อำลา เดอะ เพนนินซูล่า พลาซ่า จากห้างหรูแห่งแรก ๆ ถึงวันเกิดใหม่เป็นตึก 40 ชั้น

เพนนิซูล่า พลาซ่า
เพนนินซูล่า พลาซ่า ภาพจากเว็บไซด์ บริษัท ซี.อี.เอส. จำกัด

อำลา “เดอะ เพนนินซูล่า พลาซ่า” หลังปิดตำนานถาวร ก่อนเดินหน้าดูแผนงานผุดสิ่งใหม่ ย้อนดูที่มาที่ดินผืนงามบน ถ.ราชดำริ

วันที่ 20 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากห้างหรูหราระดับตำนาน “เดอะ เพนนินซูล่า พลาซ่า” ปิดตัวลงไปเมื่อปลายปี 2564

และล่าสุด มีรายงานจากสื่อบางสำนักว่า มีการแปะกระดาษพร้อมข้อความที่ระบุว่า “ประกาศปิดศูนย์การค้าเพนนินซูล่า พลาซ่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป” ถือเป็นการปิดฉาก-รูดม่านห้างสรรพสินค้าสุดหรูเจ้าแรก ๆ ในแถบถนนราชดำริ-ราชประสงค์ไปในที่สุด

กิตติศัพท์ของห้างหรูหราแห่งนี้ สื่อมวลชนหลาย ๆ สำนักระบุตรงกันว่า เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรก ๆ ที่นำสินค้าแบรนด์เนมสุดหรูจากต่างประเทศ มาเปิดจำหน่ายในเมืองไทย เช่น หลุยส์ วิตตอง เวอร์ซาเช่ เฟอร์รากาโม มอสชิโน โซเนีย ริเคีย โลเอเว่ ซีลีน เป็นต้น

อีกทั้งยังเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่บรรดาไฮโซ-ไฮซ้อมาพบปะพูดคุยกัน และเป็นที่ที่ประดับไฟในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น คริสต์มาสและปีใหม่ เป็นที่แรก ๆ ของประเทศ

นอกจากนั้น ยังเป็นศูนย์รวมดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหญ่ที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลก เช่น “ไข่ บูติก” (Kai Boutique) ของสมชาย แก้วทอง, ห้องเสื้อพิจิตรา ของพิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ และห้องเสื้อดวงใจ บิส ของกีรติ ชลสิทธิ์ ดีไซเนอร์ผู้ล่วงลับ เป็นต้น

อีกหนึ่งสิ่งที่ลืมไม่ได้ คือเป็นที่ตั้งของร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชื่อดังระดับรางวัลมิชลินปี 2564 “Mai-Mai” ที่บริหารงานโดย ชลิตา สาลีรัฐวิภาค บุตรสาว “พีระพันธุ์–สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค ” และหลานยาย ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ล่วงลับ

L&H รื้อทิ้ง ผุดตึกสูง

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ห้างแห่งนี้ต้องปิดตำนาน มติชน รายงานเอาไว้เมื่อเดือน ต.ค. 2564 ว่าเมื่อปี 2562 สำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สิน วชิราวุธวิทยาลัย เจ้าของที่ดินผืนนี้ ได้แต่งตั้งบริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนในการสรรหาผู้เช่าทรัพย์สิน

สำหรับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แปลงอาคาร “เพนนินซูล่า พลาซ่า” เนื้อที่กว่า 3 ไร่ โดยบริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด ในเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผู้เช่ารายเดิมเป็นผู้ชนะประมูล ได้สิทธิการพัฒนาระยะเวลา 30 ปี

แหล่งข่าวจากบริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด เปิดเผยกับ “มติชน” ว่า สัญญาเช่าเดิมจะหมดปลายปี 2565 แต่ในระหว่างนี้บริษัทเตรียมแผนการพัฒนาโครงการ จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะได้รับอนุมัติปลายปีหน้าและเริ่มเดินหน้าพัฒนาโครงการทันทีหลังได้รับมอบพื้นที่ จะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี

ที่ดินย่านถนนราชดำริ ที่ สำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สิน วชิราวุธวิทยาลัย จะนำออกมาเช่าเพื่อหารายได้ ซึ่งอาคารเพนนินซูล่า พลาซ่า รวมอยู่ในนี้ด้วย ภาพจากเว็บไซต์ โจนส์ แลง ลาซาลล์ (JLL)

เริ่มต้นจะรื้อถอนโครงสร้างเดิมออกทั้งหมด ใช้เวลา 8 เดือน จากนั้นสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ พัฒนาเป็น “โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ ราชดำริ 2” ระดับ 5-6 ดาว สูง 40 ชั้น จำนวน 509 ห้อง ประกอบด้วย ห้องพัก ห้องจัดเลี้ยง ห้องอาหาร และห้องสัมมนา ใช้เงินลงทุนหลาย 1,000 ล้านบาท

โดยตามแผนจะเริ่มก่อสร้างภายในต้นปี 2566 เปิดบริการในไตรมาส 3 ของปี 2569 รองรับกลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก

ส่วนโรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ ราชดำริ ที่อยู่ด้านหลังห้างแห่งนี้  ยังเหลือสัญญาเช่ากับวชิราวุธวิทยาลัยประมาณ 15-17 ปี

ย้อนดูตำนานที่ดินย่านราชดำริ

สำหรับที่มาของที่ดินผืนนี้ แม้จะไม่มีการระบุชัดเจนว่า แต่เดิมกลุ่มทุนใดเป็นเจ้าของ มีประวัติความเป็นมาในการก่อร่างสร้างพื้นที่อย่างไร?

