วันทะเลโลก 2566 ยูเอ็นกำหนดธีม “เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม”

ทะเล
ภาพจาก pixabay

วันทะเลโลก 2566 ยูเอ็นกำหนดธีม “เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม” สร้างความตระหนักรู้มุ่งสู่การอนุรักษณ์ เมื่อบัญชีแดงไอยูซีเอ็นระบุสิ่งมีชีวิตในทะเลกว่า 1,550 ชนิด หรือเกือบ 10% มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์

วันที่ 7 มิถุนายน 2566 โลกใบนี้ประกอบด้วยมหาสมุทรถึง 3 ใน 4 ส่วน มนุษยชาติพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากทะเลอย่างมหาศาล แต่เมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่และความลึกที่มอบให้มนุษย์ มหาสมุทรกลับได้รับเพียงเศษเสี้ยวของความสนใจ การสำรวจเพียงไม่กี่ส่วน และการตอบแทนที่น้อยนิดจากมนุษย์โลก

เนื่องในวันทะเลโลก 8 มิถุนายน องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น จึงกำหนดธีม “Planet Ocean : Tides are Changing” หรือ “เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม” เป็นคอนเซ็ปต์หลักในการรณรงค์ อนุรักษ์ และตระหนักถึงความสำคัญของมหาสมุทร

“วันทะเลโลก” หรือ “วันมหาสมุทรโลก” (World Ocean Day) มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมสุดยอดระดับประเทศผู้นำว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development : UNCEN) โดยสมาชิกกว่า 178 ประเทศ ณ กรุงริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เพื่อให้ภาครัฐ เอกชน ตลอดจนองค์กรต่าง ๆ เผยแพร่ความรู้ รณรงค์ พร้อมจัดกินกรรมให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงการปกป้องและรักษาทะเล

จนกระทั่งในปี 2551 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาตินำโดยแคนาดาจึงมีมติสมัชชาที่ 63/111 กำหนดให้วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปีเป็น วันมหาสมุทรโลก หรือวันทะเลโลก โดยเริ่มต้นจัดกิจกรรมในการอนุรักษ์ทะเลและมหาสมุทรจากประเทศต่าง ๆ อย่างพร้อมเพรียงกันในปี 2552

สำหรับธีมของวันมหาสมุทรโลกครั้งแรกโดยองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2552 คือ “มหาสมุทรของเรา ความรับผิดชอบของเรา” (Our Oceans, Our Responsibility)

การปฏิบัติตามกฎระเบียบ หน้าที่ ตลอดจนขอบเขตของวันมหาสมุทรโลกขยายวงกว้างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดย “นายบัน คี มูน” เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น สะท้อนให้เห็นผ่านข้อกังวลอันหลากหลายที่แสดงออกมาในปี 2551 ครอบคลุมทั้งการดำเนินการตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล, พื้นที่ทางทะเล, การขนส่งระหว่างประเทศ, ความมั่นคงทางทะเล, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล, ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล, สิ่งแวดล้อมทางทะเลและการพัฒนาที่ยั่งยืน, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

“การถือปฏิบัติครั้งแรกของวันมหาสมุทรโลกช่วยให้เราสามารถเน้นถึงแนวทางต่าง ๆ ที่มหาสมุทรมีส่วนช่วยเหลือเรา นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่จะตระหนักถึงความท้าทายมากมายที่ต้องเผชิญในการรักษาความสามารถเกี่ยวกับการควบคุมสภาพอากาศโลก จัดหาบริการที่จำเป็นต่อระบบนิเวศ ตลอดจนจัดหาวิถีชีวิตที่ยั่งยืนและปลอดภัย” อดีตเลขาธิการสหประชาชาติกล่าว

ทะเล
ภาพจาก pixabay

สิ่งมีชีวิตในทะเลเกือบ 10% เสี่ยงสูญพันธุ์

สำนักข่าว REUTERS เผยแพร่รายงานจากบัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN Red List) สถาบันหลักที่มีอำนาจในการระบุฐานะและสถานภาพต่าง ๆ ของสปีชีส์ โดยระบุว่า ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงมลพิษทำให้ชีวิตสัตว์ทะเลถูกทำลายล้าง เกือบ 1 ใน 10 ของพืชใต้น้ำและสัตว์อยู่ในภาวะถูกคุกคามซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

“อันโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ยุติการทำลายล้างอย่างบ้าคลั่งนี้ รวมทั้งผ่านข้อตกลงเพื่อยุติและฟื้นฟูการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ประเมินว่าพืชและสัตว์ทะเลกว่า 1,550 ชนิดจากทั้งหมด 17,903 ชนิดมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์

