ภูเก็ตแจ้งผลตรวจกลุ่มเสี่ยงสูง โรคฝีดาษลิง เป็นลบทั้ง 19 ราย

ฝีดาษลิง ฝีดาษวานร

สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต แจ้งผลตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงโรคฝีดาษลิงเป็นลบทั้ง 19 ราย เผยโรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ รักษาตามอาการ

วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยถึงความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด กรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกในพื้นที่หวัดภูเก็ต ว่าผลจากการเก็บตัวอย่างผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (High-low risk contact) 19 ราย ออกมาเป็นลบทั้ง 19 ราย แต่ได้สั่งการให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะโทรศัพท์สอบถามอาการทุก 7 วัน 14 วัน และ 21 วัน และเมื่อครบ 21 วันแล้ว จะมีการเก็บตัวอย่างเพิ่มเพื่อส่งตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง

นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล
นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล

ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานร เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ขอความร่วมมือประชาชนอย่าตื่นตระหนกและตื่นกลัวโรคฝีดาษวานรมากจนเกินไป เนื่องจากโรคฝีดาษวานรติดต่อกันได้ยากกว่าโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับผู้ที่มีอาการตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว และการสัมผัสเมื่อมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้ การป้องกันฝีดาษวานรที่ประชาชนทำได้และเป็นแนวทางป้องกัน คือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก รวมทั้งระวังสัตว์กัดหรือข่วน และไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษวานรแบบแนบชิด

ส่วนด้านการรักษาพยาบาล ขณะนี้โรคฝีดาษวานรไม่มียารักษาเฉพาะ รักษาตามอาการ และส่วนใหญ่จะหายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมีห้องความดันลบ และได้สั่งการเน้นย้ำโรงพยาบาลทุกแห่งและคลินิกเอกชน เฝ้าระวังผู้ที่มีไข้ ผื่นแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง ตามมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรอย่างเข้มข้น