หรือว่าก่อนหน้านี้เป็นอะไรมาก่อน แต่เว็บไซต์ วชิราวุธวิทยาลัย ระบุถึงที่มาที่ไปของที่ดินผืนนี้ไว้พอสังเขปว่า

ในปี 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จางวางตรี (ยศมหาดเล็กเทียบเท่าพลตรี) พระยาสราชสาสนโสภณ (สอาด ชูโต) ราชเลขานุการในพระองค์เชิญกระแสพระราชดำรัสแจ้งไปยังจางวางเอก (ยศมหาดเล็กเทียบเท่าพลเอก) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ความว่า

“มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ ว่า ที่ดินริมถนนราชดำริห์ ตำบลประทุมวัน แปลง 1 ดังปรากฏในแผนที่ ซึ่งกระผมได้ส่งมานี้ เปนของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) คือ เดิมได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงนครบาล (ปัจจุบันควบรวมอยู่ในกระทรวงมหาดไทย) เปนเจ้าน่าที่จัดซื้อจากราษฎรหลายราย และส่วนของพระคลังข้างที่ด้วย”

“มอบให้แก่กระทรวงธรรมการเพื่อจัดการปลูกสร้างโรงเรียนราชวิทยาลัย แต่บัดนี้โรงเรียนนั้นก็หาได้ปลูกสร้างขึ้นในที่นี้ไม่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่รายนี้ให้เปนที่ผลประโยชน์ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน) สืบไปแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใต้เท้าส่งโฉนดสำหรับที่รายนี้ไปยังกรมราชเลขานุการในพระองค์”

แผนที่กรุงเทพฯในปี 2474 ในสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินคือที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเพนนินซูล่า พลาซ่า ที่มาภาพจากเว็บไซต์ วชิราวุธวิทยาลัย

เมื่อกระทรวงธรรมการส่งโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว ไปยังกรมราชเลขานุการในพระองค์แล้ว ได้พระราชทานโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวแก่กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้มอบหมายให้กรมพระคลังข้างที่ไปจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนดังกล่าวจากกระทรวงธรรมการมาเป็นทรัพย์สินของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และได้มอบหมายให้กรมพระคลังข้างที่เป็นผู้จัดการผลประโยชน์ในที่ดินผืนนี้ในนามของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการแยกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2479 ที่ดินผืนนี้จึงมิได้ถูกโอนไปเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ทั้งที่กรมพระคลังข้างที่เป็นผู้รักษาโฉนดที่ดินผืนนี้เช่นเดียวกับที่ดินสวนกระจัง

หลังจากนั้น จึงมีการก่อสร้างอาคารในพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้เงินทุนจำนวน 100,000 บาท ที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝากไว้กับแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด (ธนาคารไทยพาณิชย์ ปัจจุบัน) เป็นเงินลงทุนในการก่อสร้าง

มอบหมายให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้างตึก 3 หลัง ขึ้นในที่ดินริมถนนราชดำริขึ้นก่อน

ตึกทั้ง 3 หลังนี้ เวลาต่อมามีผู้เช่าเป็นชาวต่างประเทศเช่าทั้งหมด และเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ในปี 2466 โรงเรียนมีรายได้จากค่าเช่าตึกทั้ง 3 หลังนี้เป็นเงินถึง 9,355 บาท และถึงแม้จะหักค่าภาษีโรงร้าน ค่าซ่อมบำรุงอาคารและค่าประกันอัคคีภัยแล้ว โรงเรียนก็ยังคงมีรายได้เหลือจากค่าเช่าบ้าน ทั้ง 3 หลังนั้นเป็นจำนวนเงินกว่า 6,000 บาท

ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยที่เคยได้รับจากแบงก์สยามกัมมาจลหลายเท่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภจัดการสร้างตึกเพิ่มเติมในที่ดินริมถนนราชดำริอีก 5 หลัง โดยเริ่มสร้างในปี 2466 สำเร็จในปี 2467 ค่าก่อสร้างทั้ง 2 คราว รวม 8 หลัง รวมทั้งค่าไฟฟ้า ประปา เขื่อน ถนน สนามและรั้วเป็นเงิน 345,874 บาท 9 สตางค์

แม้จะปิดให้บริการไปแล้ว แต่ตำนานความขลังในอดีตของที่นี่ จะอยู่ในความทรงจำเฉกเช่นเดียวกับห้างหลาย ๆ แห่งที่แม้เลิกกิจการไปก็ยังอยู่ในความทรงจำไปอีกนาน