ตลาดจ้างงาน “สหรัฐ” แกร่ง ตัวช่วยลดโอกาส “ถดถอย’

สหรัฐ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

นับจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ สิ่งหนึ่งที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์และระดับซีอีโอของบริษัทต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยพากันทำนายเหมือนกันก็คือ 2023 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” เพราะการขึ้นดอกเบี้ยในระดับนี้เป็นการกระทืบเบรกเศรษฐกิจอย่างแรง นั่นย่อมหมายถึงบริษัทต่าง ๆ จะต้องปลดพนักงานจำนวนมากและผู้บริโภคจะลดการใช้จ่าย

แต่ดูเหมือนพิษจากดอกเบี้ย แทบจะไม่ระคายการจ้างงานของสหรัฐเลย การจ้างงานยังคงสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ซีอีโอและนักลงทุนบางส่วนเชื่อว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยนั้นแคบลงหรือน้อยลง

โดยเดือนพฤษภาคมปีนี้ การจ้างงานเพิ่มขึ้น 3.39 แสนราย ซึ่งไม่เพียงเกินความคาดหมายของนักพยากรณ์สำคัญ ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการทำสถิติใหม่ของการเพิ่มขึ้นในเดือนเดียวมากที่สุด เมื่อเทียบกับทุกเดือนของปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 อันเป็นปีที่การจ้างงานแข็งแกร่งอีกด้วย

มาร์ก แซนดิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ อนาไลติคส์ ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจะถูกโจมตีอย่างหนัก ถูกลูกศรปักอก ทั้งจากการขึ้นดอกเบี้ย การเกิดวิกฤตแบงก์ล้ม ปัญหาเพดานหนี้ แต่เศรษฐกิจกลับมีความยืดหยุ่นและฟื้นตัวได้ดีอย่างเหลือเชื่อ หากดูจากอัตราการจ้างงานแล้ว ในปีนี้เป็นเรื่อง “ยาก” ที่จะเห็นเศรษฐกิจถดถอย โอกาสที่เศรษฐกิจจะถดถอยในปีนี้น้อยลงเรื่อย ๆ เหลือเพียง 1 ใน 3

จัสติน วูล์ฟเฟอร์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวเช่นเดียวกันว่า มีโอกาสน้อยลงที่ปีนี้เศรษฐกิจจะถดถอย เพราะยังไม่เคยเห็นการถดถอยเกิดขึ้นมาก่อนในขณะที่ตลาดแรงงานร้อนแรงแบบนี้ “คงเป็นเรื่องเหลวไหล หากจะใช้คำว่าถดถอยในยามที่เราสามารถเพิ่มการจ้างงานในอัตรานี้”

ด้าน “โจ บรูซูลาส” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ อาร์เอสเอ็ม ชี้ว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจสหรัฐสามารถสร้างงานได้เดือนละมากกว่า 2 แสนราย ก็ไม่มีทางที่เศรษฐกิจจะถดถอย

ไม่เพียงแต่การจ้างงานในเดือนพฤษภาคมจะเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งเท่านั้น แต่สำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐ ยังได้ปรับเพิ่มการจ้างงานในเดือนมีนาคมและเมษายนเป็น 2.17 แสนราย และ 2.94 แสนราย ตามลำดับ ซึ่งห่างไกลจากการทำนายก่อนหน้านี้ของแบงก์ออฟอเมริกา ที่เตือนว่า การจ้างงานจะเริ่มลดลงในต้นปี 2023 โดยจะมีคนตกงานเดือนละ 1.75 แสนราย ในไตรมาสแรกของปี และหลังจากนั้นจะมีคนถูกเลิกจ้างตลอดเวลาที่เหลือของปี

ที่ผ่านมาเมื่อใดก็ตามที่การจ้างงานแข็งแกร่ง มักจะถูกทำนายว่าเฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อหยุดความร้อนแรง อย่างไรก็ตามในรอบนี้กรรมการเฟดบางส่วนส่งสัญญาณว่า การประชุมเดือนมิถุนายนนี้ เฟดอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน

เห็นได้จากคำพูดของ “แพทริก ฮาร์เกอร์” ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ที่กล่าวว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนไว้ก่อน เพราะปัจจัยหลายอย่างได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจไว้แล้ว ดังนั้นอย่างน้อยเราควรเว้นการขึ้นไปก่อน เพื่อปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ ได้แก้ปัญหาด้วยตัวมันเอง ก่อนจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป

เช่นเดียวกับ ฟิลิป เจฟเฟอร์สัน ผู้ว่าการเฟด ที่บอกว่า การหยุดขึ้นดอกเบี้ยเดือนมิถุนายนจะช่วยให้คณะกรรมการมองเห็นข้อมูลมากขึ้นก่อนจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ การหยุดขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปไม่ควรถูกตีความว่าเฟดมาถึงจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยแล้ว

เดฟ กิลเบิร์ตสัน นักเศรษฐศาสตร์แรงงานของยูเคจี ให้ความเห็นว่า หากพูดคุยกับบรรดาซีอีโอก็จะทราบว่า ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาเห็นด้วยว่าเงินเฟ้อมีปัญหาค่อนข้างมากเมื่อ 1 ปีที่แล้ว แต่ระยะหลังนี้ปัญหาผ่อนคลายลง แม้ว่าตลาดแรงงานยังคงตึงตัว ซึ่งบ่งบอกว่าตลาดแรงงานไม่ได้มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากเท่ากับปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันเมื่อ 2 ปีที่แล้ว