7 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับสมัชชาสหประชาชาติ หรือประชุมยูเอ็น

ประชุมยูเอ็น สมัชชาแห่งสหประชาชาติ
ภาพโดย TIMOTHY A. CLARY / AFP

ในห้วงเวลา 1 สัปดาห์นี้ผู้นำประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 145 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งเศรษฐา ทวีสิน ผู้นำของประเทศไทย ไปรวมตัวกันอยู่ที่นิวยอร์ก เพื่อเข้าร่วมการประชุมที่เราเรียกกันว่า “ประชุมยูเอ็น” 

มีอะไรที่น่ารู้บ้างเกี่ยวกับการประชุมยูเอ็นครั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปออกมาเป็น 7 ข้อ ดังนี้ 

1.

การประชุมที่เราเรียกกันว่า “ประชุมยูเอ็น” นั้น มีชื่อเป็นทางการว่า สมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly : UNGA) หรือที่เรียกกันว่า “สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ” เป็นกลไกที่ใหญ่ที่สุดในสหประชาชาติ ประกอบด้วยรัฐสมาชิกสหประชาชาติทุกรัฐ (ปัจจุบันมี 193 รัฐ) นอกจากนั้น ในแต่ละปีจะมีการเชิญรัฐที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมด้วย 

สมัยการประชุมของสมัชชาสหประชาชาติมีระยะเวลา 1 ปี เริ่มต้นในวันอังคารที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี โดยในแต่ละปีรัฐสมาชิกจะเลือกตั้ง “ประธานสมัชชาสหประชาชาติ” (President of the General Assembly : PGA) สลับสับเปลี่ยนตามภูมิภาค และ “รองประธาน” จำนวน 21 คน 

2.

กระบวนการที่สำคัญของสมัยการประชุมสมัชชาสหประชาชาติคือ การอภิปรายทั่วไป (general debate) โดยเริ่มขึ้นวันอังคารของสัปดาห์เปิดสมัยการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) และจบลงในสัปดาห์ถัดจากนั้น ซึ่งในปีนี้คือระหว่างวันที่ 19-23 และ 26 กันยายน 2023 

การอภิปรายทั่วไปถือเป็นการเริ่มต้นด้านสารัตถะ หรือเนื้อหาสาระหลักของสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประมุขของรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และหัวหน้าผู้แทนของทุกรัฐสมาชิกกล่าวถ้อยแถลงบนแท่น (rostrum) หน้าหอประชุม (GA Hall) เพื่อแสดงนโยบาย ความคิดเห็น และท่าทีของประเทศตนในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ตามหัวข้อหลักของสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) 

ในกรณีที่มีรัฐสมาชิกไม่เห็นด้วยกับถ้อยแถลงของรัฐสมาชิกใด หรือมีการพาดพิงถึงประเทศตน รัฐสมาชิกสามารถใช้สิทธิตอบโต้ (right of reply) ได้ แต่การใช้สิทธิมักทำหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นแล้วในวันนั้น โดยมีสิทธิในการตอบโต้สองครั้งต่อหัวข้อเรื่องหนึ่ง ครั้งแรกไม่เกิน 10 นาที และครั้งที่สองไม่เกิน 5 นาที 

3.

สมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) มีคณะกรรมการหลัก (Main Committees) 6 คณะ โดยรับผิดชอบประเด็นที่แตกต่างกันคือ คณะกรรมการ 1-การลดอาวุธและความมั่นคงระหว่างประเทศ, คณะกรรมการ 2-เศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนา, คณะกรรมการ 3-สังคม สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรมและวัฒนธรรม, คณะกรรมการ 4-การเมืองพิเศษและการปลดปล่อยอาณานิคม, คณะกรรมการ 5-การบริหารจัดการและงบประมาณ และคณะกรรมการ 6-กฎหมาย

แต่ละคณะกรรมการหลักมี Bureau ซึ่งมีทีมงาน 5 คน ทำหน้าที่เตรียมกำหนดการของการประชุม อำนวยความสะดวกในการหารือ และการพิจารณาประเด็นสำคัญ รวมถึงการหาข้อสรุปในประเด็นที่โต้เถียงกัน เพื่อนำไปสู่การพิจารณารับรองร่างข้อมติต่าง ๆ จากนั้นจึงนำเข้าสู่ที่ประชุมเต็มคณะ (Plenary) ของสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) เพื่อรับรอง ก่อนออกเป็นข้อมติซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของ UNGA ต่อไป 

4.

