สหรัฐส่อไม่รอด ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แบบหนัก ชี้ยิ่งคุมเงินเฟ้อ ยิ่งกระอัก

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
แฟ้มภาพ พนักงานบรรจุผักที่รัฐฟลอริดา สหรัฐ (AP Photo/Wilfredo Lee, File)

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คืบคลานมาถึงสหรัฐอเมริกา และไม่ใช่เบาอย่างที่เคยคิด ดอยช์แบงก์อัพเดตการคาดการณ์ หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน บวกกับจีนล็อกดาวน์กระตุ้นเงินเฟ้อ

วันที่ 27 เมษายน 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของทีมนักเศรษฐศาสตร์ประจำดอยช์แบงก์ ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำสัญชาติเยอรมันที่อยู่ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีต ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่

ธนาคารดอยต์เชอ หรือ ดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) เป็นธนาคารแรกที่พยากรณ์เมื่อต้นเดือนนี้ว่า สหรัฐจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ระดับไม่รุนแรง แต่รายงานล่าสุดที่เผยแพร่กับลูกค้าเมื่อ 26 เม.ย. ระบุว่า “เราจะเจอกับภาวะถดถอยครั้งใหญ่”

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดอยช์แบงก์ The headquarters of Germany’s Deutsche Bank in Frankfurt, Germany. REUTERS/Ralph Orlowski/File Photo

การประเมินครั้งนี้มาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ต้องการสยบภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจใกล้จุดพีกแล้ว แต่ต้องอาศัยเวลาอีกนานกว่าจะลดต่ำลง 2% ตามเป้าหมายของเฟด ความพยายามที่จะกดอัตราเงินเฟ้ออย่างหนักจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ

“เราคาดว่า มีแนวโน้มสูงที่เฟดจะกดเบรก และกดย้ำอย่างหนักอีก ดังนั้นจึงต้องอาศัยภาวะถดถอยมาช่วยกดให้เงินเฟ้อลดต่ำลง นี่เป็นเหตุผลว่า ภาวะถดถอยที่กำลังมาถึงนี้เลวร้ายกว่าที่คาดไว้” ทีมนักเศรษฐศาสตร์ดอยช์แบงก์ระบุ

เบื้องหลังตัวเลขเงินเฟ้อ-ว่างงาน

เมื่อเดือนมีนาคม ราคาผู้บริโภคสูงขึ้นไปแล้วถึง 8.5% เป็นอัตราพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี ส่วนตลาดแรงงานยังน่าเป็นห่วง จากการประเมินของมูดีส์ อนาไลติกส์ คาดว่าอัตราคนว่างงานจะดิ่งต่ำที่สุดนับจากช่วงต้นของทศวรรษ 1950

การประเมินครั้งนี้ ดอยช์แบงก์สร้างดัชนีที่วัดระยะความห่างระหว่างเงินเฟ้อกับคนว่างงานในช่วง 60 ปีมานี้ และดูว่าเฟดตั้งเป้าตัวเลขทั้งสองด้านอย่างไร

จากการวิจัยสถานการณ์ล่าสุดนี้พบว่า วันนี้เฟดอยู่เบื้องหลังการกำหนดตัวเลขดังกล่าวมากกว่าเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1980 ตอนที่เงินเฟ้อสูงมากจนบีบให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยเป็นสถิติเพื่อจัดการคุมเศรษฐกิจ

ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า เฟดไม่เคยคุมเงินเฟ้อและอัตราการจ้างงานได้ โดยปราศจากการผลักให้เศรษฐกิจเข้าไปอยู่ในภาวะถดถอยอย่างเห็นได้ชัด

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ธนาคารกลางสหรัฐ The Federal Reserve Board building on Constitution Avenue is pictured in Washington, U.S., REUTERS/Brendan McDermid/File Photo/File Photo

การบีบตลาดแรงงานจนแน่นเกินเพื่อจะให้อัตราว่างงานอยู่ที่ 2% ทำให้ต้องเลือกภาวะถดถอยรุนแรงมากกว่าที่จะเลือกแบบเบาบาง

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีข่าวดีจากดอยช์แบงก์ว่า เริ่มเห็นแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะกระเตื้องกลับมาช่วงกลางปี 2024 (พ.ศ. 2566) เมื่อเฟดถอยจากการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

ชี้เศรษฐกิจถดถอยหลีกเลี่ยงไม่ได้

แน่นอนว่าไม่มีใครรู้อย่างแท้จริงว่า สถานการณ์แบบนี้จะรับมืออย่างไร หลังจากดอยช์แบงก์มองแง่ร้ายหนักกว่าธนาคารอื่น ๆ ในวอลล์สตรีต ซึ่งส่วนใหญ่ปลอบใจว่า ความโศกเศร้าเสียใจได้ผ่านไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม โกลด์แมน แซกส์เห็นด้วยกับดอยช์แบงก์ว่า เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งยวดที่จะกดเงินเฟ้อให้ดิ่งลง โดยค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น แต่ภาวะความเครียดจากเศรษฐกิจถดถอยนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“เราไม่ต้องการเศรษฐกิจถดถอยหรอก แต่บางทีก็ต้องให้การเติบโตชะลอตัวลงให้ต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เพิ่มความเสี่ยงให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” นักเศรษฐศาสตร์โกลด์แมน แซกส์กล่าว


ส่วนธนาคาร UBS มีความหวังคล้ายกันว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อ แม้ว่าเฟดจะเข้าสู่โหมดของการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

“เงินเฟ้อควรจะคลี่คลายจากระดับปัจจุบัน เราไม่อยากคาดการณ์ว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยจากอัตราดอกเบี้ย” มาร์ก เฮเฟล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ UBS Global Wealth Management กล่าว

สงครามและล็อกดาวน์ซ้ำเติม

ดอยช์แบงก์ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลังการมองด้านลบมาจากแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะอยู่นานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นการพัฒนาต่าง ๆ จะเผชิญกับความหวาดผวาว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นอีก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากโลกาภิวัตน์ที่พลิกกลับหัวกลับหาง ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ การสะดุดของซัพพลายเชนที่มาจากสงครามในยูเครน และการล็อกดาวน์ของจีน ไปจนถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น ล้วนสนับสนุนให้เงินเฟ้อขึ้นอีกจริงๆ

“หายนะของเงินเฟ้อกลับมาแล้ว และจะคงอยู่ที่นี่” ดอยช์แบงก์ระบุ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า ถ้าเงินยังเฟ้อไม่เลิก เฟดจะฟาดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยทะลุฟ้า หลังจากเมื่อเดือนมีนาคมขึ้นไปแล้ว 0.25% และเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวสัปดาห์ก่อนว่า การประชุมนัดต่อไปสัปดาห์หน้า อาจพูดถึง 0.50%

 “แม้จะเป็นเรื่องให้ลุ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะลงจอดอย่างนิ่มนวลและลงบนเส้นทางที่ยั่งยืน แต่มันจะไม่เกิดขึ้น จากมุมมองของเรา มีเพียงหนทางเดียวที่จะลดความเสียหายของเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม จากเงินเฟ้อยื้อที่กินเวลายาวนานก็คือ ไม่ไปอยู่ตรงข้างที่ทำอะไรเกินไป” ดอยช์แบงก์ระบุในตอนท้าย