ต่างชาติซื้อที่ดิน ตัวแบบอังกฤษ-ไทย

ที่ดิน
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

วาทกรรมกฎหมายขายชาติ ออกดอกออกผลแล้วค่ะ

ต้นฉบับกฎหมายที่ฝ่ายคัดค้านระบุว่าเป็นกฎหมายขายชาตินั้น เป็นร่างกฎกระทรวงที่มีการปรับปรุงจากกฎหมายปี 2545 เปิดให้คนต่างชาติซื้อที่ดิน 1 ไร่

เริ่มต้นเป็นการเสนอปรับปรุงกฎหมายที่เป็นงาน routine หากราบรื่นก็จะเป็นกฎหมายปี 2565

แต่ระหว่างทางถูกพัฒนาต่อยอดเป็นประเด็นทางการเมือง ในภาวะที่กำลังนับถอยหลังรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ใกล้หมดอายุ 4 ปี ถ้าไม่แพ้ภัยตัวเองด้วยการยุบสภาไปเสียก่อน อนาคตอันใกล้ไม่เกินพฤษภาคม 2566 ถึงยังไงก็ต้องเลือกตั้งใหม่

บวกกับไทยเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำเวทีเอเปค 2022 ปล่อยให้มีม็อบออกมาประท้วงเรื่องนี้คงเป็นภาพที่ไม่น่ารักในสายตาชาวโลก

ทางถอยจึงเป็นทางเลือกเดียวของรัฐบาลในขณะนี้ ด้วยการที่กระทรวงมหาดไทยประกาศถอนข้อเสนอออกจากวาระที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อังคาร 8 พฤศจิกายน 2565

อย่างไรก็ตาม สามารถเสนอกลับเข้ามาใหม่ภายใน 15 วัน หรือไม่เสนอกลับเข้ามาอีกภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ระหว่างนี้เกิดอะไรขึ้น สื่อมวลชนสายอสังหาริมทรัพย์ได้รับการแจ้งล่วงหน้าว่า ภายในกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ มีกำหนดแถลงข่าวเปิดขายโครงการโค-ตะ-ระหรูในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ชื่อโครงการเหมือนชื่อฟุตบอลทีมดัง “เชลซี” ทำเลตั้งอยู่ในย่าน Belgravia

ทราบเบื้องต้นว่าได้สิทธิเช่า 999 ปี หากนับอายุไขทุก 100 ปีเป็นหนึ่งชั่วโคตร โครงการอสังหาฯในสหราชอาณาจักรก็ให้สิทธิคนต่างชาติเช่าระยะยาวได้ถึง 10 ชั่วโคตร

กรณีนี้ หากนำมาเปรียบเทียบกับกฎหมายเช่าอสังหาฯ ในบ้านเรา กฎหมายเปิดช่องให้ต่างชาติเช่าระยะยาวมากสุดได้เพียง 30 ปี อย่างเก่งก็ต่อสัญญาได้อีก 30 ปี

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการวงการอสังหาฯเมืองไทยเสนอแนะต่อรัฐบาลให้ขยายอายุสัญญาเช่า จากระยะสั้น 30 ปี ให้ยาวขึ้นอีกหน่อยเป็น 60-90 ปี

กรณีเช่ายาว 60 ปี ทำให้การลงทุนมีความคุ้มค่ามากขึ้นอีกโข ตัดสินใจง่ายขึ้นมาอีกนิด

กรณีให้เช่า 90 ปี หรือ 100 ปี กูรูจากธุรกิจโบรกเกอร์อสังหาฯหลายท่านให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า จะมีค่าเท่ากับการถือกรรมสิทธิ์ เพราะจบใน 1 ชั่วโคตร

โครงการอสังหาฯ ในลอนดอนที่ให้สิทธิเช่ายาว 10 ชั่วโคตร จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้ว่า ประเทศใด ๆ ในโลกมีนโยบายการให้สิทธิคนต่างชาติใช้ประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ “แบบมีเงื่อนไข” ที่แตกต่างกันไป

จุดสำคัญของนโยบายรัฐบาลอังกฤษน่าจะอยู่ที่…ทำยังไงให้คนต่างชาติใช้สิทธิได้เสมือนมีกรรมสิทธิ์ การเช่าระยะยาวเกิน 1 ชั่วโคตรอาจเป็นคำตอบก็ได้

และไม่ใช่ให้สิทธิแบบเสรี เจ้าของโครงการตั้งราคาขายหลังละ 3.5 ล้านปอนด์ เรียกว่าคัดเนื้อ ๆ คัดเน้น ๆ กลุ่มกำลังซื้อมั่งคั่งระดับตัวท็อปของโลก

และการเช่าอสังหาฯในกรุงลอนดอน มีตั้งแต่ 99-999 ปี มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติทั่วไป โดยที่ไม่เคยผ่านตาว่าคนอังกฤษออกมาประท้วงว่าเป็นนโยบายขายชาติ

บนความเห็นต่างของวาทกรรมขายชาติ จากการเปิดให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ 1 ไร่ในเมืองไทย แลกกับการลงทุน 40 ล้านบาทขึ้นไป อย่างน้อย 3 ปี

มีมุมคิดของ “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” เอ็มดี ศุภาลัย มองว่าเรื่องนี้ฝ่ายเห็นด้วยและคัดค้านล้วนถูกต้องทั้งสองฝ่าย อยู่ที่รัฐบาลจะเลือกแบบไหน

ถ้าเลือกถอยเพื่อประคองวาระทางการเมืองก็ได้ หรือถ้าเลือก move on ไปต่อให้มีผลบังคับใช้ก็ดีทั้งนั้น

ประเด็นอยู่ที่หากเลือกจะมูฟออน ก็ต้องตั้งโต๊ะศึกษาจริงจัง อะไรที่เป็นข้อกังวลของวาทกรรมขายชาติ ก็ต้องออกกฎกติกามาปิดจุดอ่อนให้ครบถ้วนทุกจุด


สรุปว่า ตราบใดที่ยังมีผลึกคิด “คนต่างชาติ” เป็นของแสลงในสังคมไทย ไม่ว่าเลือกทางถอยหรือทางมูฟออน ล้วนถูกต้องทั้งสองฝ่ายค่ะ