สัญญาณอันตราย “ธนาคารจีน” “ผู้ฝากเงิน” เสี่ยงรับเคราะห์

ธนาคารจีน

เศรษฐกิจจีนที่ต้องเผชิญมรสุมทั้งจากการล็อกดาวน์ตามนโยบาย “ซีโร่โควิด” วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงภาวะภัยแล้งครั้งรุนแรงที่ทำให้ภาคธุรกิจหลายแห่งต้องหยุดชะงักเพราะขาดแคลนไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยทำให้ “หนี้เสีย” ในภาคธนาคารจีนมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก และสุดท้ายผู้ฝากเงินอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงจากวิกฤตครั้งนี้มากที่สุด

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานสถานการณ์วิกฤตภาคการธนาคารจีน โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและการประกันภัยจีน (CBIRC) เปิดเผยว่า ธนาคารระดับชนบท 2 แห่งคือ “ธนาคารพาณิชย์ชนบทเหลียวหยาง” และ “ธนาคารหมู่บ้านเหลียวหนิงไท่จื่อเหอ” ในมณฑลเหนียวหนิงของจีน กำลังเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย

กรณีดังกล่าวถือเป็นสัญญาณอันตรายในภาคธนาคารของจีนอีกครั้ง เนื่องจากการล้มละลายของธนาคารจีนไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก และทั้งสองธนาคารถือเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารขนาดเล็กที่มีอยู่มากมายในจีน แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ระดับเมือง 128 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ระดับชนบท 1,596 แห่ง และธนาคารในเมืองเล็กและหมู่บ้านอีกราว 1,651 แห่ง

ที่ผ่านมาในยุคเศรษฐกิจจีนเฟื่องฟู ธนาคารขนาดเล็กเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้รายย่อยแก่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งลูกหนี้รายใหญ่คือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่น แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นกับภาคอสังหาฯ และเศรษฐกิจจีนที่ประสบปัญหามากมายในเวลานี้ทำให้สถานการณ์ของธนาคารขนาดเล็กย่ำแย่ลงไป

“แกรี เอ็นจี” นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเพื่อการลงทุน “นาติซิส” ระบุว่า “ปีนี้ธนาคารขนาดเล็กต้องเผชิญเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มแย่ลง หนี้เสียในธนาคารขนาดเล็กก็จะเพิ่มขึ้นก่อนใคร และเราจะได้เห็นธนาคารขนาดเล็กประสบปัญหานี้มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ทั้งนี้ราว 20% ของธนาคารระดับภูมิภาคและชนบท 45 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีน รายงานผลกำไรลดลงในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ “หนี้เสีย” (NPL) ก็มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นผลประกอบการครึ่งปีที่แย่ที่สุดของหลายธนาคาร

“แฮร์รี หู” ผู้อำนวยการอาวุโสของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ “เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์” ประมาณการว่า อัตราหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมในภาคอสังหาฯ จะสูงขึ้นอยู่ที่ 5.5% ในสิ้นปีนี้ เทียบกับ 2.6% ในช่วงต้นปี

ขณะที่บางธนาคารรายงานหนี้เสียพุ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยแล้ว อย่าง “ธนาคารแห่งจินโจว” ทางตอนเหนือจีนเปิดเผยว่า หนี้เสียในภาคอสังหาฯ ของธนาคาร ณ เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาสูงถึง 10.37% เช่นเดียวกับ “ธนาคารจินซาง” ที่รายงานหนี้เสียอสังหาฯ เพิ่มเป็น 10.68%

ประกอบกับที่ผ่านมาธนาคารขนาดเล็กระดมเงินฝากด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อจูงใจให้ผู้คนมาฝากเงินกับธนาคาร เพื่อนำเงินไปปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทอสังหาฯ

จากต้นทุนเงินฝากที่สูง ทำให้ธนาคารขนาดเล็ก 60% มีส่วนต่างดอกเบี้ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระบบอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและการอยู่รอดของธนาคารเมื่อเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น

จากกรณีมีผู้ประท้วงในเมืองเหอหนาน เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงบัญชีเงินฝากของตนเองได้เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณของวิกฤตธนาคารขนาดเล็กของจีน แม้ว่าระบบธนาคารของจีนในภาพรวมยังคงแข็งแกร่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัญญาณเหล่านี้กระทบต่อความไม่เชื่อมั่น ของผู้ฝากเงิน และสั่นคลอนความมั่นใจการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก