6 พรรคชิง 33 ส.ส.กรุงเทพฯ เพื่อไทย ทวงแชมป์ ก้าวไกล-พปชร.แบ่งแต้ม

ส.ส.กทม.
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

สนามเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ในวันนี้ยิ่งต่างกับการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 เพราะตอนนี้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแจมเพิ่มมากขึ้น มิใช่มีเฉพาะ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐและพรรคก้าวไกล

เพราะตอนนี้ พรรคภูมิใจไทย ก็พกความมั่นใจในฐานะพรรคใหญ่ประกาศนโยบาย “ภูมิใจกรุงเทพฯ” มี “บี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาเป็นแม่ทัพ

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้ “สกลธี ภัททิยกุล” อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เคยเป็น ส.ส.กทม. ก็มารวบรวมไพร่พลในสนาม กทม.

สอดแทรกด้วยพรรคไทยสร้างไทย นำทีมโดย “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ที่หวังปักหมุดใน กทม. ให้สมฉายาเจ้าแม่ กทม.

พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีความหวังที่จะกลับมากู้ชื่อ กทม. ยังมีม้าที่ไม่อาจมองข้าม อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวชู

พท.ขอ 18 ที่นั่งใน กทม.

ความพร้อมในแต่ละพรรคการเมือง เวลานี้ เริ่มที่พรรคเพื่อไทย พรรคใหญ่ที่สุดตอนนี้ มี “มาดามนครบาล” พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้มากบารมีในพรรคเพื่อไทย เผยถึงยุทธศาสตร์พรรคในสนาม กทม. โดยพรรคเพื่อไทยประเมินว่า ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคในพื้นที่ กทม. จะมี “คะแนนกระแส” ของพรรคตุนไว้ในกระเป๋าคนละ 1 หมื่นคะแนนไปล่วงหน้า

ต้องสู้กันด้วยนโยบาย คน กทม.มีความรู้ความสามารถ เราคัดผู้สมัครที่ต้องยอมรับว่าเป็นคนขยัน มีความรู้ เรามีการตรวจสอบในการลงพื้นที่ว่าขยัน หรือไม่ขยัน มีเสียงตอบรับอย่างไร

นอกจากนี้ เน้นเรื่องการสะท้อนปัญหาในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะมากลั่นกรองเป็นนโยบายของคน กทม.

“หลังจากยุบสภา เราจะมีนโยบายของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่เข้มข้น ซึ่งที่ออกมาขณะนี้เป็นภาพกว้างของกรุงเทพฯ ตัวอย่าง เช่น ยังกลับไปที่เรื่องสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดความเดือดร้อนของประชาชนก็ยังทำต่อเนื่อง รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจครอบครัว ที่ออกไปรายได้ 600 บาท/วัน 2.5 หมื่น/เดือน ก็ยังเน้นเรื่องการทำให้ประชาชนมีชีวิตที่กินดี อยู่ดี ลดภาระค่าครองชีพ การทำมาค้าขายระดับตลาด ทางเท้า สตรีตฟู้ดต้องปรับ จัดระเบียบให้ดีขึ้นกว่านี้”

“เราอยากอาสาขอให้เราเป็นรัฐบาล เพื่อโชว์ว่านโยบายของเราสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศนี้ได้จริง และแสดงฝีมือที่พรรคเพื่อไทยมี 8 ปี ที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล และเป็นฝ่ายค้าน ถ้าเราเป็นรัฐบาล เราสามารถกู้วิกฤตของประเทศได้ อยากอ้อนวอน ขอให้เรามีโอกาสตรงนี้ บางครั้งเราอาจมีเหลือง มีแดง ตอนนี้อยากให้ทุกอย่างหมดไป ร่วมแรงร่วมใจกัน อะไรที่ไม่ดี กระทบกระทั่งกันมาในอดีต ถ้าเลิกกันไปได้ ร่วมแรงร่วมใจ ร่วมกันพัฒนาประเทศ อยากให้โอกาสพัฒนาตรงนี้”

พวงเพ็ชรกล่าวถึงเป้าหมาย ส.ส.ในกทม.ว่า คิดว่าได้เกินครึ่ง 17-18 ที่นั่ง อยากให้ได้มากที่สุด คนอาจจะเบื่อหน่ายกับสภาพปัจจุบันที่มีการบริหารมา เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง เป็นโอกาสของคนทั้งประเทศที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยมือของเขาเอง ต้องให้โอกาสพวกเราพรรคเพื่อไทย คิดว่าคนอยากเปลี่ยนรัฐบาล เพื่อให้คนอื่นเข้ามาทำงานบ้าง พรรคเพื่อไทยก็ขอโอกาสตรงนี้จากทุกคน ถือเป็นคำขอร้องเลยล่ะ

