
เศรษฐา กล่าวถ้อยแถลง เวทียูเอ็น ชูบันไดสามขั้นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คิกออฟ ปี 67 ออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน กระตุ้นตลาดกรีนบอนด์ รื้อแผนพลังงานแห่งชาติใหม่ – เลิกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน
วันที่ 21 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในการเดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่สอง
วันที่ 20 กันยายน 2566 เวลา 10.59 น. เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78) โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนและร้ายแรงในปัจจุบัน ซึ่งช่วงเวลาผ่านมาได้มีโอกาสพบปะกับเกษตรกรของประเทศไทย และรับทราบโดยตรงถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไขปัญหาทันที ซึ่งไทยขอชื่นชมวาระเร่งด่วนของเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ให้ใกล้เคียงกับปี ค.ศ. 2050 มากที่สุด พร้อมนำเสนอแผนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน รวมถึงการเลิกใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2040 และเตรียมการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น ฉบับปรับปรุง (Nationally Determined Contributions : NDCs) สำหรับปี ค.ศ. 2025 ซึ่งจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทั้งหมด
รื้อแผนพลังงานแห่งชาติ
ไทยพยายามอย่างที่สุดที่จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งคำนึงถึงการดำเนินการตามกระบวนการภายใน การเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสนับสนุนทรัพยากรทางการเงินและการสร้างขีดความสามารถ โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNFCCC COP ครั้งที่ 26 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญและมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 โดยเราได้เพิ่มเป้าหมายการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น (NDC) จาก 20% เป็น 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งมีการดำเนินการที่มีผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาว โดยประเทศไทยได้ทำงานอย่างหนักเพื่อจะบรรลุภารกิจที่สำคัญยิ่งนี้
“รัฐบาลใช้เป้าหมายเหล่านี้ในการร่างแผนพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนแปลงในภาคการขนส่ง การเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการเตรียมการที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน”
ไทยได้ดำเนินโครงการนำร่องโดยใช้แนวความคิดจากเกษตรกรรมยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประสบความสำเร็จพร้อมต่อยอดโครงการ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศอีกด้วย
รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) สนับสนุนการใช้โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) และการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ (net-metering) เพื่อจูงใจการผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 55% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2037
ระดม กรีนบอนด์ 12.5 พันล้านดอลลาร์ยูเอส
พร้อมกันนี้ ประเทศไทยยังได้ส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) อย่างแข็งขันผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันสามารถระดมเงินได้ในจำนวน 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกลไกนี้ ไทยจะออกพันธบัตรเชื่อมโยงกับความยั่งยืน กระตุ้นการเติบโตของพันธบัตรสีเขียว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรต่างๆ จะได้รับแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมาย SDG
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ล่าสุดได้จัดตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment) ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ และเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศให้แก่ทุกภาคส่วน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยยังคงเร่งดำเนินการต่อเนื่อง พร้อมมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะบรรลุเป้าหมายและเอาชนะวิกฤตการณ์นี้
คิกออฟปี 67 บูม กรีนบอนด์มาร์เก็ต
ต่อจากนั้นเวลา 11:49 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ นายเศรษฐา กล่าวถ้อยแถลงในการระดมทุนเพื่อการพัฒนา (Financing for Development : FfD) ในการประชุม High-Level Dialogue on Financing for Development ซึ่งเป็นกลไกระดับสูงในเวทีสหประชาชาติเพื่อขับเคลื่อนวาระดังกล่าว จัดขึ้นทุก 4 ปี ในห้วง High-Level Week ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Financing the SDGs for a world where no one is left behind” มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการระดมทุนเพื่อการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
นายชัยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้นั้น จำเป็นต้องได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนา พร้อมเสนอให้ปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนเงินทุนเพื่อการพัฒนาอย่างครอบคลุม ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประการแรก ประเทศกำลังพัฒนาควรมีบทบาทสำคัญในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้งบประมาณที่จะนำไปใช้เพื่อความยั่งยืนสามารถไปเพื่อจัดการกับต้นทุนหนี้ที่สูงและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากหนี้ในประเทศกําลังพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศและ UNESCAP จะร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ “Sustainable Finance: Bridging the Gap in Asia and the Pacific” ในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่กรุงเทพฯ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคอย่างครอบคลุมและทั่วถึง นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนการขยายธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (Multilateral Development Banks: MDBs) เพื่อส่งเสริมเงินทุนสำหรับใช้ก่อสร้างโครงการเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงเพื่อเป็นกลไกในการรับมือกับวิกฤตสภาพคล่องทางการเงินในภูมิภาคได้ดีขึ้น
