EEC หนุนดีมานด์ที่ดินในนิคมอุตฯ

เกี่ยวก้อยไปกับ EEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด) ทางคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นำส่งผลสำรวจตลาดนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ณ ไตรมาส 1/61 พบว่า EEC เป็นปัจจัยบวกที่หนุนส่งการใช้ที่ดินในนิคมอุตฯปีนี้

 

โดยที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปี 2560 ขายได้ 3,300 ไร่ มูลค่าการลงทุน 83,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับยอดขายในปี 2559 ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ “ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา” สัดส่วน 80% ของยอดขายทั้งหมด

สำหรับในปี 2561 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) วางเป้าหมายปิดการขายที่ดินในนิคมอุตฯ 3,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 90,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากปี 2560 ล่าสุดในไตรมาส 1/61 สามารถปิดการขายแล้ว 800 ไร่ มูลค่าซื้อขาย 20,000 ล้านบาท คาดการณ์ในปี 2561 มีพื้นที่นิคมอุตฯเปิดใหม่ 4,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ EEC

ทั้งนี้ พื้นที่นิคมอุตฯในภาพรวม ณ ครึ่งปีหลัง 2560 ยอดสะสม 164,470 ไร่

เจ้าของนิคมอุตฯมีการชะลอเปิดขายเฟสใหม่ในช่วงปี 2558-2559 เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวและการลดลงของนักลงทุนต่างชาติ ปี 2560 มีนิคมอุตฯ 3,000 ไร่ที่เปิดขายใหม่ คาดว่า พื้นที่ EEC มีแนวโน้มอุปทานใหม่เพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ต้องใช้เวลา 1-3 ปีจึงจะเห็นผลชัดเจน

โดยภาพใหญ่ทั้งประเทศ พบว่าพื้นที่ภาคตะวันออกได้รับความนิยมมากที่สุด 56% และ 39% อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ในขณะที่อัตราการครอบครองพื้นที่เฉลี่ยในพื้นที่ภาคกลาง-ภาคตะวันออก 90% พื้นที่อื่น ๆต่ำกว่าชัดเจน โดยมีการขายหรือเช่าใหม่ในช่วงครึ่งหลังปี 2560 อยู่ที่ 1,500 ไร่ ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก

สำหรับราคาที่ดินในนิคมอุตฯ พบว่า “กรุงเทพมหานคร” สูงที่สุด เพราะเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้า มีทั้งท่าเรือ สนามบินนานาชาติ รองลงมาสมุทรปราการ ปทุมธานี

พื้นที่ EEC มีผลกระทบโดยตรงต่อราคาที่ดิน และที่ดินที่ยังเหลืออยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใน 3 จังหวัดนี้ บางจังหวัด เช่น สงขลา สระบุรี มีราคาที่ดินต่ำกว่ามาก เนื่องจากไกลออกไปจากกรุงเทพมหานครและท่าเรือ ทำให้มีที่ดินเหลือขายอยู่เป็นจำนวนมากสำหรับในปี 2561 ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายรายต่างพากันซื้อที่ดินเพิ่มเติมในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเตรียมนำมาพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่เพื่อดึงดูดนักลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์,

อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมประกอบจักรกล อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรม อย่างเช่น ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเม้นท์ ที่ร่วมทุนกัน และไออาร์พีซี ซื้อที่ดินประมาณ 2,152 ไร่ในอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ห่างจากตัวเมืองระยอง 20 กิโลเมตร ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด 36 กิโลเมตร และสนามบินอู่ตะเภา 50 กิโลเมตร โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่นี้จะมีชื่อว่า “นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง” เป็นต้น