การเมืองไทย ต้องการหมอหลวง

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

29 พฤษภาคม 2566 ครบรอบก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 47 ขวบปี

กราบขอบคุณกัลยาณมิตรในวงการธุรกิจทุกท่าน ที่ทอดไมตรีเดินทางมาอวยพร ณ สำนักงานใหญ่ตึก 9 ชั้นเครือมติชน บนถนนประชานิเวศน์ 1 ย่านประชาชื่น ขออนุญาตอธิบายบรรยากาศในงานว่าหัวกระไดไม่แห้งค่ะ

ปัจจุบันนี้ ต้องอธิบายทำเลที่ตั้งยืดยาวหน่อย เพราะย่านประชาชื่นมีเพื่อนสื่อย้ายออฟฟิศมาปักหลักลงฐานอีกหลายสำนัก (ฮา)

หนึ่งในรายชื่อที่ตั้งตารอต้อนรับเป็นคิวของ “อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการ กทม. คนที่ 17 เพราะท่านหย่อนระเบิดข่าวสารไว้ลูกเบ้อเริ่มเมื่อวันอาทิตย์ 28 พฤษภาคม 2566 จากโปรเจ็กต์ผู้ว่าฯ สัญจรไปที่สำนักงานเขตพญาไท

อยู่ ๆ ก็บอกว่ามีข้อราชการรอหารือกับรัฐบาลใหม่ เรื่องขอให้ทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือ property tax ยังมีความลักลั่น ยังมีช่องโหว่ ภาษีเดิม (ภาษีโรงเรือน) เขตพญาไทเคยมีรายได้ 300 ล้านบาท หลังจากใช้ภาษีที่ดินรายได้เหลือ 200 ล้านบาท

ทำให้สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ถ่างกว้างขึ้นไปอีก เพราะคนรวย (เจ้าของตึก) กลายเป็นเสียภาษีน้อยลง

นึกในใจว่า…แม้ แม้ อ.ชัชชาติใช้ชั้นเชิงทางการเมืองโดยแท้ เพราะในชีวิตจริง ถ้าไม่มีการตุกติกกระไรเกิดขึ้น ไม่มีทางที่เจ้าของตึกจะเสียภาษีน้อยลง

ภาษีโรงเรือนเดิม จัดเก็บเฉพาะตึกที่นำมาปล่อยเช่า เมื่อมีค่าเช่าเกิดขึ้น จะเสียภาษี 12.5% ทันที ความเหลื่อมล้ำที่ว่าจึงไม่ใช่เรื่องของคนรวยกับคนจน แต่เป็นความเหลื่อมล้ำของผู้ถือครองทรัพย์สิน (ที่ดิน+สิ่งปลูกสร้าง)

ตัวอย่างเช่น ที่ดินแปลงและรั้วติดกัน ทำเลเดียวกัน พื้นที่ 200 ตารางวา ซื้อตั้งแต่ปีมะโว้ที่ดินก็เลยราคาถูก

แปลงที่ 1 เจ้าสัวซื้อและปลูกบ้านราคา 50 ล้านอยู่อาศัย แปลงติดกันยาจกซื้อและปลูกบ้านชั้นเดียวหลังละ 1 ล้าน อยากมีรายได้ก็เลยปลูกห้องเช่า 5 ห้อง ๆ ละ 2,000 บาท มีรายได้เดือนละ 10,000 บาท

ภาษีโรงเรือนเดิม เจ้าสัวบ้าน 50 ล้านไม่ต้องเสียภาษี เพราะตีความเป็นบ้านพักอาศัย ส่วนแปลงยาจก ดันกระแดะทำห้องเช่า ภาษีโรงเรือนบังคับไว้ 12.5% รายได้ 1 หมื่น ต้องจ่ายภาษี 1,250 บาท

ตัวอย่างนี้มีข้อสรุปว่า ภาษีโรงเรือนแบบเดิมมีความเหลื่อมล้ำของผู้ถือครองทรัพย์สิน เพราะทำเลเดียวกัน แปลงติดกัน แต่จ่ายภาษีไม่เหมือนกัน

นำมาสู่การคลอดกฎหมายภาษีที่ดิน ยกเลิกภาษีโรงเรือนเดิม ต่อไปนี้ไม่ต้องมาดูแล้วว่าทำบ้านพักอาศัยหรือทำห้องเช่า ถ้ามูลค่าที่ดินมากก็จ่ายภาษีมาก มูลค่าที่ดินน้อยก็จ่ายภาษีน้อย ภาระภาษีขึ้นกับทำเลที่ตั้งของทรัพย์สิน (ที่ดิน+สิ่งปลูกสร้าง)

ดังนั้น ทำเลเขตพญาไท อยู่ในแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวบีทีเอส ราคาที่ดินเปล่าเดาว่าวาละล้านบวกลบ คอนโดฯตารางเมตร 1-2 แสน ภาษีที่ดินของเขตพญาไทจะลดลงได้อย่างไร

เรื่องนี้มือกฎหมายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่ทนายความ แต่เป็นดีเวลอปเปอร์ชื่อ “พี่อ๋อย-อิสระ บุญยัง” เจ้าของกานดา พร็อพเพอร์ตี้ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และประธานกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โห แนะนำคนเดียวโปรไฟล์ยาวหลายบรรทัด

