ไม่กลัวนักท่องเที่ยวจีน สธ. ยันคุมโควิดอยู่-คนไทยภูมิคุ้มกันสูง

นพ.โอภาส ยึดหลักมาตรฐานประเทศไทย นักท่องเที่ยวจีนไม่ต้องตรวจโควิด-19 แต่ต้องซื้อประกันสุขภาพ ยันสถานการณ์ไม่น่าห่วง เพราะยอดโควิดในจีนพอ ๆ กับบางประเทศที่ติดเชื้อวันละ 2 แสน แต่คนไทยแห่ไปเที่ยว

วันที่ 5 มกราคม 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงมาตรการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่านโยบายต่าง ๆ ที่ออกเป็นไปตามเกณฑ์ที่ประเทศไทยพิจารณา ไม่ได้เจาะจงประเทศใดประเทศหนึ่ง

เป็นเกณฑ์ที่ยึดตามกฎหมายต่าง ๆ ทั้งกฎอนามัยระหว่างประเทศ กฎหมายของประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นที่ปรึกษา ก็ให้คำยืนยันว่ามาตรการที่ออกยึดหลักการแพทย์และสาธารณสุข สอดคล้องกันทุกมิติ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมในวันนี้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์เป็นแนวทางที่จะดำเนินการไปด้วยกัน โดยยึดถือวิถีปฏิบัติมาตรการตามมาตรฐานประเทศไทย ทั้งความปลอดภัยของคนไทย และของผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นหลัก

ส่วนการดูสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อ โดยจะดูจาก 1.เชื้อโรค ซึ่งเป็นโอมิครอนและสายพันธุ์หลัก ไม่มีกลายพันธุ์มาร่วมปีแล้ว ส่วนสายพันธุ์ย่อยมีนักวิทยาศาสตร์เฝ้าระวัง แต่การกลายพันธุ์ที่สำคัญคือ มีความรุนแรงขึ้น ดื้อยา ดื้อวัคซีน ที่ผ่านมายังไม่มีสัญญาณในเรื่องนี้

2.ภูมิคุ้มกันของคนไทยและทั่วโลกมีค่อนข้างสูง ทั้งจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน 3.ระบบการจัดการของกระทรวงสาธารณสุขทั้งในเรื่องการเฝ้าระวัง การรักษา เวชภัณฑ์มีพร้อม เตียงมีเพียงพอ จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก และ 4.มาตรฐานที่ประเทศไทยดำเนินการ ให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้น ก็ตรงกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) แต่หากประเทศใดมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น มีข้อกำหนดก่อนเข้าประเทศต้องตรวจ RT-PCR ก็ยินดี

แต่ถ้าผลบวกก็กลับประเทศไม่ได้ จะต้องอยู่ประเทศไทยในการรักษา จึงกำหนดให้ประเทศใดก็ตามที่มีข้อกำหนดว่าก่อนเข้าประเทศต้องตรวจ RT-PCR ขอให้มีการประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ด้วย จะได้ไม่เป็นภาระของกระทรวงสาธารณสุขในกรณีที่เรียกเก็บเงินไม่ได้ เป็นต้น เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีมีปัญหากลับประเทศไม่ได้ ก็รักษาในไทย ส่วนประเทศใดที่ไม่ได้ประกาศเงื่อนไขนี้ ก็ไม่ต้องทำประกันสุขภาพ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

นพ.โอภาสกล่าวถึงกรณีที่มีนักท่องเที่ยวจีนซึ่งติดโควิด-19 อาจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยว่า อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหลักในที่ปรึกษาเรื่องโควิด-19 หลายท่านให้การยืนยันว่า ดูสถานการณ์แล้วไม่น่าเป็นห่วงอะไร สถานการณ์ในบางประเทศตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ไม่ได้ต่างจากที่กังวลมากนัก บางประเทศมีผู้ติดเชื้อวันละ 2 แสน แต่คนไทยก็ยังไปท่องเที่ยวประเทศนั้นจำนวนมากโดยไม่ได้กลัวอะไร อีกทั้งสายพันธุ์โอมิครอนก็ไม่ได้กลายพันธุ์มากมาย และภูมิคุ้มกันคนไทยมีค่อนข้างมาก

“ตั้งแต่ตุลาคม 2565 ที่ประกาศจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง คนก็กลัวมากว่าจะเกิดปัญหา แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยืนยันในข้อมูล และหลักวิชาการ ซึ่งก็พิสูจน์มาหลายครั้งตั้งแต่ตุลาคม-ธันวาคม 2565 ก็ไม่ได้มีสถานการณ์ที่รุนแรง และเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสยังกล่าวว่า ส่วนข้อมูลจากโซเชียลก็จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง และส่วนใหญ่ก็เป็นความเห็น ไม่ได้ยึดตามข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขมีอยู่จริง อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าจะลั้ลลาตลอด เพียงแต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ป็นหลักประกันว่า หากติดเชื้อก็จะไม่รุนแรง แต่หากที่ใดมีความเสี่ยงก็ต้องระมัดระวัง จึงต้องย้ำว่า การใส่หน้ากากอนามัยในจุดเสี่ยงก็จะเป็นเครื่องมือป้องกันได้

ส่วนสาเหตุที่ประเทศไทยไม่ตรวจเชื้อก่อโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวก่อนเข้าประเทศนั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้เชื้อมีอยู่ทั่วโลก ค่อนข้างพิสูจน์ยากว่าติดเชื้อก่อนหรือมาอยู่ในไทยแล้วติดเชื้อ จริง ๆ สายพันธุ์จีนในประเทศไทยเจอมาหมดแล้ว อย่าง BA.5 ก็เจอมาแล้ว และสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้เข้าปีที่ 4 แล้ว จึงไม่ควรคิดเหมือนช่วงระบาดแรก ๆ เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา

“อย่าคิดแบบเดิม อย่าคิดโดยใช้ความรู้สึกเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ต้องดูตามหลักฐานที่มีอยู่จริง ตอนนี้มีความรู้มากพอแล้ว นักวิชาการ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่า ไม่ต้องกังวลมาก ทั้งในแง่สายพันธุ์ก็อ่อนลงมาก ภูมิคุ้มกันก็มีเพิ่มขึ้น คนทั่วโลกก็มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เพราะฉีดวัคซีนกันมากกว่า 80% แล้ว จึงไม่น่ามีเหตุการณ์รุนแรง ขอให้มั่นใจว่า สธ.ไม่ได้ประมาท มีมาตรการและติดตามประเมินผลตลอด ขอให้มั่นใจว่า ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า กรณีวัคซีนให้นักท่องเที่ยวไทยมีเพียงพอ และหากนักท่องเที่ยวจะฉีดก็ยินดี แต่ต้องมีค่าใช้จ่าย เพราะไทยมีนโยบายเมดิคอลฮับ ส่วนจะฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า หรือวัคซีนไฟเซอร์ หรือชนิดใดก็เป็นเรื่องสมัครใจของนักท่องเที่ยว แต่มีค่าบริการอยู่ในรูปแบบเมดิคอลฮับ กรณีคนไทยขอให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 4 เดือนแล้วให้มาฉีดกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608