สรพงศ์ ชาตรี พระเอกนักบุญ สร้างองค์สมเด็จโตใหญ่สุดในโลก

ภาพจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา

ย้อนเรื่องราวแรงศรัทธา “สรพงษ์ ชาตรี” ในการสร้างองสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อ 18 ปีที่แล้ว 

วันที่ 10 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรีพงษ์ เทียมเศวต หรือ “สรพงศ์ ชาตรี” นักแสดงระดับตำนาน เสียชีวิตแล้วในวัย 71 ปี ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จากโรคมะเร็งปอด ถือเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญในวงการบันเทิง

หลังเมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งสูญเสียนักแสดงสาวมากฝีมือ แตงโม-นางสาวนิดา พัชรวีระพงษ์ และนักแสดง นักร้องระดับตำนานอย่างอาต้อย-เศรษฐา ศิระฉายา เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับบทบาทของ “สรพงศ์ ชาตรี” นอกจากการเป็นนักแสดงเจ้าบทบาทแล้ว ครั้งหนึ่งเจ้าตัวเคยจับไมค์ร้องเพลงออกอัลบั้มถึง 5 ชุด แต่อีก 1 บทบาทที่หลายคนจดจำคือ การเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดสร้าง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญเมื่อเดินทางมาเที่ยวเมืองโคราช

รูปหล่อองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หน้าตักกว้าง 8 เมตร 1 นิ้ว สูง 13 เมตร หนัก 61 ตัน ปิดทองอร่ามทั้งองค์ ภาพจากเว็บไซต์ i-san.tourismthailand.org

ในโอกาสที่นักแสดงอาวุโสจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ “ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนไปดูบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2547 ซึ่งเจ้าตัวเปิดเผยถึงเรื่องราวและเบื้องหลังการจัดสร้าง “สมเด็จโตใหญ่ที่สุดในโลก” องค์นี้กัน

จากซ่อมวัดสู่สร้างพระ

คอลัมน์ ประชาชื่น หนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 18 พ.ค. 2547 ระบุว่า “สรพงศ์” เล่าถึงจุดเริ่มต้นไว้ว่า เมื่อปี 2531 หลังแสดงภาพยนต์เรื่อง คนเลี้ยงช้าง เสร็จ ได้ไปเยี่ยมครอบครัวของภรรยาคนปัจจุบัน (ดวงเดือน จิไธสงค์) ซึ่งมีภูมิลำเนาที่บ้านโนนกุ่ม แถบ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

ชาวบ้านละแวกนั้นเมื่อรู้ว่ามีนักแสดงดังมาแถวนี้ จึงได้ขอให้เป็นเจ้าภาพทำบุญผ้าป่า เพื่อซ่อมศาลาการเปรียญวัดบึงกุ่มก่อน ซึ่งสามารถรวบรวมเงินมาได้ประมาณ 600,000 บาท แต่ไม่เพียงพอ

จากนั้นปี 2532 ไปออกอัลบั้ม หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก กับบริษัท อาร์.เอส.ซาวด์ จำกัด (ปัจจุบันคือ บมจ.อาร์เอส) ได้เงินกลับมามากพอซ่อมแซม สรุปใช้เงินไปทั้งหมด 3 ล้านบาท และหลังจากนั้นก็สร้างกุฏิพระให้อีกใช้เงินอีก 7 ล้านบาท

เมื่อสร้างไปสร้างมาก็เริ่มมาถึงการสร้างโบสถ์ ซึ่งเป็นงานใหญ่ใช้งบประมาณคร่าว ๆ 20 ล้านบาท จึงปรึกษากับพระเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป เจ้าอาวาสวัดอรัญญวิเวก จ.เชียงใหม่ จึงได้รับคำแนะนำให้ไปไหว้ขอพรสมเด็จโตที่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เพราะในตอนนั้นสรพงษ์มีบารมีน้อย

“รู้ไหม ? หลวงปู่โตมีบูกศิษย์เป็นเทวดา เทพ เกิดมาเป็นมนุษย์จะช่วยให้สำเร็จได้ถ้าขอพรจากท่าน” สรพงศ์ถ่ายทอดคำพูดของพระปญฺญาปทีโปตอนหนึ่ง และจากจุดนี้ทำให้สรพงศ์เริ่มเข้าไปกราบไหว้บูชาสมเด็จโตที่วัดระฆังฯมากขึ้นจนเกิดเป็นศรัทธาในที่สุด

วัดโนนกุ่ม หรือวัดสรพงศ์ ในปัจจุบัน ภาพจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา

พระทัก หลวงพ่อโตกลางทุ่งนา

จากนั้นประมาณปี 2541 หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง สรพงษ์เดินทางไปราชบุรี เพื่อขอรูปหล่อสมเด็จโตเอาไว้บูชา แต่ถูกพระทักว่า “ไม่ต้องเอาไป เดี๋ยวจะสร้างให้ อยู่กลางทุ่งนาเลย องค์ใหญ่ ๆ” เมื่อถูกทักแบบนี้สรพงศ์ก็เก็บเรื่องไว้ในใจ พอกลับไปหาพระที่ทักไว้อีกครั้งก็ไม่เจอแล้ว ได้ความว่าสึกออกไปก่อน

สรพงศ์จึงไปหาผู้ที่สร้างโบสถ์ให้พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทฺโธ) แทน ซึ่งได้ให้คำแนะนำว่าควรสร้างให้ใหญ่หน้าตักให้มีขนาด 9 เมตรไปเลย จึงได้เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2541 ด้วยวงเงินเริ่มต้น 6 ล้านบาท

ในระหว่างก่อสร้างก็พบอุปสรรคมากมาย เริ่มจากการนำโฟมมาทำแบบก่อน เพราะมีเงินไม่พอ เมื่อรวบรวมเงินได้บางส่วนก็เริ่มหล่อส่วนของศีรษะด้วยทองเหลืองก่อน ในระหว่างนั้นก็ไปขอพระสมเด็จโตที่วัดระฆังฯเป็นระยะ ๆ จนค่อย ๆ ปลดล็อกอุปสรรคต่าง ๆ มาเรื่อย ๆ จนสามารถเอาชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมาประกอบได้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2543

ซึ่งในที่แรกจะปล่อยให้รูปหล่อตากแดดเหมือนพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่พุทธมณฑล แต่ต่อมามีพระมาทักว่าไม่ควรให้สมเด็จโตตากแดด จึงมีแนวคิดจัดสร้างวิหารคลุมรูปหล่อดังกล่าวด้วย

พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่พุทธมณฑล หนึ่งในต้นแบบรูปหล่อสมเด็จโต ของสรพงศ์ ชาตรี ภาพจากเว็บไซต์ ฐานข้อมูลศิลปกรรมในประเทศไทย

สร้างสมเด็จโต เป็นเรื่องของจิตใจ

แน่นอนว่า เมื่อก่อสร้างอะไรที่ใหญ่โตขนาดนี้ สรพงศ์ ชาตรี ย่อมหนีไม่พ้นโลกธรรม ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไม่ไม่เอาเงินไปสร้างโรงพยาบาลหรือโรงเรียน เพราะคนใช้ประโยชน์มีมากกว่า เจ้าตัวจึงได้วิสัชนาไว้ดังนี้

“ตลอดเวลาที่สร้างมีคนถามว่า ทำไม่สรพงศ์ไม่เอาเงินไปสร้างโรงพยาบาล หรือโรงเรียน พระอาจารย์ผมบอกว่า การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นเรื่องของกาย แต่การสร้างหลวงปู่โตเป็นเรื่องของจิตใจ”

ส่วนวิหารที่ต้องการสร้างครอบ สรพงศ์เล่าว่า ใช้แบบของวิหารวัดไชโยวรวิหาร (เกษไชโย) จ.อ่างทอง มีค่าใช้จ่ายรวม 50 ล้านบาท ส่วนสมเด็จโตที่ก่อสร้างแล้วเสร็จใช้เงินไปทั้งหมด 7 ล้านบาท หากรวมที่ดินเข้าไปด้วย เบ็ดเสร็จใช้เงินไปรวม ๆ แล้วประมาณ 200 ล้านบาท

ในช่วงท้าย สรพงศ์เปิดเผยว่า กำลังใจสำคัญที่ทำให้อดทนและเพียรพยายามก่อสร้างต่อไปก็เพราะได้รับแรงบันดาลใจจาก พระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

และทิ้งท้ายว่า “การเป็นดาราใครก็เป็นได้ แต่การมีจิตศรัทธาแรงกล้าขนาดสร้างพระใหญ่ได้ ไม่ใช่จะทำได้ทุกคน”


นี่คือความตั้งใจและศรัทธาของพระเอกผู้ล่วงลับที่มีต่อการสร้างสมเด็จโต พระที่เขาเคารพศรัทธา จนในเวลาต่อมาก็สามารถเนรมิตได้ครบทั้งวิหาร รูปหล่อ และมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่เขาตั้งใจให้เป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือเด็กยาก และมอบทุนการศึกษาให้เด็กใน อ.สีคิ้วต่อไป

คอลัมน์ ประชาชื่น นสพ.มติชนรายวัน 18 พ.ค. 2547