“นายเครก ฮิลตัน-เทย์เลอร์” หัวหน้าฝ่ายบัญชีแดงของ IUCN กล่าวว่า มันแสดงให้เห็นว่าเรากำลังสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อสัตว์ทะเล ทุกคนมองไม่เห็นหรอกว่าจริง ๆ ใต้ผืนน้ำเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้น การประเมินสถานะของสปีชีส์นี้จะทำให้เราทราบได้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น และนั่นไม่ใช่ข่าวดี

อีกทั้งสัดส่วนของสัตว์ทะเลที่ใกล้จะสูญพันธุ์มีแนวโน้มสูงกว่าข้อมูลปัจจุบันที่แสดงไว้มาก สถานะที่น่ากลัวของสัตว์เหล่านี้น่าจะทำให้เราตระหนักและขอให้เราดำเนินการอย่างเร่งด่วน

IUCN ยกตัวอย่างสถานะของ “หอยเป๋าฮื้อ” ที่ถูกนำมาเป็นอาหารทะเลหรูหรา โดยมีการสำรวจเป็นครั้งแรกและพบว่าประมาณ 44% ของสัตว์ชนิดนี้กำลังเผชิญการสูญพันธุ์เนื่องจากคลื่นความร้อนในทะเลที่รุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งทำให้พวมันเกิดโรคและแหล่งอาหารถูกทำลาย

ส่วน “ปะการังเสา” (Dendrogyra cylindrus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ในทะเลแคริบเบียนที่มีลักษณะคล้ายหินย้อยก็ถูกระบุสถานะจาก สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (vulnerable) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically endangered) โดยจำนวนประชากรลดลงกว่า 80% ตั้งแต่ปี 2533 เนื่องจากโรคและการฟอกขาว

นอกจากนี้ IUCN ยังระบุถึงประชากร “พะยูน” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินพืชสีเทาตัวอวบอ้วน ที่ปัจจุบันจำนวนตัวโตเต็มวัยลดลงเหลือน้อยกว่า 250 ตัวในแอฟริกาตะวันออก และน้อยกว่า 900 ตัวในนิวแคลิโดเนีย (อาณานิคมฝรั่งเศส) ทางตะวันออกของออสเตรเลีย ท่ามกลางภัยคุกคามที่กำลังเผชิญทั้งการสูญเสียแหล่งอาหารหลักซึ่งก็คือหญ้าทะเล เนื่องจากการสำรวจและผลิตน้ำมันรวมทั้งก๊าซธรรมชาติในแอฟริกา และมลพิษจากการทำเหมืองนิกเกิลในมหาสมุทรแปซิฟิก

สำหรับประเทศไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่าในปี 2565 พบพะยูนประมาณ 273 ตัว แบ่งเป็น ฝั่งอ่าวไทยประมาณ 31 ตัว และฝั่งทะเลอันดามัน 242 ตัว แม้ประชากรพะยูนมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ยังมีการเกยตื้นหรือพบการตายของพะยูนอยู่ทุกปี ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วย ลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ เงี่ยงปลากระเบนแทง ถูกกระแทกด้วยของแข็ง อุบัติเหตุ และเครื่องมือประมง

พะยูน
ภาพจาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง

สัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย

ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ประเทศไทยมีสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ โดยในช่วง 15 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2546-2560 พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวม 3,702 ตัว และมีแนวโน้วการเกยตื้นเพิ่มขึ้น โดยพบมากที่สุดในปี 2560 จำนวน 566 ครั้ง รองลงมาในปี 2559 จำนวน 449 ครั้ง และมีสัดส่วนของสัตว์ทะเลที่เกยตื้นมากที่สุด คือ เต่าทะเลร้อยละ 54.1 โลมา-วาฬร้อยละ 40.8 และพะยูน ร้อยละ 5.1 ตามลำดับ

ทั้งเต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ โดยมีผลครอบคลุมไปถึงไข่ ซาก ตลอดจนชิ้นส่วนต่าง ๆ โดยเต่าทะเลทุกชนิด พะยูน และโลมาอิรวดี อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งจึงจัดอยู่ในรายชื่อ CITES บัญชี 1 ส่วนโลมา วาฬ และฉลามวาฬ จัดอยู่ใน CITES บัญชี 2

โดยสาเหตุการตายของเต่าทะเล พะยูน เกิดจากเครื่องมือประมง อวน รวมทั้งใบพัดเรือถึง 80% ส่วนโลมาและวาฬเกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ 65%

ทั้งนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมจัดกิจกรรมวันทะเลโลก ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม” (Planet Ocean : Tides are Changing) โดยมีกำหนดจัดงาน ในวันที่ 8 มิถุนายน ณ ลานหินขาว ต.ตะพง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง มีการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานต่าง ๆ และกิจกรรมมากมาย เช่น กิจกรรมเก็บขยะชายหาด, กิจกรรมดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล, การเปิดตัวโครงการความร่วมมือในการจัดการขยะทะเลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบริเวณปากแม่น้ำ 3 พื้นที่ ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำตรัง เป็นต้น

พะยูน
ภาพจาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง
พะยูน
ภาพจาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง