เจ้าหญิงมาโกะสมรส กระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้อย่างไร ?

เจ้าหญิงมาโกะแต่งงาน ส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างไร
this photo taken by Kyodo. Kyodo/via

การสมรสของเจ้าหญิงมาโกะแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น แม้จะไม่มีพระราชพิธียิ่งใหญ่เหมือนสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ แต่นักวิเคราะห์บางคนหวังว่าอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ในทางอ้อม 

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหญิงมาโกะ พระราชนัดดาในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ได้สมรสกับ นายเคอิ โคมูโระ อดีตพระสหายของพระองค์แล้วในวันนี้ หลังทั้งคู่หมั้นหมายกันมานาน 4 ปี และต้องเลื่อนการสมรสเนื่องจากข่าวอื้อฉาวเรื่องการเงินของมารดานายโคมูโระ

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า เจ้าหญิงมาโกะปฏิเสธที่จะรับเงินก้อนจากราชวงศ์ญี่ปุ่นและรัฐบาลญี่ปุ่น และจำเป็นต้องสละฐานันดรศักดิ์หลังการสมรส ตามกฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่น เพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่กับสามีสามัญชนที่สหรัฐฯ

นางชิโฮโกะ โกโตะ รองผู้อำนวยการฝ่ายภูมิศาสตร์เศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิลสันในกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการต่าง ๆ ในเอเชีย แสดงความเห็นว่า มันคือความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสิ่งที่ถูกคาดหวังจากสมาชิกราชวงศ์หญิงญี่ปุ่น

“เจ้าหญิงมาโกะทสละเงิน และนำพระองค์ออกจากความสะดวกสบาย ปลอดภัย รวมถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในชีวิต เพื่อออกเดินทางตามเส้นทางของพระองค์เอง”

ในวันสมรส เจ้าหญิงมาโกะและนายโคมูโระ จัดงานแถลงข่าว โดยงดการปฏิบัติตามราชประเพณีเก่าแก่ ซึ่งนางโกโตะมองว่า โดยปกติพิธีเสกสมรสของสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นนั้น ไม่ค่อยได้รับความสนใจในต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการพลาดโอกาสในการนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์

“การสมรสครั้งนี้จะไม่ส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคเหมือนพิธีเสกสมรสของ เคต มิดเดิลตัน กับ เมแกน มาร์เคิล ในสหราชอาณาจักร” นางโกโตะ กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม การสมรสครั้งนี้อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยแนวทางอื่น ๆ เนื่องจากเสกสมรสของราชวงศ์ญี่ปุ่น มีความเชื่อมโยงกับอัตราการแต่งงานและการเกิดที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวของประเทศ ที่เต็มไปด้วยประชากรสูงอายุ

หลังพิธีเสกสมรสของมกุฏราชกุมารฟุมิฮิโตะ เมื่อปี 2533 ปรากฏว่าอัตราการแต่งงานในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 3.7% จาก 5 ปีก่อนหน้า ขณะที่ปี 2532 อัตราการแต่งงานในญี่ปุ่นลดลง 0.4%

รายงานวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ ระบุว่า อัตราการแต่งงานในญี่ปุ่นพุ่งสูงสุดที่ 9.8% ในปี 2536 ซึ่งเป็นปีที่มีการจัดพิธีเสกสมรสของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน

ส่วนอัตราการเกิดก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“เราไม่คาดว่าการสมรสมของเจ้าหญิงมาโกะจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจมหภาคของญี่ปุ่น” นางยูริ มาซูจิมะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ กล่าวและว่า

“แต่การสมรสครั้งนี้อาจส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และอัตราการแต่งงาน หลังตัวเลขเหล่านี้ลดลงอย่างรวดเร็วจากวิกฤตโควิด”