ความท้าทาย “รัฐบาลโมดี” เมื่อผลเลือกตั้งไม่แลนด์สไลด์ดังใจหวัง

นเรนทรา โมดี ขอบคุณผู้สนับสนุนในกรุงนิวเดลี
นเรนทรา โมดี ขอบคุณผู้สนับสนุนในกรุงนิวเดลี หลังทราบผลการนับคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2024 (ภาพโดย Adnan Abidi/REUTERS)

เมื่อผลการเลือกตั้งอินเดียปรากฏว่า พรรคภารติยะชนตะ (BJP) ของ “นเรนทรา โมดี” ไม่ได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งในสภา และแนวร่วมตั้งรัฐบาลก็ไม่ได้ชนะแบบแลนด์สไลด์ดั่งใจหวัง ทำให้เกิดคำถามหลายคำถามต่อรัฐบาลอินเดีย ซึ่งหลายฝ่ายกำลังจับตารอดูความเคลื่อนไหวต่อไป

การเลือกตั้งสมาชิก “โลกสภา” หรือสภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย ที่นับคะแนนเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า พรรค BJP ของโมดี ได้ สส. 240 ที่นั่ง เมื่อรวมกับพรรคต่าง ๆ ในแนวร่วมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDA) แล้วได้จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จด้วยจำนวน สส. 293 ที่นั่ง เกิน 272 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่จะได้เป็นเสียงข้างมากในสภาไปเพียงเล็กน้อย และต่ำกว่าเป้าหมายที่โมดีตั้งไว้ว่าแนวร่วมของเขาจะได้ สส.รวมกันถึง 400 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (INC) พรรคคู่แข่งหมายเลขหนึ่งคว้าไป 99 ที่นั่ง เมื่อร่วมกันทั้งแนวร่วมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติแห่งอินเดีย (INDIA) แล้วได้ไป 234 ที่นั่ง เหลืออีก 16 ที่นั่งเป็นของพรรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมในแนวร่วมทั้งสอง

แม้ว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็ตาม แต่รัฐบาลโมดีมีความท้าทายที่ต้องแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นกันกับรัฐบาลของหลายประเทศ โดยเฉพาะปัญหาอัตราการว่างงานซึ่งอยู่ที่ 8.1% ณ เดือนเมษายนที่ผ่านมา

โมดีขึ้นสู่อำนาจครั้งแรกในปี 2014 ด้วยคำมั่นสัญญาที่จะสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่งต่อปี แต่เขาก็ยังทำไม่ได้ตามเป้า

ความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อรัฐบาลของเขาไม่ได้มีเสถียรภาพมากดังที่หวังคือ โมดีจะเจอข้อจำกัดหลาย ๆ เรื่องในการบริหารประเทศ รวมทั้งเรื่องงบประมาณ

ADVERTISMENT

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การเป็นรัฐบาลผสมจะจำกัดความสามารถของโมดีในการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจในเรื่องที่ยากลำบาก เช่น การแก้ไขกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายแรงงาน ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ ที่จำเป็นในการเปลี่ยนอินเดียให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในช่วงกลางศตวรรษตามที่ตั้งเป้าเอาไว้

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 นเรนทรา โมดี ซึ่งมั่นใจว่าตนจะได้เป็นนายกฯอีกสมัยด้วยคะแนนถล่มทลาย ได้ประกาศเป้าหมายขาดดุลการคลังไว้ที่ 5.1% ของจีดีพี แต่หลังทราบผลการเลือกตั้ง นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่า รัฐบาลอินเดียจะต้องลดเป้าการขาดดุลงบประมาณลง เพราะการกู้ยืมเงินจะทำได้ยากขึ้น ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลไม่ได้มีเสียงห่างจากฝ่ายค้านมากเท่าไรนัก

ADVERTISMENT

“นีลกันฐ์ มิชรา” (Neelkanth Mishra) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ “แอ็กซิสแบงก์” (Axis Bank) คาดการณ์ให้ “บลูมเบิร์ก” ฟังว่า เมื่อรัฐบาลใหม่ประกาศงบประมาณในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เป้าหมายการขาดดุลการคลังน่าจะลดลงเหลือ 4.9% ของจีดีพี

มิชรามองว่ารัฐบาลใหม่อาจมีสิ่งจูงใจให้ต้องใช้จ่าย แต่รัฐบาลจะใช้กันชนทางการคลัง (Fiscal Buffer) คือเงินราว 1.02 ล้านล้านรูปี ที่ได้มาจากการจ่ายเงินปันผลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของธนาคารกลางเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อลดการขาดดุลการคลัง

นอกจากนั้น เขาวิเคราะห์อีกว่า รัฐบาลผสมของโมดีอาจเจอข้อจำกัดด้านเงินทุนที่จะใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเมือง ซึ่งการที่รัฐใช้จ่ายงบฯลงทุนของรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น จะช่วยเพิ่มพลังให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

…แต่เมื่อรัฐเจอข้อจำกัดที่จะใช้เงิน ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไปด้วย