หั่นกำไร 6 โรงกลั่น ก.ค.ต้องได้ข้อสรุป สุพัฒนพงษ์ แย้ม 2 แนวทางแก้ไข

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน

สุพัฒนพงษ์ เผย เจรจาหั่นกำไร 6 โรงกลั่น เข้ากองทุนน้ำมัน ก.ค.ต้องได้ข้อสรุป แย้ม 2 แนวทาง ใช้กฎหมาย-ขอความสมัครใจ กระตุกต่อมธรรมาภิบาลบริษัทที่ดี “จะยั่งยืนอยู่ได้ ไม่ใช่ตัวเองจะร่ำรวยอยู่คนเดียว” ฉุน ถูกถามขอบริจาค ลั่น “ไม่เคยเที่ยวไปขอใคร”

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าหารือระหว่างคณะทำงานเจรจาของกระทรวงพลังงานกับ 6 บริษัทโรงกลั่น เพื่อนำเงินส่วนต่างค่าเฉลี่ยการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื่อเพลิง ว่า ยังเป็นสัญญาณที่ดี เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุย การประชุมยังไม่ได้ล้มเลิก เชื่อว่ากลุ่มโรงกลั่นจะพิจารณาไปในทางที่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อติดขัดของ 6 บริษัทโรงกลั่นที่เป็นสาเหตุให้การพูดคุยไม่ได้ข้อสรุปคืออะไร นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า บริษัทโรงกลั่นได้หยิบยกประเด็นข้อกฎหมายขึ้นมา ซึ่งคณะทำงานก็รับประเด็นไปและรวบรวมประเด็นนำไปสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า แนวทางการพิจารณามีอยู่ 2 แบบ แบบแรก การใช้กฎหมาย ซึ่งบริษัทโรงกลั่นยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของกฎหมาย ดังนั้นการไปบังคับแล้วผิดข้อกฎหมาย ไม่ดี และ แบบที่ 2 ใช้วิธีการสมัครใจ หรือ บางกลุ่มบางบริษัททำได้ หรือ บริษัททั้งหมดทำได้ ยังต้องรอฟัง พยามยามให้ได้เร็วที่สุดภายในเดือนกรกฎาคมต้องเห็นผล

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะไปขอความร่วมมือให้โรงกลั่นเห็นใจในระยะเฉพาะหน้า 2-3 เดือน นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า อย่าไปเรียกว่า ขอความเห็นใจเลย เขาเป็นบริษัทอยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Index (DJSI) เพื่อความยั่งยืน

“ผมก็ไปนั่งอ่านเอกสารเขานะ บริษัทเหล่านี้เวลาทำธุรกิจ เขาไม่ได้ทำเพื่อกำไรสูงสุดอย่างเดียว เขาต้องคำนึงถึงสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมด้วย ปัจจัยยเหล่านี้สามารถอธิบายผู้ถือหุ้นได้อยู่แล้ว เรื่องใดถ้าจะทำแล้วอยู่ในระดับพอเหมาะพอควร ทำได้อยู่แล้ว เป็นนโยบายของแต่ละบริษัท ผมก็นั่งอ่านรายงานประจำปีของทุกบริษัท” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ในหลายประเทศ พบว่า การไป take action เรื่องการบังคับในสภาพตลาดเสรียากมาก แต่ถามว่า กฎระเบียบมีไหม ศึกษาอยู่ แต่ความร่วมมือดีที่สุด แม้สหรัฐฯยังเป็นการขอความร่วมมือจากประธานาธิบดี ในอังกฤษที่ดูเหมือนว่าจะมีกฎหมายภาษีก็ยังต้องใช้เวลา

“วิธีที่ดีที่สุด คือ ความสมัครใจ แต่ละบริษัทประกาศตนเป็นบริษัทเพื่อความยั่งยืน จะยั่งยืนอยู่ได้ ไม่ใช่ตัวเองจะร่ำรวยอยู่คนเดียว ต้องดูว่า ผู้บริโภค ผู้เกี่ยวข้องรอบข้างต้องไปได้ บริษัทเหล่านี้ ถ้าเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน ต้องคิดถึงว่าต้องไม่เอากำไรสูงสุดอย่างเดียว เป็นธรรมชาติของบริษัทที่ดีอยู่แล้ว”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวมื่อถามว่า ไม่ใช่การขอบริจาคเงินจากโรงกลั่นใช่หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า “ไม่เคยขอใคร เขาจะบริจาคก็บริจาค แต่เราไม่ได้เที่ยวไปขอใคร อยากจะให้เข้าใจ เดี๋ยวจะไปนึกว่า เราไปบังคับเขา ให้เขาพิจารณาเองว่า จะเป็นรูปแบบไหน”