“ประยุทธ์ 2” อยู่หรือคว่ำ!! เช็กโปรไฟล์ 10 รัฐมนตรีทีมปากท้อง กู้เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับ

ปัจจัยชี้ขาด ในการอยู่-การไปของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 สมัยที่ 2 คือการแก้ปมปัญหาเศรษฐกิจ

ที่ขณะนี้ถือว่าเครื่องยนต์ด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับ “เกือบดับ” แทบทุกตัว

ทั้งการส่งออกที่เข้าสู่จังหวะ “ติดลบ” การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ดำเนินการได้แค่ 50 %  เพราะการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ส่งผลต่อการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต้องเลื่อนจ่ายออกไป 3-4 เดือน

รายได้จากการท่องเที่ยว ที่เคยเป็นกอบ-เป็นกำ อยู่ในจังหวะชะลอตัว ด้วยสารพัดปัจจัยลบ ทั้งสงครามการค้า ปัญหานักท่องเที่ยวจีนไม่ปลอดภัย ข่าวเรือล่ม ยังหลอนจิต

ขณะที่อัตราการแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทที่แข็งค่า เกินกว่าเพื่อนบ้าน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงทันตาเห็น

โปรไฟล์ “ทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” จึงท้าทายและสะท้อนว่า พวกเขาเหล่านี้ จะท้าพิสูจน์ฝีมือในการตอบโจทย์-แก้ปมปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ติดหล่ม อยู่ในวันนี้ได้หรือไม่

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ รวม 10 คน ประกอบด้วย

  1. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์เป็นรองนายกรัฐมนตรี
  2. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  3. นายอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  4. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  5. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  6. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
  7. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  8. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  9. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  10. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

“สมคิด” ดับเบิ้ล 2 สมัย-คนที่ทักษิณแค้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 1 ใน “ผู้จัดการรัฐบาล-ผู้มีบารมีในทำเนียบ” เป็นรองนายกรัฐมนตรี ถัดจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล “สมคิด” คือ เจ้าของนโยบายเศรษฐกิจ “ประชารัฐ” กุมทุกเซกเตอร์เศรษฐกิจ-ล้วงเศรษฐกิจรากหญ้า ลึกจนถึงโครงการเมกะโปรเจ็กระดับแสนล้านในยุครัฐบาล-คสช.

เป็นประธานที่ปรึกษา-กุนซือเศรษฐกิจคสช.  เป็น 1 ใน 15 สมาชิกคสช. และ เป็น 2 พลเรือนที่อยู่ในวงท็อปบู๊ต (พลเรือนอีกคน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์)

ก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองในตำแหน่งเลขานุการ รมว.คลัง (นายทะนง พิทยะ) ในยุครัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ร่วมงานกับ “ทักษิณ ชินวัตร”  ครั้งแรก ในฐานะ “ที่ปรึกษารมว.ต่างประเทศ-ที่ปรึกษารองนายก ฯ”

เป็น 1 ใน 23 ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดครั้งแรกในตำแหน่ง “รองนายกฯ ควบรมว.คลัง” ในยุคไทยรักไทยเรืองอำนาจ

เป็น “ขุนพลเศรษฐกิจ” ในตำแหน่งรองนายก ฯ ควบ “ขุนคลัง” และรมว.พาณิชย์ อยู่ในโผครม.ทักษิณ 1-2 ตลอดการปรับครม. 10 ครั้ง อยู่เบื้องหลังนโยบาย “ประชานิยม” ของรัฐบาลไทยรักไทย ก่อนถูกปฏิวัติกลางอากาศ 19 ก.ย. 49

หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 “สมคิด” ลาออกจากพรรคไทยรักไทย-ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จากการคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักไทย

ทว่า “สมคิด” ยังเคลื่อนไหวหลังม่านเหตุการณ์ก่อการ-ตั้งพรรคการเมืองเป็นระยะ ปรากฏชื่อ เป็น 1 ในสมาชิก “กลุ่มมัชฌิมา” และที่ปรึกษาก่อตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา

รวมถึงแกนนำกลุ่ม “8 ส.+ ส.พิเศษ” ประกอบด้วย 1.ส.สมศักดิ์ เทพสุทิน 2.ส.สมคิด 3.ส.สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล 4.ส.สุวิทย์ คุณกิตติ 5.ส.สุวัจน์ ลิปตพัลลภ 6.ส.สุรนันทน์ เวชชาชีวะ 7.ส.สนธยา คุณปลื้ม และ 8.ส.สรอรรถ กลิ่นประทุม กับอีก 1 ส.พิเศษ ส.สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ช่ำชองในการเรื่องกลยุทธ์สร้างภาพลักษณ์ สไตล์ “นักการตลาด” ทำให้ “สมคิด” ออร่าจับเป็น “แคนดิเดตนายก ฯ” ถัดจากทักษิณ-อยู่ในสป็อตไลท์ทุกช่วงตอนที่ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤต

ปัจจุบันถูกระบุเป็นแกนนำ “กลุ่มสามมิตร” รุ่นบุกเบิก ก่อน ส่ง “4 กุมาร” ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ

“จุรินทร์” เจ้าพ่อประกันราคาสินค้าเกษตร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8” ในยุค “รีบิลด์” กอบกู้ “พรรคเก่าแก่” จากวิกฤต “พรรคต่ำร้อย”

ประกาศจะผลักดันนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรแบบเต็มสูบ

เป็นอดีตรมช.พาณิชย์-เกษตร ฯ สมัย “รัฐบาลชวน 1” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายก ฯ สมัย “รัฐบาลชวน 2” และรมว.ศึกษาธิการ-สาธารณสุขในยุค “รัฐบาลอภิสิทธิ์”

บนเวทีฝ่ายนิติบัญญัติผันตัวเองจากนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์และ “การ์ตูนนิสต์” นามปาก “อู๊ดด้า” ลงสังเวียนการเมืองในปี 2529 และคว้าตำแหน่ง “ส.ส.ดาวรุ่ง” ส.ส.หน้าใหม่แห่งปี นักการเมืองอาชีพมากกว่า 3 ทศวรรษ ภักดีกับพรรคเดียว

ติดทำเนียบ ส.ส. 11 สมัย ก่อนจะสะสมวิชาจนแกร่งกล้าจนได้เป็นทั้งประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)  และ “รมว.พลังงานเงา”

“อุุตตม” โคลนนิ่ง “ขุนคลัง”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร “คนสุดท้าย” และรมว.อุตสาหกรรม ในรัฐบาล-คสช. ก่อนจะตั้ง “ก๊กสี่กุมาร”  ที่กุมบังเหียนหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

เริ่มฝึกปรือ “วิชาการเมือง-การคลัง” ในฐานะที่ปรึกษา “ขุนคลัง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จนนับถือนายสมคิดเสมือนเป็น “ศิษย์-อาจารย์”

มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า “อุตตม” รอดพ้นจากวิบากกรรม “คดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย” ได้ เพราะ “สมคิด” กัน “อุตตม” ซึ่งขณะนั้นเป็น 1 ในบอร์ดกรุงไทย ไว้เป็น “พยาน”

ความสัมพันธ์ระหว่าง “อุตตม” กับ “สมคิด” จึงเป็นมากกว่าศิษย์-อาจารย์ ที่ต้องทดแทน “หนี้บุญคุณ” ถึงขั้น “อุตตม” ต้องยอม “เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย” กระโดดลงมาประกอบนั่งร้าน-พรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นได้

“ทำไมต้องทำ ท่านสมคิดมีทางของท่าน ผมไม่จำเป็นต้องไปเสี่ยงเพื่อท่าน และท่านก็ไม่ต้องการให้ผมเสี่ยงเพื่อท่าน ผมก็ไม่มีความปรารถนาที่จะไปรับความเสี่ยงเหมือนกัน อยู่ที่ตัวผม อยู่ที่ตัวคนตัดสินใจ”อุตตมยืนกรานไม่ได้เป็น “แนวหน้าใคร” อ่านบทสัมภาษณ์อุตตมฉบับเต็มได้ที่นี่ https://www.prachachat.net/politics/news-236890

เฉลิมชัย เจ้าของฉายา “เขี้ยวลากดิน”

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สมัยที่ 2  อดีตรัฐมนตรีแรงงานในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็น “มือดีล” ฉายา “เขี้ยวลากดิน” นำประชาธิปัตย์ได้กระทรวงเกรดเอ-กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ เดิมพันอนาคตประชาธิปัตย์กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้า

