
เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) ยักษ์อสังหาริมทรัพย์จีนที่ประสบปัญหาทางการเงินและผิดนัดชำระหนี้มาตั้งแต่ปี 2021 ยื่นขอคุ้มครองการล้มละลายในสหรัฐ หลังจากเมื่อต้นปีได้ประกาศแผนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งมีภาระหนี้อยู่สูงถึง 2.437 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 11.85 ล้านล้านบาท) คิดเป็นประมาณ 2% ของจีดีพีประเทศจีน
วันที่ 18 สิงหาคม 2023 ตามเวลาประเทศไทย สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (Evergrande Group) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีนที่ประสบปัญหาทางการเงินและผิดนัดชำระหนี้มาตั้งแต่ปี 2021 ทำให้เกิดวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ ได้ยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลายในสหรัฐ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2023 ตามเวลาสหรัฐ หลังจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น
การยื่นขอคุ้มครองการล้มละลายหรือขอพิทักษ์ทรัพย์ของเอเวอร์แกรนด์เกิดขึ้นหลังจากที่วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจจีนที่กำลังประสบปัญหาการฟื้นตัว และเผชิญปัจจัยลบมากมาย
เอเวอร์แกรนด์ยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลายภายใต้ Chapter 15 ของกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้สําหรับกิจการที่มีการทำธุรกิจอยู่ในสหรัฐอเมริกาและในต่างประเทศ มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศาลสหรัฐ ลูกหนี้ และศาลของประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีล้มละลายข้ามพรมแดน ซึ่งผลจากการยื่นนี้คือ ทรัพย์สินของเอเวอร์แกรนด์ในสหรัฐจะได้รับการปกป้องขณะที่บริษัทกำลังปรับโครงสร้างหนี้
การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ในปี 2021 เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลจีนเริ่มปราบปรามการกู้ยืมเงินมากเกินไปของผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพยายามควบคุมราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้น
ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้นถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมาช้านาน โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30% ของจีดีพี แต่การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ในปี 2021 ได้ส่งคลื่นกระแทกไปยังตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน สร้างความเสียหายต่อเจ้าของบ้านและระบบการเงินโดยรวมในประเทศ
นับตั้งแต่การล่มสลายของเอเวอร์แกรนด์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายรายในจีน รวมถึง กาเซีย (Kasia), แฟนตาเซีย (Fantasia) และ ชิเหมา กรุ๊ป (Shimao Group) ได้ผิดนัดชำระหนี้ และล่าสุด คันทรี การ์เดน (Country Garden) ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีนอีกรายผิดนัดจ่ายผลตอบแทนหุ้นกู้และเตือนว่าจะ “พิจารณานำมาตรการจัดการหนี้ต่าง ๆ มาใช้” ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการคาดเดาว่าบริษัทนี้อาจเตรียมปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากประสบปัญหาในการระดมเงิน
เอเวอร์แกรนด์เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีโครงการอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 1,300 โครงการ อยู่ในกว่า 280 เมือง และยังมีธุรกิจที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์อีกหลายอย่าง รวมถึงธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจเฮลท์แคร์ และธุรกิจสวนสนุก
เอเวอร์แกรนด์ประสบปัญหาในการชำระหนี้หลังจากผิดนัดชำระหนี้อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2021 บริษัทมีภาระหนี้สูงถึง 2.437 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 11.85 ล้านล้านบาท) ภายในสิ้นปี 2022 ซึ่งจำนวนนี้คิดเป็นประมาณ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีน
หลังจากการผิดนัดชำระหนี้ในปลายปี 2021 หุ้นของเอเวอร์แกรนด์ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ถูกระงับการซื้อขายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022
เอเวอร์แกรนด์รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 ว่า บริษัทได้สูญเสียเงินส่วนของผู้ถือหุ้นไป 81,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 และ 2022
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดเผยแผนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยกล่าวว่าได้บรรลุ “ข้อตกลงที่มีผลผูกพัน” กับผู้ถือหุ้นกู้ระหว่างประเทศแล้ว
“การปรับโครงสร้างที่เสนอนี้จะช่วยบรรเทาแรงกดดันของบริษัทจากภาระหนี้ในต่างประเทศ และอำนวยความสะดวกต่อความพยายามของบริษัทที่จะกลับมาดำเนินงานและแก้ไขปัญหาภายในประเทศ” เอเวอร์แกรนด์ระบุในเอกสารที่ประกาศแผนปรับโครงสร้างหนี้
เอเวอร์แกรนด์กล่าวว่า จะมุ่งเน้นไปที่การกลับมาดำเนินกิจการตามปกติในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่จะต้องมีการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม 36,400 ล้านดอลลาร์ถึง 43,700 ล้านดอลลาร์ และยังเตือนด้วยว่าธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทมีความเสี่ยงที่จะปิดตัวลงถ้าไม่มีเงินทุนใหม่เข้ามา
นับตั้งแต่ประกาศแผนปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว เอเวอร์แกรนด์ก็มีการระดมทุนเข้ามาได้บ้าง และเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา NWTN บริษัทรถยนต์ในดูไบได้ประกาศการลงทุนเชิงกลยุทธ์มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าของเอเวอร์แกรนด์ เพื่อแลกกับสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 28%