ประการที่สอง การปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นที่การลดต้นทุนการทำธุรกรรมและการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ MSMEs และควรส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล ความโปร่งใส และกำกับดูแลเทคโนโลยีอุบัติใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการเงิน Financial Technology เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนา
ประการที่สาม การปกป้องสภาพภูมิอากาศ การพัฒนา และการลดความยากจนต้องดำเนินการไปด้วยกัน ดังนั้น การปฏิรูปควรตอบสนองต่อความต้องการในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในโครงการที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ และสอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเงินที่ยั่งยืน โดยประเทศไทยได้ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bonds) และส่งเสริมความร่วมมือตราสารที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในตลาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เพื่อนำมาพัฒนาโครงการเพื่อความยั่งยืนในหลายโครงการ และในปีหน้าจะมีการออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) เพื่อกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond market) รวมถึงจะมีการพัฒนากรอบ ‘Thailand Taxonomy’ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการลงทุนและการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่าแนวคิดและข้อเสนอแนะในการประชุมครั้งนี้ จะได้รับการต่อยอดในการประชุม UNGA78 และการประชุมระดับสูงอื่น ๆ รวมทั้งยืนยันความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้านการเงินเพื่อการพัฒนาร่วมกับนานาประเทศ และพร้อมมีส่วนร่วมในการหารือเพื่อออกนโยบายในประเด็นที่มีความสำคัญและเร่งด่วนอื่น ๆ
บันไดสามขั้นสู่พัฒนาที่ยั่งยืน
จากนั้นเวลา 13.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ นายเศรษฐา กล่าวเปิดกิจกรรมของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) นายชัยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ได้มากล่าวเปิดกิจกรรมของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเจ้าภาพร่วมกับ UNESCAP สำนักเลขาธิการอาเซียน และศูนย์อาเซียนด้านการศึกษาและการหารือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue : ACSDSD) ได้จัดขึ้น เพื่อเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงแค่เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นที่สำคัญในระดับภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนสังคมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยประเทศไทยยืนยันที่จะรักษาบทบาทสำคัญในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตของภูมิภาคที่ยั่งยืนและสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังที่จะยกระดับความร่วมมือของทุกประเทศ เพื่อจัดการปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่ได้เผชิญร่วมกันในช่วงครึ่งทางของการมุ่งไปสู่การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ โดยอาเซียนเผชิญกับอุปสรรคทั้งเรื่องงบประมาณ ช่องว่างของเทคโนโลยี ความแตกต่างทางสังคม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งในระดับภูมิภาคและกับประชาคมโลก เพื่อเปลี่ยนผ่านความท้าทายไปสู่โอกาสของภูมิภาคต่อไป โดยนำเสนอแนวทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 ดังนี้
ประการแรก ทุกฝ่ายควรมุ่งมั่นเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับความพยามร่วมกันของประชาคมโลก เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยอาเซียนต้องมี Roadmap เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนแบบองค์รวมและไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งไทยยินดีร่วมมือกับอาเซียนขับเคลื่อนการจัดทำ ASEAN Green Agenda ให้เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยั่งยืน
ประการที่สอง อาเซียนควรสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่ออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ตลอดจนดึงดูดการลงทุนจากอุตสาหกรรมสีเขียวเข้ามาในภูมิภาค โดยพร้อมทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานในอาเซียนและพันธมิตรภายนอก เพื่อโครงการที่ส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะ เร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมไปถึงการส่งเสริมแนวคิดการเงินสีเขียว (Green Finance) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวของอาเซียน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค
ประการที่สาม อาเซียนในฐานะภูมิภาคที่มีพลวัตของการเจริญเติบโตสูง จึงมีศักยภาพที่จะสามารถเป็นแหล่งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญต่อโลกผ่านการดึงดูดการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 32% ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น อาเซียนซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรและศักยภาพจึงสามารถเป็นศูนย์กลางของการผลิตที่ยั่งยืน และสามารถเป็นแหล่งเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) ของโลกได้
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งระดับรัฐบาล ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และภาคธุรกิจ พร้อมเชิญชวนให้ทุกฝ่ายร่วมมือกับไทยและอาเซียน เพื่อมุ่งเป้าไปสู่การเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่แนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นมรดกสำคัญที่ทุกคนจะสามารถทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีอนาคตที่ดีมากยิ่งขึ้น