อ่านบทสัมภาษณ์เฉลิมชัยฉบับเต็มที่นี่ https://www.prachachat.net/politics/news-341995

และ https://www.prachachat.net/politics/news-341856

เริ่มต้นชีวิตทางการเมือง จากการเป็น ส.จ.ประจวบคีรีขันธ์  ในปี พ.ศ. 2533 – 2543 เป็นประธานสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2538 – 2540 และเป็น ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ครั้งแรกในปี 2544 และติดต่อกัน 3 สมัย ในปี พ.ศ. 2548 และ 2550

เป็นคน “ใจถึง พึ่งได้” จนได้รับการสถาปนาเป็นหัวหน้า “กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย” ประกาศกลางวงสัมมนาส.ส. ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะปั้นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็น “ประมุขฝ่ายบริหาร” ในยุค “เฉลิมชัย คัมแบ็ค” ให้ได้

ศักดิ์สยาม น้องในไส้ “พี่เนวิน”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นน้องแท้ๆ ของ “เนวิน ชิดชอบ” อดีตปลัดอำเภอ-ส.ส.บุรัมย์ พรรคชาติไทย-ไทยรักไทย

ยังไม่เคยได้เป็นรัฐมนตรี แต่ก็มีดีกรีเป็น “หัวหน้าคณะทำงาน รมว.มหาดไทย” ในยุคที่ “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” เป็น มท.1ขับเคลื่อนงานลับ งานรุกทั้งใต้ดิน – บนดิน จนได้รับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ครั้งแรก ด้วยการ “พาสชั้น” ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกรดเอ

สุริยะ ขาใหญ่สามมิตร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ “หัวแถว” – ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสานพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มสามมิตร

“สุริยะ” เคยประกาศออกอากาศว่าจะ “ไม่รับตำแหน่งทางการเมือง” แต่มาถอนคำพูดในภายหลัง จนทำให้เกิดศึกแย่งชามข้าว ระหว่าง 3 ก๊กในพรรคพลังประชารัฐ ดุเดือดถึงกันขอทบทวนท่าทีการร่วมงานกับพล.อ.ประยุทธ์

มิหน้ำซ้ำยังขับไล่นายสนธิรัตน์ออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค ก่อนถูก “ผู้มีบารมีนอกพรรค” ทุบโต๊ะ “ทวงเงิน” และเช็กกำลัง ส.ส.มุ้งสามมิตร นับได้อยู่กับสุริยะเพียง 8 คน เป็นอันว่าเลิกงอแง-แล้วแต่ท่านผู้นำ

ท่องยุทธจักรการเมืองทั้งหน้าม่าน-หลังม่านตลอด 2 ทศวรรษ เริ่มเข้าสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2540 ในตำแหน่งรมช.อุตสาหกรรม สมัย “รัฐบาลชวน 2” นามพรรคกิจสังคม

รุ่งโรจน์ในยุคไทยรักไทย ในฐานะแม่บ้าน-เลขาธิการพรรค นั่งตำแหน่งฝ่ายบริหารสำคัญ ทั้งอดีตรองนายก ฯ -รมว.คมนาคม-รมว.อุตสาหกรรมใน “รัฐบาลทักษิณ”

ก่อนจะซุกปีกพรรคภูมิใจไทย หลังจาก “ดวงแตก” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี-หิ้วกระเป๋าเข้าบ้านเลขที่ 111 มาฟื้นคืนชีพในยุคพลังประชารัฐ-หัวหน้ามุ้งกลุ่มสามมิตร

ในโลกธุรกิจ “สุริยะ” คร่ำวอดอยู่ในบอร์ดสำคัญ ๆ ภาคเอกชน อาทิ กรรมการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) กรรมการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิทอิเล็กทรอนิกส์ คอมโพเนนท์ จำกัด

ประธานกรรมการบริษัท ซัมมิท แอดวานซ์ แมททีเรียล จำกัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอโดซีพ อินดัสตรี จำกัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมมิท โอโตบอดี้ อินดัสตรี จำกัด กรรมการบริหาร บริษัท ซัมมิท ไพน์เฮิร์สท กอล์ฟ แอนด์ คันทรีคลับ จำกัด

บาดแผลจากการ “โลดโผน” ทางการเมือง จนคราบมลทิน-ชนักปักหลัง ทั้งที่สลัดหลุด-ไม่หลุด เช่น สมัยเป็น รมว. คมนาคม ปี 2548 ถูกซักฟอก-ไม่ไว้วางใจกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000

นายสุริยะถูกวิจารณ์ว่า อ่านตามสคริปต์ทุกถ้อยคำ ไม่เว้นแม้กระทั่ง “พุทโธ่ เป็นเพียงข้อมูลเก่า” ตามสคริปต์ของนายเนวิน ชิดชอบ แต่ “เสียงข้างมาก” ลงมติไว้วางใจ ก่อนถูกโยกไปนั่งเป็นรองนายกฯ ควบ รมว. อุตสาหกรรมแทน และในปี 2555 ป.ป.ช. ก็มีมติยกคำร้อง เป็นอันว่าพ้นข้อกล่าวหาทั้งในทางการเมือง-ทางกฎหมาย

ทว่า “ชนักปักหลัง” ที่ยังสลัดมาหลุด คือ “คดีสินบนโรลส์รอยซ์” ภายหลังเมื่อปี 2560 บริษัทโรลส์-รอยซ์ รับสารภาพต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ว่า ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2534-2548 จำนวน 3 ครั้ง วงเงินกว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องยนต์ T-800 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในยุคที่ “สุริยะ” เป็น รมว.คมนาคม

พุทธิพงษ์ หัวหน้าก๊ก กทม.-กปปส.

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง-อดีตโฆษกรัฐบาลในยุครัฐบาล-คสช. ประกบ “พล.อ.ประยุทธ์” บนตึกไทยคู่ฟ้าช่วงสั้น ๆ ก่อนจะมาร่วมหัวจมท้ายในพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 3 พ่วงประธานยุทธศาสตร์กทม.

ฝากผลงานทางการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มต้นจากเป็นที่ปรึกษารองนายก ฯและผู้ช่วย ส.ส. (อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ) ในปี 2544  ก่อนจะลงสมัคร ส.ส.กทม. เขตพญาไท ในปี 2545

สร้างฐานคะแนนในพื้นที่กทม.ในตำแหน่ง “โฆษกกทม.” สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ  ก่อนจะขยับเป็น “รองผู้ว่า ฯ กทม.” ในปี 2549

เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คนที่ 1) – ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรมใน “รัฐบาลอภิสิทธิ์” เพราะเคยรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ก่อนจะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์-เป็น 1 ใน 9 ส.ส.ปชป.- อดีตแกนนำกปปส. ทิ้งที่นั่งในสภา ลงอภิปรายรัฐบาลยิ่งลักษณ์บาท้องถนนอดีตแกนนำ จนมี “คดีติดตัว” ในข้อหา “กบฏ” และความผิดอื่น รวม 8 กระทง

พิพัฒน์ สามี นาที รัฐมนตรีสปอนเซอร์

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อาจเรียกได้ว่า “ส้มหล่น” เพราะได้รับเก้าอี้แทน  “นาที รัชกิจประการ” ภรรยาที่ถูกวางตัวไว้เป็น รมว.ท่องเที่ยวฯ แต่ด้วยภรรยามีโปรไฟล์เป็นพิษเรื่องไม่แจ้งบัญชีหนี้สินของสามีตอนที่เป็น ส.ส.จึงถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดและส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทั่งศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริง เมื่อ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่ามีความผิดจริง สั่งจำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ส่วนคำขอให้ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีนั้นให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมปี 2556

ผู้ก่อตั้งและเจ้าของสถานีบริการน้ำมันพีที (พีทีเอ็นเนอร์จี) ฐานที่มั่น-กำลังการเมืองอยู่ภาคใต้ เพราะนางนาทีเคยเป็น ส.ว. พัทลุง-ส.ส. บัญชีรายชื่อ-ประธานกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด-ประธานสมัชชาสตรีจังหวัด และตามรอยโมเดลกีฬากับการเมืองโดยจัดตั้งสโมสรฟุตบอลพัทลุง เอฟซี – สโมสรฟุตบอลจังหวัดพัทลุง ในปี 2552