ก้าวข้ามศึก “สีเสื้อ”

สำหรับจุดแข็งของพรรคเพื่อไทยนั้น ยังมุ่งเน้นเรื่องนโยบาย เชื่อมั่นว่าเราเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ ออกมาสามารถทำให้พรรคเพื่อไทยเข้าไปอยู่กลางใจของคนได้ ส่วน “จุดอ่อน” ที่ยังต้องรับคือ กรุงเทพฯ อาจเป็นยุทธศาสตร์ของการต่อสู้ในอดีตเยอะ สมัยก่อนมีม็อบ มีเสื้อเหลือง เสื้อแดง อยากให้มองก้าวข้ามไป ยกเลิกวาทกรรมเสื้อเหลือง เสื้อแดง อยากให้เข้าสู่โหมดสมานฉันท์ มาร่วมแรงร่วมใจกัน ผ่านความขัดแย้งไป เข้าสู่โหมดสมานฉันท์กันเสียที

“เพราะสมรภูมิกรุงเทพฯ มีทั้งม็อบเหลือง ม็อบแดง ถ้าเราละวางพวกนี้ไว้เป็นอดีตแล้วมาช่วยกันเดินหน้ากันต่อไป คิดว่าบ้านเมืองก็ต้องไปได้”

ภูมิใจไทย รอเป็นตาอยู่

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่เคยส่งผู้สมัคร ส.ส.กทม.เมื่อ 4 ปีก่อน ได้แค่ 4 หมื่นคะแนน แต่วันนี้เขาบอกว่า “หนังคนละม้วน”

กทม. 4 ปีที่แล้วก็ส่งเหมือนกัน แต่ได้ 4 หมื่นคะแนน ก็ถือว่าบุญแล้ว แต่ 4 ปีที่ผ่านมา เรารักษาผลประโยชน์ให้คนกรุงเทพฯ ก็เยอะ ทั้งเรื่องค่าโง่ต่าง ๆ ผ่านไปได้เพราะพรรคภูมิใจไทย รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน แม้ไม่มี ส.ส.ใน กทม.สักคนเดียว

ขณะที่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้นำทัพ กทม. ชูแคมเปญภายใต้ “ภูมิใจกรุงเทพฯ” กล่าวว่า “พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายดี มีบุคลากรที่ดีมาให้เลือก คนที่อยากเปลี่ยนอะไรใหม่ ๆ เขาก็มาดู แถมหัวหน้าพรรคเรายังมีโอกาสเป็นนายกฯ ในสถานการณ์อย่างนี้ คราวที่แล้วมีเรื่องความสงบ มันก็ต้องเลือกทหาร แต่วันนี้ถ้าไม่มีเรื่องความสงบ แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ เราก็ต้องหาคนที่ถนัดทำเรื่องเศรษฐกิจ พี่หนู (นายอนุทิน) เป็นคนหนึ่งที่สามารถเป็นนายกฯได้”

“เสียง ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยทั้งประเทศ อย่างน้อยก็ต้องมี 80-90 เสียง หรือ 100 อัพ ก็ต้องมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐแน่นอน ดังนั้น พี่หนูก็เป็นแคนดิเดตนายกฯแน่นอน ดังนั้น คน กทม.เวลาจะเลือก อาจจะต้องดูกระแสใกล้ ๆ เลือกตั้ง เขาก็จะสามารถพิจารณาได้ เลือกคนที่มีโอกาสผลักดัน ทำนโยบายได้ จะไปเลือกคนที่ 20 เสียง 30 เสียง เป็นนายกฯได้อย่างไร”

เก๋า+ใหม่ = พปชร.

ด้านพรรคพลังประชารัฐ ดึง “สกลธี ภัททิยกุล” อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เตรียมต่อยอดนโยบายตอนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. นโยบายสำคัญของแกนนำพรรค มาระดมสมองให้ตอบโจทย์พี่น้อง กทม. พร้อมกับขาย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐให้เป็น main stream ลงพื้นที่ปราศรัยครั้งแรกที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ล้มศัตรูที่เป็น “ความยากจน”

สำหรับรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.กทม.ทั้ง 33 เขต จะมีการผสมผสาน ระหว่างตัวเก๋า กับคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจจริง อย่างเขตไหน เป็นพื้นที่เก๋าสู้รบ แบบนี้ ก็ต้องส่งคนที่เก๋า หรือเขตไหนที่เป็นพื้นที่กระแส เช่น กรุงเทพมหานครเขตชั้นใน ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง เช่น เขตที่ 1 2 3 4 5 ก็จะเป็นคนใหม่

