ซอฟต์พาวเวอร์

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

วันก่อน “ประชาชาติธุรกิจ” จัดงานสัมมนา “THAILAND 2024 : beyond RED OCEAN เส้นทางใหม่ เป้าหมายใหม่ ที่มั่นคง”

คุณแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ บรรยายพิเศษเรื่อง “Soft Power The Great Challenger”

เป็นครั้งแรกที่ได้ฟังจาก “ตัวจริง-เสียงจริง” ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง

ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับเรื่อง “ซอฟต์พาวเวอร์” มาก

ในทางการเมืองการตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” มารับผิดชอบก็คือ สัญญาณบอกให้ทุกคนรู้ว่าเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยเอาจริงนะ

เรื่องอื่นพลาดได้แต่เรื่องนี้พลาดไม่ได้

การตั้งอนุกรรมการชุดต่าง ๆ เท่าที่ผมรู้จักก็เป็น “ตัวจริง-เสียงจริง” ในวงการและแต่ละคนก็ทุ่มเทเต็มที่

ไม่ใช่การคิดนโยบายจากภาครัฐเหมือนแบบเดิม

เรื่องการตีความคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” หรือรูปแบบที่ค่อนข้างตายตัวในบางเรื่อง เช่น 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์

ผมว่าเรื่องนี้ถกเถียงกันได้

แต่ความเอาจริงเอาจังให้คะแนนเต็มร้อย

เทียบกับรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มา ผมว่ารัฐบาลนี้เอาจริงที่สุด

น่าจะสบายใจได้เรื่องหนึ่งว่ารัฐบาลจะสนับสนุน ใส่งบประมาณ และเป็นหัวหอกบุกต่างประเทศให้

และด้วยบุคลากรภาคเอกชนที่เข้าไปเป็นอนุกรรมการแทบทุกคนเป็นคนทำงานในแวดวงนี้

ทำให้สบายใจไปขั้นหนึ่งว่าอย่างน้อยก็ไม่หลงทาง

ถ้าคนในวงการทำให้หลงเอง ก็ไม่รู้จะเชื่อใครแล้วครับ

มีประโยคหนึ่งของคุณแพทองธารที่ผมคิดว่าเป็น “กรอบ” ที่ดีสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ “ซอฟต์พาวเวอร์” ของเมืองไทย

“ซอฟต์พาวเวอร์นั้นไม่ใช่เรื่องที่มีหลักสูตรที่ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำทางลัดได้ ไม่ใช่เรื่องที่สามารถเร่งกระบวนการทุกอย่างได้”

“กรอบ” ที่วางไว้ คือ “กรอบ” ที่ไม่มี “เส้น”

งานศิลปะนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว

ผู้กำกับการแสดงที่สร้างหนังเรื่องหนึ่งประสบความสำเร็จ สร้างอีกเรื่องหนึ่งก็อาจล้มเหลวได้

หนังฮอลลีวูด เกาหลี อินเดีย ฯลฯ ล้วนมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน

แต่สามารถสร้างพลังซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศตัวเองได้

สำหรับผม การยอมรับว่าไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน และไม่มีทางลัด คือ จุดเริ่มต้นที่ดี

และยิ่งได้ขึ้นเวทีสัมภาษณ์ “โต้ง” สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้อยู่เบื้องหลังหนังเรื่อง “สัปเหร่อ” ยิ่งมั่นใจมากขึ้น

หนัง “สัปเหร่อ” เป็นหนังที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่

ทำรายได้ตอนนี้ 700 กว่าล้านบาทแล้ว

เขาคุยบนเวทีว่าชนะหนังดังอย่าง “Avatar” แล้ว

“สัปเหร่อ” คือ “ซอฟต์พาวเวอร์” ของคนอีสานที่ชนะใจคนทั้งประเทศ

นักแสดงทุกคนพูดภาษาอีสานทั้งเรื่อง เพลงก็อีสาน

หน้าตาก็ธรรมดา ไม่ใช่นักแสดงดัง

ถาม “โต้ง” ว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะสอดแทรกอะไรในหนังเรื่องนี้บ้าง

เขาบอกว่าคงใส่เรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในศรีสะเกษ หรืออาหารอีสานอย่างจริงจัง

เพราะ “สัปเหร่อ” จะพาสิ่งนี้ไปสู่สายตาคนไทยทั่วประเทศ

เท่าที่ผมเคยสัมภาษณ์ “โต้ง” ตั้งแต่ “ไทบ้านเดอะซีรีส์” เรื่องแรกจนถึง “สัปเหร่อ”

ความสำเร็จของ “เด็กรุ่นใหม่” กลุ่มนี้มาจาก “ความบ้า”
คิดแตกต่าง และกล้าฝัน

ไม่สนใจกรอบความสำเร็จแบบเดิม ๆ แต่เริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองรู้จักดีที่สุด ทำหนังให้ธรรมชาติที่สุด

กล้าที่จะคิด “จักรวาลไทบ้าน” เลียนแบบ “จักรวาลมาร์เวล”

“มาร์เวล” มีจักรวาลได้ ทำไม “ไทบ้าน” จะมีไม่ได้

ผมเห็นผังหนังเรื่องต่าง ๆ ใน “จักรวาลไทบ้าน” ของเขาตั้งแต่ 4-5 ปีก่อน

เขาคิดไว้หมดแล้ว และคิดโครงเรื่องของแต่ละเรื่องไว้แล้ว

ที่น่าสนใจมาก คือ วิธีการทำหนัง มุมกล้อง หรือการเล่าเรื่องของทีมงานเด็กรุ่นใหม่กลุ่มนี้ฉีกจากแนวทางที่ผู้กำกับหลายคนคุ้นเคย

มีคนเล่าให้ผมฟังว่าผู้กำกับการแสดงกลุ่มหนึ่งคุยกันเรื่องหนัง “สัปเหร่อ”

พยายามวิเคราะห์ว่าทำไมโดนใจคนดู

ผู้กำกับคนหนึ่งบอกว่าเขายังไม่ได้ดูเลย

คนที่ดูแล้วแนะนำว่าถ้าไปดูหนัง อย่าดูโดยใช้กรอบที่เราคุ้นชิน

เพราะมันไม่เหมือนกับที่เราเคยทำ

“ให้ดูคนดูว่าเขามีปฏิกิริยากับแต่ละช่วงของหนังอย่างไร”

งานศิลปะเป็นแบบนี้ครับ

ใช้เหตุผลมากไม่ได้

ไม่มีสูตรสำเร็จ และไม่มีทางลัด