“พี่อิสระ” พูดจนปากเปียกปากแฉะ ภาษีที่ดินถ้าต้องการทลายความเหลื่อมล้ำในการเสียภาษีจริง ๆ จะต้องใช้ “ภาษีอัตราเดียว” หรือแฟลชเรต ไม่ต้องมีหลายขั้นบันได

เช่น ทรัพย์พันล้าน 50 ล้านแรกจ่ายน้อยหน่อย 0.3% ล้านละ 3,000 บาท มูลค่า 50-200 ล้าน จ่าย 0.4% มูลค่า 200-1,000 จ่าย 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านจ่าย 0.6% และมูลค่า 5,000 ล้านขึ้นไปจ่าย 0.7%

วิธีที่เจ้าสัวเขาทำกัน นอกจากเกลี่ยขั้นบันได เสียภาษีน้อยลงแล้ว ยังมีการเกลี่ยโฉนดอีกด้วย เพื่อให้เสียภาษีถูกสุดที่ 0.3% ไม่รู้แหละว่าเขาทำยังไง อยากรู้ให้ไปถามหมอภาษีละกัน สำนักทนายความและการบัญชีทั้งหลายร่ำรวยจากการให้คำปรึกษามานักต่อนักแล้ว

ภาษีที่ดินที่มีหลายขั้นบันได ทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีอย่างมโหฬาร อย่างถูกกฎหมายอีกด้วย วิธีที่หัวหมอที่สุดคือย้ายประเภทภาษีซะเลย

ภาษีที่ดินจ่ายหนักสุดคือที่ดินเปล่า เดิมออกแบบให้จ่ายล้านละ 1-3 หมื่นบาท จ่ายทุกปี พอเข้าสภานิติบัญญัติหน้าตาเปลี่ยนไปเลย เหมือนโดนลงมีดหมอผ่าตัดจนจำหน้าเดิมไม่ได้ หน้าตาใหม่ให้จ่ายเริ่มต้นล้านละ 3 พันบาท

แต่ถ้านำที่ดินเปล่ามาปลูกพืชผัก เข้าประเภททำเกษตรกรรม โอ้โห ราคาที่ดินเกษตรไม่ถึง 75 ล้านบาท จ่ายภาษี 0 บาท ถ้าเกิน 75 ล้านบาท เช่น มูลค่าที่ดิน 80 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 5 ล้านจ่ายล้านละ 100 บาท ที่ดินเกษตรมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านจ่ายแพงสุดก็ล้านละ 1,000 บาท

กำลังท่องจำในความคิดว่า จะถามอะไรบ้าง ปรากฏว่าโดนผู้ว่าฯ กทม.เท ส่งโฆษก กทม. “เอกวรัญญู อัมระปาล” มามอบกระเช้าอวยพรแทน

บังเอิญว่าได้นั่งโต๊ะเดียวกับนักปฏิวัติละครไทย “พี่ชุ-ชุดาภา จันทเขตต์” ผู้จัดละครดังหมอหลวง ออนแอร์ทางช่อง 33 หรือช่อง 3 มาพร้อมกับเลขาฯส่วนตัว “คุณหรั่ง” หรือให้ดีควรเรียกว่าเพื่อนหรั่ง เพราะรู้จักเห็นหน้าค่าตากันมานาน

ความสำเร็จของละครหมอหลวง ในความเห็นส่วนตัวเป็นละครน้ำดีที่เปิดโลกบันเทิงคู่ขนานกับโลกแพทย์แผนไทย หยอดมุขบันเทิงน่ารักน่าติดตาม

ได้เห็นจรรยาบรรณของหมอทองแท้กับผู้ไข้ ได้เข้าใจความเสียสละของคนที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ของหมอทองอ้น ส่วนน้องคิม-คิมเบอร์ลี่เองก็ดูจะสนุกกับบทหมอสาวข้ามภพ

เนี่ย ยังแอบลุ้นอยู่เลยว่าน่าจะมีภาค 3 ต่อจากทองเอกหมอยาท่าโฉลง กับหมอหลวง ขอละครน้ำดีอีกสักหมอนะคะพี่ชุ

วกกลับเข้ามาการเมืองไทยอย่างหน้าตาเฉย ผลเลือกตั้งไม่เป็นทางการออกมาแล้วตั้งแต่ตอนดึกวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จนป่านนี้ยังมีดราม่ารายวันเรื่องการฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่ พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ดูเหมือนหนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

หัวหน้าพรรคก้าวไกล “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากคนปกติธรรมดา หลังเลือกตั้งแค่ครึ่งเดือนหน้าตาเหมือนผู้ไข้เข้าไปทุกที แม้จะทำ MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล คำตอบก็ไม่สะเด็ดน้ำ เพราะเล่นการเมืองแบบผู้ไข้กันทั้ง 8 พรรค (ฮา)

ขอเมนต์ในฐานะโหวตเตอร์คนไทยที่เดินเข้าคูหากาเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา การเมืองไทยคงไม่ต้องการแพทย์แผนอเมริกา ไม่ต้องการแพทย์แผนจีน น่าจะต้องการแพทย์แผนไทย

ขออนุญาตคิดแทนคนไทยสักหนึ่งบรรทัด การเมืองไทยต้องการละครน้ำดีอย่างหมอหลวง ไม่ต้องการละครดราม่าแบบชายแพศยาค่ะ