แต่ก็ไม่ได้ถึงกับใหม่เลย คือเคยลงพื้นที่ แต่ยังไม่ได้รับโอกาส ก็คือผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.ของพรรค จะเป็นลักษณะผสมผสานกัน ซึ่งคาดว่าภายในสองสัปดาห์ต่อจากนี้ รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.ทั้ง 33 เขตก็คงได้ข้อยุติ เพราะอย่างที่มีการพูดกันว่า เส้นตายคือ 7 กุมภาพันธ์ ทำให้อย่างน้อยสัปดาห์หน้า ทุกอย่างก็ต้องเรียบร้อยเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์

“สนามเลือกตั้ง กทม.เรื่องกระแส เป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ขาดผลแพ้-ชนะในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกระแสที่จะออกมาตอนช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันลงคะแนนเสียง โดยกระแสของพรรคที่ส่งคนลงเลือกตั้ง จะอยู่ที่ระดับ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้สมัครจะอยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์”

ไทยสร้างไทย พร้อมเต็มที่

ขณะที่พรรคใหม่ “ไทยสร้างไทย” น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักงานปราบโกง และหัวหอก กทม.ของพรรค กล่าวว่า ขณะนี้พร้อมรบในสนาม กทม. ส่งครบทั้ง 33 เขต

พรรคมีความพร้อม โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เคยรับผิดชอบเป็นประธานภาค กทม. เคยเป็น ส.ส.หลายเขต นอกจากนี้ ผู้สมัคร ส.ส.ก็ทำพื้นที่รับใช้ประชาชนพอสมควร อีกทั้งยังมีนโยบายไม่น้อยสำหรับคน กทม. โดยขณะนี้เราต้องทำงานอย่างหนัก ตัวแทนของเราต้องลงพื้นที่สื่อสารกับประชาชน ส่วนจะได้ ส.ส.มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับชาว กทม.ที่จะให้โอกาส

ก้าวไกล ชู 200 นโยบาย

พรรคก้าวไกล อันเป็นพรรคที่คู่แข่งในสนาม กทม.ต้องหวาดหวั่น เพราะครองกระแสคนรุ่นใหม่เป็นล้านเสียง

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้รับผิดชอบสนาม กทม. เผยว่า พรรคก้าวไกลได้รับรองผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรค ครบทุกพื้นที่แล้ว ซึ่งหากเทียบกับการเลือกตั้ง 2562 ครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ ขณะนี้เราพร้อมกว่ามากในทุก ๆ ด้าน

ด้านนโยบาย ก็สมบูรณ์กว่ายุคพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตอนนั้นถูกมองว่ามีแต่นโยบายโครงสร้างใหญ่ ๆ แต่ปัจจุบันนี้เรามีนโยบายยิบย่อยกว่า 200 นโยบาย เราจะเลือกนโยบายเหล่านั้นมาไฮไลต์สื่อสารกับประชาชน นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลเตรียมคิกออฟเว็บไซต์นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง สำหรับประชาชนที่เลือกด้วยนโยบาย

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ กทม.ถูกขนานนามว่าเป็นการเลือกตั้งตามกระแส เลือกตัวนายกฯที่จะมาบริหารประเทศ ซึ่งพรรคก้าวไกลถือว่าเป็นพรรคแรกที่เปิดตัว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งเป็นจุดแข็งของพรรค เพราะมีทั้งความรู้ ความสามารถ เป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ เป็น global citizen ซึ่งถือว่ามีความพร้อมในทุกด้าน มั่นใจว่า พรรคก้าวไกลจะได้ ส.ส.กทม. เกินครึ่ง ได้เป็นอันดับ 1 ใน กทม.

ปชป.หวังคืนชีพ

ปิดท้ายด้วยพรรคประชาธิปัตย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สำหรับ กทม.จะมีนโยบายเฉพาะ แต่อยู่ในกรอบของนโยบาย “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” ที่ได้เปิดตัวไปแล้ว

ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความมั่นใจสนามเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ครั้งที่แล้วเป็นเพียงครั้งเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้รับเลือกตั้งเลยสำหรับ ส.ส. แต่หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ซึ่งเสียงตอบรับดีมาก ถือเป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นว่า ชาว กทม.กลับมาต้อนรับประชาธิปัตย์อีกครั้ง

สนามเลือกตั้ง กทม. ฟาดฟันกันดุเดือด