ 9 เมษายน 2565 เหลือ 105-120 บาท ในวันที่ 10 เมษายน 2565 และวันที่ 11 เมษายน 2565 วันแรกที่มีข่าวปิดห้ามนำเข้าทุเรียนไทย มีการโพสต์ราคารับซื้อทุเรียนเช้าเกรด AB ราคา 70 บาท และเกรด C ราคา 40 บาท เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายต้องลดภาระการขาดทุนจากทุเรียนที่ขนส่งไปแล้วเสียหายเนื่องจากด่านปิด

ตรวจทุเรียน

และมีบางกระแสข่าวเห็นว่าเป็นการฉวยโอกาสปั่นราคาทุเรียน หรือทุบราคาทุเรียน ทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มเกษตรกรชาวสวนอย่างรุนแรงที่ต้องขายทุเรียนในราคาต่ำที่คาดไม่ถึง และเตรียมการรวมกลุ่มกันแขวนทุเรียนไว้บนต้น 7-10 วันเพื่อรอราคาสูงขึ้น

ทำให้นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี มีการเรียกประชุมด่วนทั้งในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและองค์กรภาคเอกชน รวมทั้งนายสัตว์แพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเพื่อร่วมแก้ปัญหาเร่งด่วน หาทางยกระดับมาตรการ GMP+และยกร่างมาตรการปรับปรุงแก้ไขต่อทางการจีนต่อไป

ทั้งนี้นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุเรียนภาคตะวันออกยังส่งไปจีนได้ประมาณ 25,000 ตัน หรือคิดเป็น 4% ของผลผลิตทั้งหมด 720,000 ตัน ยังเหลือทุเรียนอีกจำนวนมากในช่วงปลายเดือนเมษายนและพฤษภาคม จึงต้องพยายามอย่าให้จีนปิดด่านอีกการควบคุมโควิด-19 ไม่ให้ปนเปื้อนไปกับผลผลิต บรรจุภัณฑ์และรถขนส่งเป็นเรื่องที่ยากมาก จำนวนโรงคัดบรรจุทุเรียน 350 โรง มีทั้งที่เข้มงวดในมาตรการ GMP+และที่หย่อนยาน

แต่เมื่อจีนตรวจพบแล้วสั่งระงับทุเรียนไทยก็ตายหมู่กันทั้งหมด ในสถานการณ์ด่านโมฮ่านปิดอยู่ ล้งเปลี่ยนเส้นทางไปเรือและเครื่องบินมากขึ้น ส่วนตู้บกส่วนใหญ่จอดเสียบไฟทำความเย็นรอด่านเปิด ในพื้นที่ภาคตะวันออกช่วงที่ประกาศปิดด่านล้ง จ.จันทบุรียังคงเปิดรับซื้ออย่างคับคั่ง เมื่อวาน 13 เมษายน ทีม สวพ.6 (ทีมเล็บเหยี่ยว) ได้ตรวจสอบความอ่อนแก่ทุเรียนเกือบ 100 ล้ง

“สวพ.6 หน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับการส่งออกผลไม้ให้เป็นไปตามข้อตกลงทางพิธีสาร ปัญหาการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นเพราะโรงคัดบรรจุไม่ปฎิบัติตามมาตรการ GMP+อย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่มีกฎหมายให้อำนาจทำได้แค่ขอความร่วมมือ” ผอ.ชลธีกล่าว

ทางด้านนายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย (TDA) กล่าว่าสถานการณ์การขนส่งนำเข้าผลไม้จากไทย ขณะนี้ข้อมูลล่าสุดวันที่ 13 เมษายน 2565 ทางบก 2 ด่าน ด่านบ่อเต็น โมฮ่านเปิดแต่งดรับทุเรียนไทย 3 วัน แต่ตลาดปลายทางเซี่ยงไฮ้ล๊อกดาว์น ด่านโหยวอี้กวน เปิด แต่ระบายสินค้าได้เพียง 20 คัน

ตลาดปลายทางกวางโจวตรวจเข้ม ทางเครื่องบิน 2 ตลาด เซี่ยงไฮ้ ต้องหลีกเลี่ยง ตลาดเสินเจิ่นเปา เปิด 25 ตันต่อเที่ยว 5 เที่ยวต่อสัปดาห์ ตลาดรถไฟ ตงซินปิด ผิงเสียง งดรับผลไม้ ทางเรือ มี 4 ท่าเรือ คือ เซี่ยงไฮ้ ปิด หนานชา เปิดมีเที่ยวเรือ 1-3 เที่ยว เสอโชว เปิด มีเที่ยวเรือ 1-4 เที่ยว ซินโจว เปิด มีเที่ยวเรือ 1 เที่ยว

“สถานการณ์ทางบกลำบากมาก ต้องปรับใช้ทางเรือ หรือถ้าจองทางเครื่องบินได้ดีกว่าทางเรือคาดว่าจะมีการตวจมาตรการ ZERO COVID เช่นกัน ซึ่งตอนนี้ไทยทำมาตรการที่เข้มงวดรัดกุมขึ้น”

ทางด้านนายภานุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวเพิ่มเติมกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่าข่าวการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทางการจีนยังไม่ได้แจ้งชัดเจนว่าตรวจพบจากแหล่งใดกล่องบรรจุ สติกเกอร์ติดที่ขั้ว ทำให้ยากที่จะตรวจสอบและแก้ไขให้ตรงจุด ที่ต้นเหตุ ภาพรวมของทุกล้งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ-ปนเปื้อน ถ้าเป็นไปได้ต้องคุยหารือกับทางจีน เพื่อหาน้ำยาฆ่าเชื้อ เครื่องมือตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพที่จีนยอมรับหรือใช้อยู่

ตอนนี้ไทยเตรียมจะประกาศโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น ในขณะที่จีนเข้มงวด ผู้ประกอบการต้องการให้มาตรการวิธีการปฏิบัติที่จีนต้องการชัดเจน ด่านบ่อเต็นถ้าขนส่งไม่ได้ถือว่าจบ หากขนส่งไปทางเรือกันมากขึ้น จีนตรวจเข้มอีกท่าเรือก็ต้องปิดเหมือนทางบก ส่วนทางเครื่องบินต้นทุนสูงมากขาดทุน

ทั้งนี้นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดจันทบุรี ได้ออกคำสั่งจังหวัดจันทบุรี ที่ 1208/2565 เรื่อง มาตรการควบคุมและตรวจสอบการดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานประกอบกิจการค้าส่งผลไม้/โรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ลงวันที่ 13 เมษายน 2565 ให้ถือปฏิบัติแล้ว โดยให้ผู้ประกอบการต้องตรวจ ATK แรงงานทุกคน รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่พักอาศัยอยู่ร่วมกันในสถานประกอบการ และต้องสุ่มตรวจหาเชื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ทุก 7 วันให้กับแรงงานทุกคน

พร้อมทั้งมอบหมายให้ศูนย์ควบคุมโรคระดับจังหวัด อำเภอ และเทศบาลเมืองสุ่มตรวจสถานประกอบการค้าผลไม้ และสุ่มตรวจหาเชื้อในกลุ่มแรงงาน และพนักงานที่เกี่ยวข้องในสถาประกอบการ

ทั้งนี้หากพบการแพร่ระบาดในสถานประกอบการและมีแนวโน้มมากขึ้น ให้ดำเนินการสั่งปิดสถานประกอบการนั้นไม่เกิน 3 วัน แต่หากมีความจำเป็นต้องปิดมากกว่าระยะเวลาที่กำหนดให้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเสนอให้คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดพิจารณาสั่งปิดหรือดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป