“แอร์ไลน์” เร่งเสริมฝูงบิน สปีดเส้นทางใหม่รับ “ตลาดจีน”

แอร์ไลน์

แม้การเดินทางระหว่างประเทศระหว่างไทย-จีนจะกลับสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ธุรกิจสายการบินซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังฟื้นตัวกลับมาได้ไม่เต็มที่นัก

โดยคาดการณ์ว่าปัจจุบันมีจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศ มีประมาณ 30% ของจำนวนก่อนการระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่สะดวก รวมถึงราคาบัตรโดยสารที่ยังค่อนข้างสูง เนื่องจากมีตารางบินที่จำกัด

วิทยุการบินฯ พร้อมรับมือ

“ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ “วิทยุการบินแห่งประเทศไทย” ระบุว่า จากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พบว่าในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 มีสายการบินสัญชาติจีนขอเปิดเที่ยวบินและเพิ่มความถี่มาไทยจำนวนมาก โดยได้รับการอนุมัติจาก กพท.ให้ทำการบินแล้ว 1,035 เที่ยวบิน หรือกว่า 300 เที่ยวบินต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละประมาณ 10 เที่ยวบิน

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการรออนุมัติอีกประมาณวันละ 40 เที่ยวบิน ซึ่งต้องประเมินความพร้อมของสายการบินและบริการภาคพื้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเมื่อมาถึงเมืองไทยด้วย

โดยในส่วนของวิทยุการบินฯ นั้น ได้เตรียมมาตรการบริหารจราจรทางอากาศรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยเข้าร่วมในคณะกรรมการจัดสรรตารางการบิน หรือ slot allocation ให้สอดคล้องกับค่าความสามารถในการรองรับ และปัจจัยข้อจำกัดต่าง ๆ ของสนามบิน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่สูงสุด

รวมทั้งเตรียมความพร้อมและกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ แนวทางการบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (air traffic flow management) มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้การบริการการเดินอากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

และเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในทุก ๆ ด้าน และทำงานอย่างเต็มที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกเที่ยวบินที่เข้ามาในน่านฟ้าไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความปลอดภัยสูงสุด

หนุน “แอร์ไลน์” บินลงภูมิภาค

“ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า หลังจากจีนประกาศเปิดให้ “กรุ๊ปทัวร์” สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ใน 20 ประเทศ โดยไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศตามประกาศตั้งแต่ 6 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป พบว่าสายการบินเริ่มปรับแผนการบินด้วยหมุนเครื่องบินที่มีอยู่มาให้บริการเส้นทางสู่จีนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน สายการบินจากจีนเองก็ประสานมายังสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) ของไทย เพื่อขอสลอตการบินเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ กพท.ได้เพิ่มการจูงใจสายการบินทำการบินเข้า-ออก จากสนามบินในส่วนภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ซึ่งยังมีความสามารถรองรับเที่ยวบินจากประเทศจีน แทนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่มีความหนาแน่นของปริมาณเที่ยวบิน

“บินไทย” เพิ่มไฟลต์จี มีนาคม

“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า ปัจจุบันความต้องการเดินทางมีปริมาณที่สูงมาก ทำให้มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร หรือ Load Factor สูงถึง 80-90% บริษัทจึงนำเครื่องบินที่จอดรอขายกลับมาให้บริการจำนวนหนึ่ง

พร้อมทั้งมีแผนเช่าเครื่องบินเพื่อเสริมทัพฝูงบินเพิ่มอีก 4 ลำ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาภายในช่วงครึ่งปีแรกนี้ และอยู่ระหว่างการเพิ่มอีก 10-15 ลำในลำดับต่อไป ตามแผนฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” จะมีจำนวนฝูงบินที่ 80-90 ลำ

ทั้งนี้ เครื่องบินจำนวนหนึ่งเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางสู่ประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงตารางบินฤดูร้อนนี้ (ปลายเดือนมีนาคม 2566) และเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่มีดีมานด์เดินทางสูง เช่น ออสเตรเลีย, ยุโรป ฯลฯ

“ชาญศิลป์” บอกด้วยว่า ปัจจุบัน “การบินไทย” มีเครื่องบินที่ให้บริการอยู่รวม 64 ลำ (ไทยสมายล์ 20 ลำ) ให้บริการเที่ยวบินรวมกว่า 100 เที่ยวบินต่อวัน หรือกว่า 700 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไปยัง 64 จุดหมายปลายทาง

มีจำนวนการขนส่งผู้โดยสารรวมประมาณ 30,000 คนต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-70% ของปีก่อนโควิดที่มีผู้โดยสาร 12 ล้านคน/ปี โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงก่อนเกิดโควิดในช่วงปลายปี 2567

