เกาหลีใต้ชาติแรก ออกกฎหมายติดกล้องวงจรปิดห้องผ่าตัด

เกาหลีใต้ ออกกม.ติดกล้องวงจรปิดห้องผ่าตัด
Photo by Ed Jones / AFP

เกาหลีใต้ออกเตรียมกฎหมายสั่งโรงพยาบาลติดกล้องวงจรปิดห้องผ่าตัด หลังเกิดกรณีแพทย์ปล่อยผู้ช่วยทำเคสผ่าตัดต่อจนผู้ป่วยเสียชีวิต

วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า รัฐสภาเกาหลีใต้ได้บรรลุการแก้ไขกฎหมายด้านการแพทย์ หลังจากที่มีการเสนอเพื่อทบทวนกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยในกฎหมายความปลอดภัยด้านการแพทย์ฉบับล่าสุดนี้

กำหนดให้ห้องผ่าตัดทุกห้องที่ดูแลผู้ป่วยภายใต้การดมยาสลบ หรือห้องผ่าตัดที่มีการดำเนินการให้ผู้ป่วยหมดสตินั้น จะต้องมีการติดกล้องวงจรปิดภายในห้องผ่าตัด เพื่อบันทึกภาพการทำงานของแพทย์และเจ้าหน้าที่บุคลากรที่เกี่ยวข้องหลังเกิดกรณี ผู้ป่วยเสียชีวิตหลังเข้าผ่าตัดหลายรายเนื่องจากแพทย์ปล่อยให้บุคลากรที่ไม่เชี่ยวชาญ ดูแลเคสผ่าตัดคนไข้ต่อ

กฎหมายดังกล่าวหากประธานาธิบดีลงนามและมีผลบังคับใช้ เกาหลีใต้จะถือเป็นชาติแรกๆของโลกที่มีการบังคับให้โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่มีการวางยาสลบเพื่อผ่าตัด ต้องติดกล้องวงจรปิดภายในห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแพทย์ส่งต่อให้ผู้ช่วยซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญ ดูแลคนไข้ผ่าตัดต่อ

เกาหลีใต้ ออกกม.ติดกล้องวงจรปิดห้องผ่าตัด
Photo by Ed Jones / AFP

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวได้รับเสียงวิจาณ์จากบรรดาบุคคลากรทางการแพทย์ในเกาหลีใต้ ตลอดจนสมาคมศัลยแพทย์อเมริกัน (American College of Surgeons) ที่เตือนว่า การบังคับติดกล้องวงจรปิดสอดส่องการทำงานของแพทย์เพื่อป้องกันกรณีดังกล่าวนั้น อาจบ่อนทำลายความไว้วางใจในแพทย์ ส่งผลเสียต่อขวัญกำลังใจ ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย และทำให้แพทย์ไม่กล้าเสี่ยงที่จะช่วยชีวิต

โดยสมาคมศัลยแพทย์แห่งเกาหลีใต้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลให้สั่งระงับการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไปก่อน

ทว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนกฎหมายกล่าวมองว่า กฎหมายนี้จะช่วยปกป้องผู้ป่วย สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อแพทย์ และมอบหลักฐานเพื่อใช้ในศาลแก่เหยื่อจากการทุจริตต่อหน้าที่ทางการแพทย์

เกาหลีใต้ถือเป็นชาติทีมีชื่อเสียงด้านการรักษาพยาบาลระดับโลก โดยเฉพาะวงการศัลยกรรมตกแต่งเพื่อความงาม ทว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความน่าเชื่อถือในโรงพยาบาลต้องสั่นคลอน หลังเกิดข้อร้องเรียนมากมายเกี่ยวกับแพทย์ที่ไร้ความรับผิดชอบปล่อยให้ผู้ช่วยที่ไม่มีความเชี่ยวชาญจัดการผู้ป่วยซึ่งกำลังหมดสติจากยาสลบอย่างไม่เหมาะสม

โดยช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วย 5 รายเสียชีวิตจากการผ่าตัดหนึ่งในนั้นคือ ควอนแดฮี นักศึกษาวิทยาลัยในกรุงโซล ซึ่งเสียชีวิตด้วยอาการตกเลือดในปี 2016 หลังเข้าผ่าตัดกราม ลีนากึม แม่ของเขาได้รับภาพชันสูตรที่บ่งชี้ว่ารอยแผลจากการผ่าตัดของบุตรชายไม่เรียบร้อย

เนื่องจากบางส่วนดำเนินการโดย “ผู้ช่วยพยาบาล” ส่งผลให้ในปี 2021 ศาลมีคำตัดสินให้ให้ศัลยแพทย์เจ้าของเคสคนไข้ ถูกลงโทษด้วยข้อหาก่อฆาตกรรมโดยไม่ได้เจตนา มีโทษจำคุก 3 ปี

เธอในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า “เมื่อติดตั้งกล้องแล้ว คำโกหกของพวกคุณจะถูกเปิดเผยหากคุณเป็นหมอเถื่อน กล้องจะเปิดเผยความจริง”

การออกกฎหมายติดตั้งกล้องในห้องผ่าตัดไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ในเวียดนามมีการจับกุมเจ้าหน้าที่แพทย์ที่บ่งพร่องในหน้าที่คล้ายกับกรณีของนักศึกษาเกาหลีใต้ แต่ก็ไม่อาจเอาผิดเพิ่มเติมเนื่องจากขาดหลักฐานในห้องผ่าตัด เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ฝ่ายนิติบัญญัติเคยเสนอกฎหมายลักษณะเดียวกันในปี 2019 แต่ก็ไม่ผ่านมติจากสภา

กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ระบุว่า เกิดกรณีหมอจริงปล่อยหมอเถื่อนช่วยผ่าตัดลักษณะนี้ประมาณ 100 คดีในช่วง 5 ปี ก่อนปี 2018 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งเกาหลีใต้คาดว่า ระหว่าง 2008 ถึง 2014 อาจมีผู้ป่วยกว่า 100,000 คนตกเป็นเหยื่อจากเคสผ่าตัดลักษณะนี้