การสมรสของเจ้าหญิงมาโกะ กับความเสี่ยงของราชวงศ์ญี่ปุ่น

เจ้าหญิงมาโกะแต่งงานแล้ว สร้างความเสี่ยงต่อสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นอย่างไร
Japan, October 26, 2021. Nicolas Datiche/Pool via REUTERS

สื่อต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่า การสมรสของเจ้าหญิงมาโกะ จะทำให้สถาบันกษัตริย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง “ราชวงศ์ญี่ปุ่น” มีความเสี่ยง ด้วยจำนวนสมาชิกราชวงศ์ที่ลดลง รวมถึงการผลักดันให้สตรีสืบราชบัลลังก์ที่ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร 

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ รายงานว่า หลังการหมั้นหมายนาน 4 ปี ในที่สุดเจ้าหญิงมาโกะ พระราชนัดดาในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ก็ได้สมรสกับ นายเคอิ โคมูโระ คู่หมั้นของพระองค์ เมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น

เพื่อเริ่มชีวิตคู่กับสามัญชน เจ้าหญิงมาโกะต้องทรงสละฐานันดรศักดิ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้ราชวงศ์ญี่ปุ่น เหลือสมาชิกราชวงศ์หญิงเพียง 12 พระองค์ และสมาชิกราชวงศ์ชาย 5 พระองค์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราชวงศ์ญี่ปุ่นมีสมาชิกมากถึง 67 พระองค์ แต่ล่าสุดเมื่อวันอังคาร เหลือเพียง 17 พระองค์เท่านั้น ในจำนวนนี้มีเพียง 3 พระองค์ ที่มีสิทธิสืบทอดราชบัลลังก์ ได้แก่

  1. เจ้าชายมาซาฮิโตะ ฮิตาจิโนะมิยะ พระชนมายุ 85 พรรษา พระปิตุลาในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ
  2. เจ้าชายอากิชิโนะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น พระชนมายุ 55 พรรษา พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ
  3. เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ พระชนมายุ 15 พรรษา พระราชนัดดาชายเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ นอกจากนี้ พระองค์ทรงเป็นพระอนุชาของเจ้าหญิงมาโกะด้วย

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ใช้การปกครองระบอบราชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งให้สิทธิการสืบทอดราชบัลลังก์แก่สมาชิกราชวงศ์ชายเท่านั้น เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบีย โอมาน และโมร็อกโก โดยญี่ปุ่นมีประวัติการสืบทอดราชบัลลังก์ติดต่อกันมายาวนานที่สุดในโลก ตั้งแต่การก่อตั้งประเทศในช่วง 660 ปีก่อนคริสตกาล

การสมรสที่ไร้พระราชพิธี

การสมรสของเจ้าหญิงมาโกะและสามี เริ่มจากการที่เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ซึ่งดูแลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกราชวงศ์ ส่งเอกสารไปยังสำนักงานท้องถิ่นในช่วงเช้า โดยงดการจัดพระราชพิธีต่าง ๆ ตามราชประเพณี รวมถึงงานเลี้ยงมงคลสมรสด้วย

มีรายงานว่า นายโคมูโระ ซึ่งอยู่ในชุดสูทสีเข้มผูกเนกไท โค้งคำนับในช่วงสั้น ๆ ต่อหน้ากล้องของผู้สื่อข่าว ที่มารวมตัวกันหน้าบ้านของเขา ระหว่างที่เขาเดินทางออกจากบ้านในช่วงเช้าโดยไม่กล่าวอะไรกับสื่อ หลังจากเขาเคยแสดงท่าทางสบาย ๆ เมื่อครั้งเดินทางกลับญี่ปุ่น ด้วยการมัดผมเป็นหางม้า ซึ่งได้สร้างความตื่นเต้นให้กับสื่อญี่ปุ่น