ปีนี้ผู้นำประเทศที่มีบทบาทในระดับโลกหลายประเทศไม่เข้าร่วมงาน ทั้งสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีน ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และแน่นอนว่า วลาดิมีร์ ปูติน (Vlardimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งโดนศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกหมายจับด้วยข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม คงไม่เดินทางออกนอกประเทศไปเข้าร่วมงาน

ในอีกด้านหนึ่งโวโลดิมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) จะเข้าร่วมงาน ซึ่งนี่จะเป็นการปรากฏตัวต่อสหประชาชาติเป็นครั้งแรกของเซเลนสกีนับตั้งแต่ยูเครนโดนรัสเซียรุกรานเมื่อปี 2022 

5.

หัวข้อหลักของการอภิปรายทั่วไปในปีนี้คือ “Rebuilding trust and reigniting global solidarity : Accelerating action on the 2030 Agenda and its Sustainable Development Goals towards peace, prosperity, progress and sustainability for all.” หรือ “การสร้างความไว้วางใจและสร้างความเป็นเอกภาพระดับโลกขึ้นมาอีกครั้ง : เร่งรัดดำเนินการ ‘2030 Agenda’ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้า และความยั่งยืนสำหรับทุกภาคส่วน”

6.

นอกจากการอภิปรายทั่วไปแล้ว กิจกรรมการประชุมสำคัญในสมัชชาสหประชาชาติปีนี้ มีดังนี้ 

-การประชุมสุดยอด SDG ที่ผู้นำของรัฐจะประชุมกันในวันที่ 18-19 กันยายน เพื่อทบทวนการดำเนินการตาม “2030 Agenda” และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ประการ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการเปลี่ยนแปลงและเร่งรัดการดำเนินการที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในปี 2030 ซึ่งเป็นปีที่กำหนดให้ทุกเป้าหมาย SDGs ต้องบรรลุผล

-การประชุมระดับสูงเรื่องการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนา ในวันที่ 20 กันยายน ซึ่งจะให้คำแนะนำในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ Addis Ababa Action Agenda (AAAA) ซึ่งเป็นกรอบการทำงานของสหประชาชาติในการระดมทรัพยากรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ตลอดจนรายงานความคืบหน้าและความท้าทายที่เกิดขึ้น และขับเคลื่อนการดำเนินการต่อไป 

-การประชุมสุดยอดเรื่องความทะเยอทะยานด้านสภาพภูมิอากาศ ในวันที่ 20 กันยายน 

-การประชุมระดับสูงด้านการป้องกัน การเตรียมพร้อม และการรับมือโรคระบาด ในวันที่ 20 กันยายน 

-การประชุมรัฐมนตรีเตรียมการจัดการประชุม Summit of the Future ในวันที่ 21 กันยายน ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการประชุมระดับผู้นำต่อไป โดยการประชุม Summit of the Future จะเน้นการหารือถึงความสำคัญของ SDGs ในฐานะที่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับอนาคต

-การประชุมระดับสูงเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) ในวันที่ 21 กันยายน

-การประชุมระดับสูงเรื่องการต่อสู้กับวัณโรค ในวันที่ 22 กันยายน

7.

ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองในสมัยการประชุมของสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 78 นี้ ตามคำแนะนำของมูลนิธิองค์การสหประชาชาติ (United Nations Foundation) ได้แก่  

-จับตาความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศต่าง ๆ ผ่านการนำแผนงานและเป้าหมายมาคุยกันบนโต๊ะ พร้อมทั้งระบุสิ่งที่จะทำก่อนจะถึงปี 2030 ซึ่งเป็นปีที่กำหนดให้ทุกเป้าหมาย SDGs ต้องบรรลุผล

-ติดตามความชัดเจนของประเทศสมาชิกสหประชาชาติในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

-ทบทวนบทเรียนจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะมีการประชุมระดับสูงด้านสุขภาพเน้น 3 ประเด็นหลักคือ การเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาด การสร้างประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการขจัดวัณโรค 

-เปิดแผนจัดเวทีแห่งอนาคต (Summit of the Future) โดยเน้นการหารือความสำคัญของ SDGs ในฐานะการลงทุนที่คุ้มค่าต่อประชากรรุ่นใหม่ในอนาคต 

-ยกระดับการพูดคุยประเด็นความเท่าเทียม เพื่อให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ พูดคุยลงลึกไปถึงกลไกทางการเงินที่ใช้ผลักดันโครงการสร้างความเท่าเทียมต่าง ๆ

อ้างอิง :

เนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง