ความกลัว 3 อย่าง

fear
คอลัมน์ : ถามมา-ตอบไป สไตล์คอนซัลต์
ผู้เขียน : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เชื่อไหมว่าพฤติกรรม และการแสดงออกของคนส่วนใหญ่ ถูกผลักดันจากความกลัว (fear) ที่มีอยู่ลึก ๆ ในหัวใจ

ทำไมคนโกรธ คนโมโห ถึงต้องโวยวาย ก็เพราะเขากลัวว่าปัญหาที่เกิดขึ้น จะไม่ได้รับความใส่ใจ และแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างทันท่วงที ?

ทำไมคนบางคนชอบโอ้อวดว่าตัวเองมีโน่นมีนี่ ก็เพราะเขากลัวว่าคนอื่นจะดูถูกว่าเขาไม่มี ?

ทำไมคนขับรถถึงไม่มีน้ำใจ พอเห็นใครแทรก จะต้องเบียด บีบแตรไล่ และไม่ยอม ก็เพราะเขากลัวว่าถ้าไม่ทำแบบนั้น คนคอยแทรกจะเสียนิสัย ได้ใจและแทรกคนอื่นอยู่ร่ำไป ?

ข้อคิดที่ได้คือไม่มีใครทำอะไรโดยไม่มีเหตุผล อันที่จริงทุกการกระทำ ล้วนมีเหตุผลในตัวของมันเอง เพียงแต่เหตุผลเหล่านั้นอาจฟังดูไม่เข้าท่าสำหรับเราเท่านั้น เพราะเป็นเหตุผลของเขา

นักจิตวิทยาอธิบายว่าเหตุผลที่คอยผลักดันการกระทำของมนุษย์ หลัก ๆ เกิดมาจากความกลัวอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือหลายอย่างรวมกัน) จาก 3 ข้อต่อไปนี้

1.fear of not good enough : กลัวว่ายังไม่ดีพอ เช่น เขียนบทความเสร็จ ก็อ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้ส่งงานล่าช้า เพราะกลัวว่ายังไม่ดีพอ ไปซื้อเสื้อผ้า เลือกแล้วเลือกอีก ตัดสินใจไม่ได้ซะที ก็เพราะกลัวว่ายังไม่ดีพอ เป็นต้น

2.fear of not belong to : กลัวว่าจะไม่เข้าพวก กลัวคนอื่นไม่ยอมรับ เช่น ตัดสินใจออกไปดูหนังกับเพื่อน ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากไป ไปแล้วก็บ่น ไปแล้วก็หงุดหงิด จนเพื่อนรำคาญ บอกว่าวันหลังไม่ต้องมาแล้ว เจ้าตัวไม่ยอม แกล้งบอกเพื่อนว่าอยากไป เพราะกลัวว่าถ้าไม่ไป จะไม่เข้าพวก คล้าย ๆ กับอาการ FOMO คือ fear of miss out นั่นเอง

3.fear of not being loved : กลัวว่าคนอื่นจะไม่รัก กลัวคนเกลียด เช่น รู้สึกว่าเพื่อนเอาเปรียบ แต่ก็ไม่กล้าพูดตรง ๆ เพราะเกรงว่าพูดไปแล้วกลัวเพื่อนไม่ชอบ มีลูกน้องที่ทำงานไม่ดีมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน แต่ไม่กล้าเตือน เพราะกลัวว่าลูกน้องจะเกลียด ไม่อยากเป็นผู้ร้าย (bad guy) ในสายตาของคนรอบข้าง

เรื่องความกลัวนี่สอนอะไรเรา ?

พฤติกรรมบางอย่างที่อยากแก้ไข แต่แก้ไม่ได้ซะที ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความกลัวที่ฝังตัวอยู่ลึก ๆ ซึ่งคอยขับดันพฤติกรรมนั้น หากทำความเข้าใจในความกลัวที่มี วิธีแก้ไขก็ไม่ยาก ทางออกไม่ใช่การบอกตัวเองว่าอย่ากลัว แต่วิธีการที่ถูกต้องคือกลัวได้ แต่ให้ลงมือทำทั้ง ๆ ที่กลัว

ฝรั่งเรียก feel the fear and do it anyway ! เช่น กลัวเพื่อนไม่ชอบ เลยไม่กล้าพูด วิธีแก้คือให้บอกตัวเองว่ากลัวได้ เพื่อนอาจจะไม่ชอบจริง ๆ ก็ได้ แต่เพราะความหวังดีกับเพื่อน ก็ให้ตัดสินใจพูดออกไปทั้ง ๆ ที่กลัวนี่แหละ

ฉะนั้น อย่าคิดที่จะกำจัดความกลัว แต่จงเรียนรู้ที่จะอยู่กับความกลัว และใช้ประโยชน์จากมันให้ได้