ด้าน เกียวโดนิวส์ รายงานว่า สำนักพระราชวังอิมพีเรียลเผยว่า เจ้าหญิงมาโกะ และนายโคมูโระ จะมีถ้อยแถลงเรื่องการสมรสเพียงสั้น ๆ เท่านั้น และได้ส่งคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับ 5 คำถาม ที่สื่อมวลชนส่งมาล่วงหน้า แล้ว

การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเจ้าหญิงได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (พีทีเอสดี) ซึ่งเป็นผลจากการถูกทำร้ายจิตใจทางออนไลน์ ที่พุ่งเป้ามายังพระองค์กับนายโคมูโระ และครอบครัวของเขา

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สำนักพระราชวังญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหญิงมาโกะประสบกับความกังวลที่ว่า ชีวิตของพระองค์กำลังถูกทำลาย ซึ่งทำให้พระองค์มองโลกในแง่ร้าย และเป็นเรื่องยากสำหรับพระองค์ที่จะรู้สึกมีความสุข

เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังเผยกับสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคว่า เจ้าหญิงมาโกะ ซึ่งหลังจากนี้จะกลายเป็น นางมาโกะ โคมูโระ รู้สึกเสียพระทัย เมื่อเห็นว่าคำถามบางข้อจากสื่อ มีข้อมูลเท็จปะปนอยู่

สำนักพระราชวังอิมพีเรียลได้ขอร้องให้องค์กรสื่อมวลชน ซึ่งรวมถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์นิตยสารญี่ปุ่น และสื่อต่างประเทศ ส่งคำถามล่วงหน้าสำหรับการแถลงข่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากปรึกษากับแพทย์ของเจ้าหญิงมาโกะแล้ว

เจ้าหญิงมาโกะและนายโคมูโระ ซึ่งมีอายุ 30 ปีเท่ากัน ประกาศการหมั้นหมายเมื่อ 4 ปีก่อน ทั้งคู่ได้รับเสียงเชียร์จากทั่วทั้งประเทศในช่วงแรก แต่ในไม่ช้า สิ่งต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป เมื่อหลายสื่อรายงานเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับมารดาของนายโคมูโระ ทำให้เขาตกเป็นเป้าของสื่อทันที

หลังจากนั้นการสมรสของคู่รักวัย 30 ปี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากนายโคมูระไม่สามารถทำให้ชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งเชื่อได้ว่า ครอบครัวของเขาสามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเงินมูลค่า 4 ล้านเยน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ใช้ไปกับการศึกษาของเขาด้วย

การสมรสถูกเลื่อนออกไป จากนั้นนายโคมูโระได้เดินทางออกจากญี่ปุ่นเพื่อไปศึกษาวิชากฎหมายในนครนิวยอร์กเมื่อปี 2561 และเดินทางกลับญี่ปุ่นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นคือเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สำหรับข้อพิพาทที่เขาเผชิญ เกี่ยวข้องกับเงินที่มารดาของเขาได้รับจากอดีตคู่หมั้น ซึ่งมีข้อถกเถียงว่าเป็นเงินกู้หรือเงินที่ให้เป็นของขวัญ ต่อมา เจ้าชายอากิชิโนะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น พระบิดาของเจ้าหญิงมาโกะ ได้ขอให้นายโคมูโระชี้แจงเรื่องนี้ ซึ่งเขาก็ได้เขียนแถลงการณ์ปกป้องตัวเอง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามีการแก้ปัญหาข้อพิพาทนี้แล้วหรือยัง

เจ้าหญิงมาโกะปฏิเสธรับเงินก้อนจากราชวงศ์

หลังเกิดข้อพิพาทดังกล่าว เจ้าหญิงมาโกะปฏิเสธรับเงินก้อน 152.5 ล้านเยน ซึ่งสมาชิกราชวงศ์หญิงจะได้รับเมื่อแต่งงาน ทำให้พระองค์กลายเป็นสมาชิกราชวงศ์หญิงพระองค์แรกของญี่ปุ่น ที่ปฏิเสธรับเงินก้อนนี้ นับตั้งแต่สงคราม

นางชิโฮโกะ โกโตะ รองผู้อำนวยการฝ่ายภูมิศาสตร์เศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิลสัน ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการต่าง ๆ ในเอเชีย กล่าวว่า มันคือความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสิ่งที่ถูกคาดหวังจากผู้หญิงในราชวงศ์อิมพีเรียล

“เจ้าหญิงมาโกะทรงเตรียมสละเงิน และนำพระองค์เองออกจากความสะดวกสบาย ปลอดภัย รวมถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในชีวิต เพื่อออกเดินทางตามเส้นทางของพระองค์เอง”

การผลักดันให้สตรีสืบราชบัลลังก์

การสมรสของเจ้าหญิงมาโกะ เน้นย้ำให้เห็นถึงการเรียกร้องให้ผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของการสืบราชบัลลังก์ เพื่อค้ำจุนสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เก่าแก่ รวมถึงระบอบราชาธิปไตย และเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสความเท่าเทียม

แนวคิดให้ผู้หญิงสามารถสืบราชบัลลังก์ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จากการสำรวจของเกียวโด นิวส์ เมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 85% ระบุว่า พวกเขาชื่นชอบจักรพรรดินี ขณะที่ 79% ระบุว่า พวกเขาสนับสนุนให้จักรพรรดินีส่งมอบราชบัลลังก์ให้กับพระโอรสหรือพระธิดาของพระองค์

อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ญี่ปุ่นไม่สามารถทำอะไรกับเรื่องนี้ได้ เนื่องจากบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรวมถึงการสืบราชบัลลังก์นั้น อยู่ภายใต้กฎหมายของญี่ปุ่น ซึ่งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทางการเมืองระดับสูงหลายคนได้พิจารณาที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ให้เป็นผลสำเร็จ

เมื่อปี 2549 กฎหมายที่เสนอให้ผู้หญิงสามารถเป็นรัชทายาทได้ ถูกเลื่อนการพิจารณาไม่มีกำหนด หลังการประสูติของเจ้าชายฮิซาฮิโตะ ซึ่งเป็นพระโอรสองค์แรกของราชวงศ์ญี่ปุ่น ในรอบเกือบ 4 ทศวรรษ

ส่วนเมื่อปี 2555 นายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ได้พิจารณาอนุญาตให้เจ้าหญิงสามารถคงฐานันดรศักดิ์ของพระองค์ไว้ได้หลังสมรส แต่ความพยายามดังกล่าวต้องหยุดชะงัก เมื่อญี่ปุ่นได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ชื่อ ชินโซ อาเบะ

ไม่นานมานี้ อดีตนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ ได้ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง แต่การพิจารณาก็ไม่เกิดขึ้นเมื่อนายซูงะตัดสินใจไม่ลงสมัครตำแหน่งผู้นำพรรคแอลดีพี เพื่อเปิดทางให้ นายฟุมิโอะ คิชิดะ สืบทอดตำแหน่งทางการเมืองต่อไป เนื่องจากนายคิชิดะเป็นผู้ต่อต้านการสืบทอดราชบัลลังก์ผ่านจักรพรรดินี

การสมรสของราชวงศ์ญี่ปุ่นกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ?

ขณะที่จำนวนสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นลดลง พระราชวังอิมพีเรียลยังมีค่าใช้จ่าย 25,000 ล้านเยนต่อปี โดยเงินที่ได้จากภาษีของชาวญี่ปุ่น ถูกนำไปใช้จ่ายเรื่องอาหาร การศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ และเงินเดือนพนักงาน 1,080 คน ทั้งคนขับรถ, คนสวน และคนทำงานด้านเอกสาร

อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ญี่ปุ่นได้พระราชทานเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่เป็นประจำ เมื่อเทียบกับราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 50 ล้านปอนด์ ในปี 2562-2563 บวกกับอีก 30 ล้านปอนด์ ที่ใช้ในการปรับปรุงพระราชวังบักกิงแฮม

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เจ้าหญิงมาโกะได้เข้าเฝ้าฯ อดีตสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและอดีตสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เพื่อกราบบังคมทูลลาตามธรรมเนียม ตามรายงานของวอชิงตัน โพสต์

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 7 เดือน ที่พระราชนัดดาองค์โตของราชวงศ์ ได้เข้าเฝ้าฯ พระอัยกาและพระอัยยิกา หลังการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ยังถือเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับเจ้าหญิงมาโกะที่ได้เข้าเฝ้าฯทั้งสองพระองค์ ในฐานะสมาชิกราชวงศ์อิมพีเรียล

ระหว่างทางที่เจ้าหญิงมาโกะเสด็จฯไปยังพระราชวังหลวงเซ็นโตโดยรถยนต์พระที่นั่ง พระองค์ทรงเปิดกระจกรถลง เพื่อโบกพระหัตถ์ให้กับประชาชนและผู้สื่อข่าว ที่มารอรับเสด็จบนท้องถนน ประมาณ 140 คน

ในวันอังคาร เจ้าหญิงมาโกะและนายโคมูโระได้จัดงานแถลงข่าว โดยงดการปฏิบัติตามราชประเพณีเก่าแก่ ซึ่งนางโกโตะแสดงความเห็นว่า โดยปกติพิธีเสกสมรสของสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นไม่ค่อยได้รับความสนใจในต่างประเทศอยู่แล้ว ถือเป็นการพลาดโอกาสในการนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์

“การสมรสครั้งนี้จะไม่ส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคเหมือนพิธีเสกสมรสของ เคต มิดเดิลตัน กับ เมแกน มาร์เคิล ในสหราชอาณาจักร” นางโกโตะกล่าว

อย่างไรก็ตาม การสมรสครั้งนี้อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยแนวทางอื่น ๆ เนื่องจากเสกสมรสของราชวงศ์ในญี่ปุ่น มีความเชื่อมโยงกับอัตราการแต่งงานและการเกิดที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวของประเทศที่เต็มไปด้วยประชากรสูงอายุ

หลังพิธีเสกสมรสของมกุฏราชกุมารฟุมิฮิโตะ เมื่อปี 2533 ปรากฏว่าอัตราการแต่งงานในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 3.7% จาก 5 ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่ปี 2532 อัตราการแต่งงานในญี่ปุ่นลดลง 0.4% ขณะที่รายงานวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ ระบุว่า อัตราการแต่งงานในญี่ปุ่นพุ่งสูงสุดที่ 9.8% ในปี 2536 ซึ่งเป็นปีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน ส่วนอัตราการเกิดก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“เราไม่คาดว่าการสมรสมของเจ้าหญิงมาโกะจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจมหภาคของญี่ปุ่น” นางยูริ มาซูจิมะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ กล่าวและว่า “แต่การสมรสครั้งนี้อาจส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และอัตราการแต่งงาน หลังตัวเลขเหล่านี้ลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากวิกฤตโควิด”

สู่ชีวิตคู่รักสามัญชน

หลังการสมรส คู่บ่าวสาววางแผนไปใช้ชีวิตในสหรัฐ โดยไม่รับความช่วยเหลือทางการเงินจากราชวงศ์ญี่ปุ่น หรือรัฐบาลญี่ปุ่น

มีรายงานว่านายโคมูโระได้งานที่สำนักงานกฎหมายในเมืองแมนฮัตตัน ขณะที่เจ้าหญิงมาโกะ ซึ่งจบปริญญาโทด้านการศึกษาพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ยังไม่ประกาศแผนการของพระองค์ ข้อมูลเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาข่าวอื้อฉาว ที่ถูกสื่อตรวจสอบมานานหลายปี

this photo taken by Kyodo. Kyodo/via