 คุณชายเต่า ทัพหน้าลุงกำนัน

ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย – ราชนิกูลในรัชกาลที่ 4 โควตารัฐมนตรีของพรรค 5 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย ตามประวัติที่มีการโจษขาน เป็นประเภท “ยอมหัก – ไม่ยอมงอ” เคยลาออกจากราชการ ในรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เพราะถูกย้ายจากปลัดกระทรวงการคลัง ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะขัดแย้งด้านนโยบายการคลังกับ “บิ๊กจิ๋ว” ผู้เป็นนายกฯ

กระทั่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในรัฐบาล “ชวน หลีกภัย” และถูกปลดจากผู้ว่าแบงก์ชาตีอกครั้งในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลทักษิณ ก่อนจะเล่นการเมืองในพรรคร่วมพลังประชาชาติไทย ทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าพรรค” เคียงข้าง “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ กำเนิดพรรค 5 เสียงในสนามเลือกตั้ง 2562

เริ่มรับราชการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมสรรพากรและปลัดกระทรวงการคลัง ในปี 2540

 สนธิรัตน์ ผู้จัดการรัฐบาลเงา

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตรมช.-รมว.พาณิชย์ ในรัฐบาล-คสช. และเป็นอดีต สปช.-สปท. ในแม่น้ำ 5 สาย ก่อนจะลาออกจากทุกตำแหน่งมานั่งเป็นแม่บ้าน-เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ สังกัดก๊ก “สี่กุมาร”

“สนธิรัตน์” หมายมั่นปั้นมือว่า การเป็นพรรคการเมืองจะสามารถเชื่อมโยงกับประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาปากท้อง

“จุดอ่อนของรัฐบาลทหารที่ผ่านมา คือ ไม่มีโอกาสเชื่อมโยงกับเสียงของประชาชนโดยตรง ฉะนั้น นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาจึงไม่ได้สอดรับกับเสียงของประชาชน”

“พรรคเชื่อมั่นว่าการเชื่อมกับเสียงของประชาชนโดยผู้แทนของเราที่จะลงไปกับการเชื่อมโยงของเก่าที่ดำเนินการไปแล้ว โดยผสานสองสิ่งจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เร็วกว่าพรรคการเมืองอื่น”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่ https://www.prachachat.net/politics/news-292755

สร้างตัว-สร้างชื่อจากนักธุรกิจ “ไซน์เล็ก” คลุกฝุ่นในแวดวง SMEs ธุรกิจผจญกับมรสุมวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 แต่ลุกขึ้นมาทรงตัวและเบนเข็มมุ่งธุรกิจขายตรง MLM ภแบรนด์ “เดอะไรท์พาวเวอร์” พลิกผลประกอบการเป็นบวกหลักพันล้าน

เป็นอดีตประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โชว์ฝีมือ “นักบริหารมืออาชีพ” โดยการเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างธุรกิจโรงพยาบาลยันฮีพ้นวิกฤติ

“สมคิด” เป็นผู้ชักจูง “สนธิรัตน์” เข้าสู่หนทางการเมือง ภายหลังเข้าไปเป็นประธานมูลนิธิสัมมาชีพ ที่นายสมคิด-นพ.ประเวศ วะสี เป็นผู้ก่อตั้ง

ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินในคราวพ้นจากตำแหน่งรมว.พาณิชย์ในรัฐบาล-คสช. มีทรัพย์สิน 144,401,978 บาท ไม่มีหนี้สิน เป็น “เซียนพระ” หาตัวจับยาก เพราะมีพระเครื่องสมเด็จระดับเบญจภาคี-พระเกจิวัดดัง 32 องค์ มูลค่า 30,300,000 บาท

ความฝันอันสูงสุดของ “สนธิรัตน์” ในฐานะเลขาธิการพรรค ที่เพิ่งถูก “ขับไล่” ออกจากพรรค คือ การทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็น “สถาบันทางการเมือง”

“ผลการเลือกตั้งไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในฐานะที่ผมเป็นเลขาธิการพรรค พรรคพลังประชารัฐต้องตั้งตัวเป็นสถาบันหลักของประเทศให้ได้”

 

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่…โปรดเกล้าฯ ครม.พล.อ.ประยุทธ์2 “ม.ร.ว.จัตุมงคล-แรงงาน “ร.อ.ธรรมนัส” รมช.เกษตรฯ