“นกแอร์” รับเครื่องเพิ่ม 2 ลำ

ด้านสายการบิน “นกแอร์” แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า นกแอร์ได้เตรียมพร้อมสำหรับตลาดจีนแล้วเช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับตัวแทนการท่องเที่ยว และ OTA ในประเทศจีนถึงทิศทางการกลับมาให้บริการเที่ยวบินจีน

โดยในเบื้องต้นนี้จะเน้นทำงานร่วมกับเอเย่นต์ทัวร์และให้บริการในรูปแบบชาร์เตอร์ไฟลต์ หรือเช่าเหมาลำไปก่อน

“ตอนนี้นกแอร์ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำอยู่ 1 เส้นทางคือ เส้นทางดอนเมือง-หนานหนิง และมีแผนให้บริการเส้นทางดอนเมืองสู่หนานจิงและเจิ้งโจวในลำดับต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่จะทำการบินในช่วงเวลากลางคืน เพื่อไม่ให้กระทบกับเส้นทางบินอื่น ๆ”

ก่อนหน้านี้ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ปีนี้นกแอร์มีแผนรับเครื่องบินลำใหม่ 2 ลำ จากปัจจุบันที่มีเครื่องบินใช้งานอยู่ทั้งสิ้น 17 ลำ มีอัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบิน (aircraft utilization) อยู่ที่ประมาณ 8-9 ชั่วโมงต่อวัน

อย่างไรก็ตาม แผนการรับเครื่องบินใหม่ดังกล่าวอาจไม่บรรลุเป้าหมาย หรือล่าช้ากว่ากำหนด โดยแหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า ขณะนี้ผู้ให้เช่าอากาศยานไม่มีเครื่องบินให้เช่าที่ตรงกับความต้องการ

“ไทยไลอ้อนฯ” พร้อมบิน ก.พ.นี้

เช่นเดียวกับสายการบิน “ไทยไลอ้อนแอร์” ที่บอกว่าปัจจุบันไทยไลอ้อนแอร์ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำเส้นทางกรุงเทพฯ-เหอเฟ่ย และมีแผนเตรียมเปิดทำการบินตารางบินปกติ (scheduled flight) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในเดือนกุมภาพันธ์นี้

“เดิมเราให้บริการเที่ยวบินสู่จีนในช่วงเวลากลางคืน การเปิดประเทศให้คนทั่วไปและกรุ๊ปทัวร์ออกนอกประเทศได้ของจีนนั้น เราสามารถปรับตารางการบินให้มีความเหมาะสมได้” แหล่งข่าวให้ข้อมูล

ขณะเดียวกัน สายการบินยังมีแผนนำเข้าเครื่องบินเพิ่มเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจการบิน ซึ่งอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากกระทรวงคมนาคมและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

BA ฟื้นเส้นทางสู่สมุย

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ -BA ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปี 2562 ก่อนโควิดบางกอกแอร์เวย์สทำการบินเส้นทางเชื่อมไทย-จีน 2 เส้นทางคือ

สมุย-เฉิงตู ไป-กลับ จำนวน 4 เที่ยว/สัปดาห์ และสมุย-ฉงชิ่ง ไป-กลับ จำนวน 3 เที่ยว/สัปดาห์ มีรายได้บัตรโดยสารจากจุดขายบัตรโดยสารที่ประเทศจีนไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขายบัตรโดยสารทั้งหมด

โดยในปี 2566 นี้บริษัทมีแผนกลับมาเปิดให้บริการทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าวอีกครั้งในช่วงตารางบินฤดูร้อนนี้ (ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2566)

“ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สใช้เครื่องบินทำการบินอยู่ประมาณ 20-23 ลำ จากจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมด 35 ลำ ซึ่งขณะนี้เราได้เตรียมความพร้อมในด้านบุคลากร ทั้งพนักงานเดิมที่หยุดไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ทยอยเรียกกลับเข้ามาปฏิบัติงานตามปกติ และรับสมัครลูกเรือเพิ่มเติมแล้ว”

ขณะที่ “ไทยแอร์เอเชีย” ขยับตัวเร็วที่สุด โดยประกาศไปแล้วว่าพร้อมเปิดเส้นทางบินตรงสู่จีนใน 8 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่ กวางโจว ฉงชิ่ง เสิ่นเจิ้น คุนหมิง หางโจว นานจิง ฉางชา และมาเก๊า โดยทยอยเปิดตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา จากนั้นจะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเที่ยวบินตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นไป