วันสิ่งเเวดล้อมโลก 2566 เมื่อมลพิษจากขยะพลาสติกกำลังเป็นปัญหาใหญ่ ยูเอ็นกำหนดธีม “รักษ์โลก ลดพลาสติก” #BeatPlasticPollution สร้างความตระหนักรู้ มุ่งสู่การใช้พลาสติกแบบยั่งยืน
วันที่ 5 มิถุนายน 2566 วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮล์ม โดยมีรัฐบาลสวีเดนเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน 2515 เพื่อให้เกิดความตื่นตัวและตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก
ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ และมีผู้สังเกตการณ์จากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชน อีกกว่า 1,500 คน การประชุมครั้งนี้ถึงถูกเรียกว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” (UN Conference on the Human Environment)
ผลจากการประชุมครั้งนี้ทำให้เกิดข้อตกลงหลายประการ เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ มีการจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP : United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ ก็ได้จัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน
องค์การสหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day
เพื่อให้เป้าหมายบรรลุผล โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จึงมีหน้าที่ติดตามและประเมินผลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมโดยได้กำหนดวิธีการไว้ดังนี้
- สร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และให้การศึกษากับประชาชนและนักศึกษาทั่วไป
- ให้การสนับสนุนทางวิชาการและเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
- เสริมสร้างให้สถาบันและคนในสถาบันตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
สำหรับประเทศไทย เพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมที่ให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งเเวดล้อม จึงได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518 และก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2518 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
รักษ์โลก ลดพลาสติก
องค์การสหประชาชาติ โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้กำหนดให้ “รักษ์โลก ลดพลาสติก” #BeatPlasticPollution เป็นธีมสำหรับวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2566 เพื่อมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ที่ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี และเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาก๊าซเรือนกระจก
UNEP ระบุว่า โลกกำลังเต็มไปด้วยพลาสติกที่มีการผลิตมากกว่า 400 ล้านตันทุกปี โดยครึ่งหนึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ในจำนวนนี้ถูกรีไซเคิลน้อยกว่า 10% ทำให้ขยะพลาสติกประมาณ 19-23 ล้านตันมีปลายทางอยู่ที่ทะเลสาบ แม่น้ำ และมหาสมุทร นอกจากนี้ยังถูกเผาไหม้เป็นควันพิษ หนึ่งในภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อโลก
ที่เลวร้ายไปกว่านั้นและยังไม่ค่อยมีใครรู้ คือ ไมโครพลาสติกสามารถเข้าไปในอาหาร น้ำดื่ม หรือแม้แต่อากาศที่ใช้หายใจ โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายชนิดมีสารเติมแต่งที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพ
แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีและแนวทางแก้ไขเพื่อกำจัดปัญหาดังกล่าวมากขึ้น แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการร่วมมือของทุกคนและการดำเนินงานที่จริงจังจากภาครัฐบาล เอกชน องค์กรต่าง ๆ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตนี้และแสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนเรียนรู้ที่จะใช้วัสดุเหล่านี้อย่างยั่งยืนมากขึ้นได้อย่างไร
สำหรับประเทศไทยได้ประกาศแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) โดยกรมควบคุมมลพิษระบุว่า จะลดพลาสติกที่จะเข้าสู่ระบบฝังกลบลง 100% เพิ่มพลาสติกให้เข้าสู่ระบบรีไซเคิล 100% และลดขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเลลง 50% โดยมีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 เครื่องมือ
แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
- เป้าหมายที่ 1 – ลดพลาสติกเป้าหมายที่จะเข้าสู่ระบบฝังกลบลดลง 100% ในปี พ.ศ. 2570
- เป้าหมายที่ 2 – เพิ่มพลาสติกเป้าหมายให้เข้าสู่ระบบรีไซเคิล 100% ในปี พ.ศ. 2570
- เป้าหมายที่ 3 – ลดขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเลลง 50% ในปี พ.ศ. 2570
- เป้าหมายที่ 4 – มีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 เครื่องมือ
พลาสติกเป้าหมาย 5 ประเภท
- ขวดพลาสติก
- ฝาขวด
- บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว
- ถุงพลาสติกหูหิ้ว
- ถ้วย/แก้วพลาสติก
โกตดิวัวร์ กับ เนเธอร์แลนด์ เป็นเจ้าภาพ
สำหรับวันสิ่งเเวดล้อมโลกปี 2023 เป็นเจ้าภาพโดยประเทศ “โกตดิวัวร์” และ “เนเธอร์แลนด์” โดยโกตดิวัวร์แสดงความเป็นผู้นำในการรณรงค์ต่อต้านมลพิษจากพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2014 ผ่านการห้ามใช้ถุงพลาสติกและสนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำได้ ทำให้ “อาบีจาน” เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศได้กลายเป็นศูนย์กลางสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
“Jean-Luc Assi” รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของโกตดิวัวร์ กล่าวว่า มลพิษจากพลาสติกเป็นภัยคุกคามที่มองเห็นได้ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกชุมชน และเราภูมิใจที่ได้สนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่หลากหลายสำหรับการแพร่กระจายของมลพิษพลาสติก
วันสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ดำเนินการอย่างจริงจังตลอดวงจรของพลาสติก ทั้งเป็นผู้ลงนามใน “New Plastics Economy Global Commitment” และเป็นสมาชิกของ “Global Partnership on Plastic Pollution and Marine Litter”
“Vivianne Heijnen” รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า มลพิษจากพลาสติก ผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในขณะเดียวกัน เราต้องการวิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง มีประสิทธิภาพ และแข็งแกร่ง
ในฐานะส่วนหนึ่งของนโยบายต่าง ๆ ที่มุ่งเป้าไปที่พลาสติก เนเธอร์แลนด์และประชาคมยุโรปโดยรวมมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะลดการผลิตและการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งต้องถูกแทนที่ด้วยทางเลือกยั่งยืน
อ้างอิง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- กฟผ.จัดงานวันสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหาโลกรวน มุ่งสู่ Net Zero
- เติมน้ำมันบางจากรับข้าวลดโลกร้อน ต้อนรับวันสิ่งแวดล้อมโลก
- ยูนิโคล่เปิดตัวคอลเล็กชั่น โดราเอมอน โหมดความยั่งยืน รับวันสิ่งแวดล้อมโลก
- จังซีลอน ชวนชมนิทรรศการศิลปะจากขยะ รับเดือนสิ่งแวดล้อม-วันทะเลโลก
- 5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก…ทรู-ดีแทค เปิดแนวทางรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ทุกพื้นที่ทั่วไทย