ค่ายรถยนต์ดับฝัน “บอร์ดอีวี” หวั่นรถจีนกระทบการลงทุน

ที่ชาร์ตรถยนต์ไฟฟ้า
PHOTO : Gerd Altmann / Pixabay

ค่ายรถเห็นต่างบอร์ดอีวีกำหนดเป้าหมายรถยนต์ไฟฟ้าเว่อร์เชื่ออีก 4 ปีไม่น่าไปถึงล้านคัน ชี้นโยบายไม่ชัดเจน ย้ำปัญหาหลักคือปล่อยรถอีวีจีนทะลักเข้าไทยโดยไร้กำแพงภาษี ผู้ผลิตหลายยี่ห้อไม่กล้าลงทุน โอกาสสร้างไทยเป็นฮับริบหรี่ ห่วงโปรดักต์แชมเปี้ยนทั้งปิกอัพและอีโคคาร์กระทบ

จากมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 เรื่องส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน

และวางเป้าหมายอีก 4 ปีข้างหน้า หรือในปี 2568 ประเทศไทยจะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทสูงถึง 1.055 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์และรถปิกอัพ 4.02 แสนคัน รถจักรยานยนต์ 6.22 แสนคัน และรถบัสและรถบรรทุก 3.1 หมื่นคัน

ส่วนเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2568 จะทำให้ได้ถึง 1.051 ล้านคัน และหลังจากนั้นอีก 10 หรือในปี 2578 จะเพิ่มขึ้นเป็น 18,413 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์และรถปิกอัพ 8.625 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 9.33 ล้านคัน และรถบัสและรถบรรทุก 4.58 แสนคัน โดยมีตลาดรองรับทั้งในประเทศและส่งออก

พร้อมวางนโยบายการขับเคลื่อนด้วยมาตรการระยะเร่งด่วนและมาตรการระยะ 1-5 ปี ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท วางแผนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าและส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่และการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ค่ายรถมึนนโยบายไม่ชัดเจน

แหล่งข่าวระดับบริหารจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายของบอร์ดอีวียังไม่เห็นความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม คงเป็นเพียงการวางเป้าหมายและขอความร่วมมือ ซึ่งถ้าจะผลักดันกันจริงจัง คงต้องออกประกาศเป็นกฎหมายเพื่อการขับเคลื่อนให้ไปถึงเป้า ซึ่งคงต้องรอดูรายละเอียดของบอร์ดอีวีอีกครั้งหนึ่ง

แหล่งข่าวระดับบริหารจากค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่รัฐบาลจะผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องดี และสอดรับกับเทรนด์ของโลกที่คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่เรื่องสำคัญรัฐบาลต้องไม่ลืม แม้ว่าจะผลักดันหรือส่งเสริมเพื่อให้ประเทศไทยเป็นฮับผลิตรถยนต์อีวีในอนาคต ก็ต้องไม่ให้กระทบต่อการสนับสนุนและส่งเสริมอุตฯ ที่ทำมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะโปรดักต์แชมเปี้ยนทั้งปิกอัพขนาด 1 ตัน และอีโคคาร์

“ต้องไม่ลืมว่า โปรดักต์ทั้งสองตัวนี้ สร้างงาน สร้างรายได้ ประสบความสำเร็จดูดเม็ดเงินเข้าประเทศมาแล้วจำนวนมาก การพยายามสร้างโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวใหม่ ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ถูก แต่ต้องระวังอย่าสร้างโดยการไปฆ่าโปรดักต์แชมเปี้ยนเก่า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย”

เลิกนำเข้าหวั่นฐานผลิตไม่เกิด

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวีอย่างแท้จริง รัฐบาลควรต้องหาวิธีกำหนดมาตรการอุดช่องโหว่การนำเข้ารถยนต์อีวีจากจีน ซึ่งได้สิทธิพิเศษเขตการค้าเสรีไทย-จีน เสียภาษีในอัตรา 0%

“ตอนนี้ใครก็สามารถนำเข้ามาขายได้ เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ไม่มีใครกล้าลงทุน”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัญหาประเทศไทยที่รถอีวียังไม่เกิด ไม่ใช่เพราะมีอีโคคาร์หรือรถยนต์ไฮบริดเป็นตัวปิดกั้น แต่ต้องยอมรับว่าที่รถอีวียังไม่เกิดนั้นเป็นเพราะตัวของมันเอง โครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกพัก สร้างสังคมอีวีกันไปเรื่อย ๆ ถึงเวลาถ้ามันดีจริงผู้บริโภคก็ต้องเลือกใช้แน่นอน”

สกัดด้วยส่วนต่างภาษี 10%

แหล่งข่าวยังกล่าวต่อไปว่า ทางออกของรัฐบาลตอนนี้หากต้องการให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวีก็ต้องมีมาตรการสกัดกั้นการนำเข้ารถอีวีจากจีน และต้องทำให้รถอีวีที่ผลิตในประเทศมีส่วนต่างด้านภาษีอย่างน้อย 10% ถึงจะพอคุ้มทุนกับการผลิตในประเทศ แต่วันนี้ยังทำไม่ได้

หวั่นลอยแพ “อีโคคาร์”

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีกระแสหนาหูว่ารัฐบาลอยากให้รถอีวีเกิด ด้วยการทำให้แกปรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในโดยเฉพาะอีโคคาร์ไม่ห่างกันมาก โดยจะปรับราคาเพิ่มขึ้นจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งหากแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจริงเท่ากับเป็นการทำลายอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ตายเร็วขึ้น ทั้งภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และแรงงาน

ที่สำคัญยังเป็นการบังคับให้คนไทยต้องซื้อรถแพงขึ้น ซึ่งตรงนี้อยากให้รัฐบาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วนควรปล่อยให้รถอีวีเกิดขึ้นโดยธรรมชาติน่าจะเหมาะสมที่สุด

เพิ่มแรงจูงใจด้วยภาษี

นายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ถือเป็นนโยบายที่ดี เพียงแต่หากรัฐต้องการให้เกิดการใช้งานที่หลากหลายและขยายไปในวงกว้างมากขึ้นนั้นควรจะต้องมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้กับผู้ใช้รถ รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ด้วย เหมือนในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน

“เอ็มจีมีภารกิจที่ต้องทำคือผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยเดินหน้าเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมยานยนต์โลกให้ได้ และเรามีแผนขยายโรงงานแบตเตอรี่เพิ่มเติม ขณะนี้เอ็มจีกำลังดำเนินการอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.เตรียมตัวผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 2.ร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีของโลก”

วอลโว่ลั่น 9 ปีขายรถอีวีทุกคัน

เช่นเดียวกับนายคริส เวลส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่กล่าวถึงความชัดเจนของวอลโว่ไทย ว่าในปี 2568 รถยนต์ที่จำหน่ายกว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าและภายในปี 2573 รถยนต์วอลโว่ที่จำหน่ายในประเทศไทยทุกรุ่นจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

แต่การที่วอลโว่ หรือค่ายรถยนต์หรือภาคเอกชนต่าง ๆ จะเดินไปสู่เป้าหมายในการผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้าได้การยอมรับและใช้งานแพร่หลายนั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนจากทางรัฐบาลด้วย ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย ๆ จริง ลำพังเอกชนเดินหน้าไปฝ่ายเดียวน่าจะทำให้โอกาสของรถยนต์ไฟฟ้าเกิดได้ค่อนข้างยาก


“จากนี้ไปเชื่อว่าจะมีค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ทยอยแนะนำรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดเพื่อเป็นตัวเลือกที่หลากหลายเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ปัจจุบันรถยนต์อีวีก็ยังคงเป็นข้อจำกัดสำหรับลูกค้าหรือผู้ที่ต้องการใช้ โดยเฉพาะความมั่นใจในการใช้งาน ทั้งอินฟราสตรักเจอร์ต่าง ๆ ที่จะมารองรับ ทำอย่างไรจึงสามารถให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจได้ และที่สำคัญนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐต้องชัดเจนด้วย”