ประยุทธ์ พบ เคดันเรน ไทย-ญี่ปุ่น เปิดเจรจาการค้าใหม่ เชื่อไม่ย้ายฐานผลิต

ประยุทธ์ พบ เคดันเรน

ประยุทธ์ พบ เคดันเรน กระชับความสัมพันธ์การค้า-ลงทุน ไทย-ญี่ปุ่น ขอบคุณเชื่อมั่น-ไม่ย้ายฐานการผลิต

วันที่ 15 มีนาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายซูซูกิ โยชิฮิสะ (Mr. Suzuki Yoshihisa) และนายซูซูกิ จุน (Mr. Suzuki Jun) ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ว่า นายกรัฐมนตรียินดีต้อนรับประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นฯ พร้อมคณะผู้แทนเคดันเรนในการเยือนไทย ซึ่งหลายคนได้มีโอกาสพบกันในหลายโอกาสแล้ว และขอฝากความระลึกถึงประธานเคดันเรนด้วย

ทั้งนี้ ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปค โดยไทยพร้อมร่วมมือขับเคลื่อนให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขอบคุณเคดันเรนที่ส่งเสริมความสัมพันธ์เศรษฐกิจกับไทย และสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยให้ประสบความสำเร็จ ในฐานะเลขาธิการของสภาที่ปรึกษาเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ของญี่ปุ่น พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการลงทุนของเอกชนญี่ปุ่นในไทย

ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นฯ ยินดีที่ได้มาเยือนไทยครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสในการหารือและติดตามความร่วมมือระหว่างกันหลังจากที่ได้พบกันในห้วงการเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum เมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรี และความสำเร็จของรัฐบาลในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG Economy) ในการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสอดคล้องกับญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศจะสามารถเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันร่วมมือสานต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยไทยและญี่ปุ่นต่างเผชิญอุปสรรคร่วมกันมา ทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งต่างส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของญี่ปุ่นในไทยอย่างมาก

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณญี่ปุ่นที่ยังเชื่อมั่นในการลงทุนในไทย ยังคงใช้ไทยเป็นฐานผลิตสินค้าที่สำคัญในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ด้านประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นฯ ชื่นชมไทยที่เป็นประเทศที่มีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิตและมอบสินค้าที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาค และพร้อมร่วมมือกับไทยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจสำหรับเอกชนญี่ปุ่น รวมทั้งยินดีใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด ทั้งสองเห็นพ้องว่า ไทยและญี่ปุ่นต่างกำลังเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ และการวางแผนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (Zero Emission Vehicles: ZEVs) จึงยินดีรับฟังข้อเสนอแนะญี่ปุ่นในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน และการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำร่วมกัน และเชิญชวนกลุ่มบริษัทสมาชิกเคดันเรนขยายการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ

ความร่วมมือด้านการเกษตรและอาหาร นายกรัฐมนตรีชื่นชมญี่ปุ่นในเรื่องการบริหารจัดการในภาคอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยที่ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงหวังว่าในอนาคตญี่ปุ่นจะร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมในภาคเกษตรกับไทย ซึ่งประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นฯ ยินดีพิจารณาความร่วมมือด้านการเกษตร พร้อมกล่าวถึงความร่วมมือด้านอาหาร ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหาร และยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบทางด้านอาหารจากไทยด้วยเช่นกัน หวังว่าภาคเอกชนไทยจะไปลงทุนทางด้านอาหารในญี่ปุ่นเพิ่มเติม พร้อมกล่าวชื่นชมอาหารไทยว่าเป็นที่นิยมอย่างมากในญี่ปุ่น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้เคดันเรนประสบความสำเร็จในการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 24 ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (16 มีนาคม 2566) ซึ่งจะเป็นการจัดประชุมครั้งแรกในรอบ 8 ปี หวังว่าจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้านประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นฯ กล่าวว่า การประชุมฯ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งสองประเทศ โดยจะเป็นโอกาสหารือในประเด็นเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และส่งเสริมการสร้างสภาวะแวดล้อมด้านการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น เมืองอัจฉริยะ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม