ฟินแลนด์-สวีเดน “ชาติเป็นกลาง” ที่พร้อมรับมือสงครามนิวเคลียร์

ฟินแลนด์
ภาพ ABC News / myhelsinki.fi

เปิดกลยุทธ์พร้อมภัยรับสงครามนิวเคลียร์ของสวีเดนและฟินแลนด์ หลังจ่อทิ้งสถานะชาติเป็นกลางที่ยึดถือมานาน เดินหน้าร่วมนาโต้

วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ราชอาณาจักรสวีเดน และสาธารณรัฐฟินแลนด์ สองชาตินอร์ดิกที่ยึดถือแนวทาง “ชาติเป็นกลาง” มานานหลายทศวรรษ ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญขอยื่นใบสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก องค์กรต่อต้านแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ซึ่งความคืบหน้าดังกล่าวถือว่าจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง “ภูมิรัฐศาสตร์” ของชาติสแกนดิเนเวียครั้งสำคัญ

โดยเฉพาะฟินแลนด์ที่มีพรมแดนติดรัสเซียยาวกว่า 1,300 กิโลเมตร ในบางพื้นที่ระหว่างฟินแลนด์และรัสเซีย มีเพียงแนวต้นไม้กั้นเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างสองชาติเท่านั้น นั่นหมายความว่าหากฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกนาโต้สำเร็จ แนวพุ่มไม้ที่กันพรมแดนระหว่างสองชาติ อาจกลายเป็นจุดเปราะบางบนเส้นความตึงเครียดทางทหารระหว่างรัสเซียกับนาโต้

ภาพ ABC News / myhelsinki.fi

ปฏิเสธไม่ได้กว่าการสงครามยูเครนที่ปะทุขึ้น ส่งผลให้สวีเดนและฟินแลนด์ต้องทบทวนสถานะชาติเป็นกลางที่ยึดถือมานานนับหลายสิบหลายร้อยปี อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะนับทศวรรษที่สองชาติยึดแนวทางความเป็นกลางในก่อนหน้านี้ ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองชาติจะไร้ซึ่งการเตรียมตัว รับมือความเสี่ยงจากภัยสงครามนิวเคลียร์ ทั้งฟินแลนด์ และสวีเดน ต่างมีความพร้อมอย่างรอบด้านสำหรับรับความเสี่ยงจากภัยสงครามนิวเคลียร์มากกว่าชาติมหาอำนาจเสียด้วยซ้ำ

ภาพ ABC News / myhelsinki.fi

เมืองใต้ดินของฟินแลนด์

สำหรับฟินแลนด์แม้จะได้ชื่อว่าเป็นชาติที่มีความสุขที่สุดในโลก แต่ด้วยสถานการณ์ยูเครนที่ทำให้ต้องเปลี่ยนจุดยืนตัดสินใจเข้าร่วมนาโต้ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อรัสเซียอย่างมาก เสี่ยงต่อการนำโลกเข้าสู่ความตึงเครียดด้านสงครามนิวเคลียร์อีกครั้ง แต่สำหรับฟินแลนด์การรับมือภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ลึกลงไปใต้ดินราว 30-40 เมตรที่เป็นชั้นหินซึ่งมีกรุงเฮลซิงกิเมืองหลวงอยู่ด้านบน คือเครือข่ายอุโมงค์และถ้ำขนาดใหญ่ที่แข็งแรง มีบังเกอร์หลบภัยไม่น้อยกว่า 500 แห่งสามารถรองรับพลเมืองชาวฟินแลนด์ได้ถึง 600,000 คน อีกทั้งยังทนทานต่อแรงระเบิดนิวเคลียร์

แนวคิดบังเกอร์ใต้ดินของฟินแลนด์เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงปี 1960 จากความตึงเครียดนิวเคลียร์คิวบาระหว่างสหรัฐอเมริกา กับสหภาพโซเวียต ซึ่งรัฐบาลฟินแลนด์ขณะนั้นจัดสร้างบังเกอร์หลบภัยสำหรับประชาชนรวมถึงจัดเก็บรถโดยสารประจำทางที่เป็นสองชั้นนับหมื่นคัน แต่ขณะนั้นเป็นการสร้างในลักษณะบังเกอร์หลบภัยเป็นจุด ๆ กระจายทั่วเมือง กระทั่งช่วงปี 1980 ที่เฮลซิงกิก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน รัฐบาลท้องถิ่นจึงเดินหน้าก่อสร้างโครงข่ายเส้นทางใต้ดินเพื่อเชื่อมต่อสถานที่สำคัญต่างเข้ากับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

ภาพ ABC News / myhelsinki.fi

ตลอดเวลา 40 ปี นับตั้งแต่เฮลซิงกิก่อสร้างโครงข่ายใต้ดิน ปัจจุบันการก่อสร้างเมืองใต้ดินดังกล่าวก็ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยอานิสงส์ที่ใต้กรุงเฮลซิงกิเป็นชั้นหินอันแข็งแกร่งส่งผลให้โครงข่ายใต้ดินเหล่านี้ สามารถใช้เป็นบังเกอร์หลบภัยนิวเคลียร์อย่างดี

ปัจจุบันเฮลซิงกิมีพื้นที่ใต้ดินและอุโมงค์กินพื้นที่รวมเกือบ 10 ล้านตารางเมตร เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายทั้ง พิพิธภัณฑ์ศิลปะใต้ดิน โบสถ์ สระว่ายน้ำ ร้านค้า ร้านกาแฟ แม้แต่นามแข่งรถโกคาร์ท บังเกอร์หลบภัยสำหรับพลเรือนไม่น้อยกว่า 5,000 แห่งซึ่งเพียงพอมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของเมือง อ่างเก็บน้ำความลึก 40 เมตร ใต้พื้นที่ใจกลางเมืองสำหรับเหตุฉุกเฉิน เช่นเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 25 แห่งทั่วเมืองถูกออกแบบมาให้เป็นที่หลบภัยสำหรับพลเมืองได้นานหลายวัน

ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินประชาชนสามารถค้นหาทางเข้าหลุมหลบภัยใต้ดินได้จากเว็บไซต์ของเมือง รวมถึงเว็บไซต์กระทรวงกลาโหมและเว็บไซต์ของรัฐบาลฟินแลนด์

ภาพ ABC News / myhelsinki.fi

Charly Salonius-Pasternak จากสถาบันระหว่างประเทศของฟินแลนด์ (Finnish Institute for International) กล่าวว่า “มีตัวอย่างในประวัติศาสตร์มากมายที่คุณควรเตรียมพร้อมเสมอ แม้คุณอาจไม่ใช่คนรุ่นนี้ หรือรุ่นต่อๆไป แต่รัสเซียก็มีแนวโน้มที่จะโจมตีฟินแลนด์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เป็นเวลาหลายทศวรรษ ที่ฟินแลนด์เลือกที่จะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารใดๆ เพื่อพยายามระงับความกังวลด้านความมั่นคงของรัสเซีย เป็นผลให้ฟินแลนด์ต้องให้แน่ใจว่าจะสามารถป้องกันตัวเองได้ ไม่ใช่แค่บังเกอร์ใต้ดินเท่านั้น การเกณฑ์ทหารยังคงเป็นข้อบังคับผู้ชายชาวฟินแลนด์ ปัจจุบันประเทศนี้มีกำลังสำรองประมาณ 900,000 นาย

ภาพ ABC News / myhelsinki.fi

“เราต้องดูแลพลเมือง นั่นคือเหตุผลหลักที่เรามีระบบนี้” โทมี ราสก์ เจ้าหน้าที่กลาโหมฟินแลนด์ เผยต่อสำนักข่าวเอบีซีของสหรัฐฯ หนึ่งในชาวฟินแลนด์ที่มาใช้บริการสระว่ายน้ำใต้ดิน Itäkeskus เผยต่อสื่อสหรัฐฯว่า “เรามีเพื่อนบ้านที่น่าสยดสยองทางฝั่งตะวันออกของประเทศ เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากร่วมนาโต้” สอดคล้องกับ คาริม เพลโตเนน ผู้อำนวยการสำนักกู้ภัยแห่งชาติฟินแลนด์กล่าวว่า “เมื่อเราจะปกป้องประเทศ เราต้องมีความสามารถในการปกป้องพลเรือนของเราด้วย”

สวีเดนกับคู่มือเอาตัวรอดจากสงคราม

“Om krisen eller kriget kommer” หรือ “ถ้าสงครามมา” เป็นคู่มือที่รัฐบาลสวีเดนพิมพ์แจกจ่ายประชาชนเมื่อปี 2018 โดยคู่มือความยาว 20 หน้า ตีพิมพ์ 13 ภาษา มีเนื้อหาแนะนำชาวสวีเดนรวมถึงพลเมืองต่างชาติในกรณีที่ประเทศอาจเผชิญภัยต่าง ๆ เช่น สงคราม ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย ตลอดจนการถูกโจมตีทางไซเบอร์

คู่มือเอาตัวรอดจากสงครามที่สวีเดนแจกจ่ายประชาชนฉบับล่าสุดนี้ เป็นฉบับปรับปรุงจากคู่มือเตรียมตัวรับสงครามที่สวีเดนเคยจัดทำในช่วงสงครามเย็น โดยเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตน หากเกิดภาวะสงครามหรือการสู้รบ ในเอกสารจะให้ข้อมูลประชาชนอย่างรอบด้านตั้งแต่ หลุมหลบภัยที่ใกล้ที่สุด แหล่งน้ำสะอาด อาหารหรือยาพื้นฐานที่ควรกักตุน เสื้อผ้า น้ำมันเชื้อเพลิงควรเก็บกี่ลิตรโดยคำนวนจากสมาชิกในครอบครัว ตลอดจนการรับข่าวสารเตือนภัยจากหลากหลายช่องทาง เอกสารชุดนี้ได้รับการตีพิมพ์และแจกจ่ายแก่ประชาชนครั้งแรกในปี 1961 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯและสหภาพโซเวียตกำลังเผชิญความตึงเครียดด้านนิวเคลียร์

หากพูดถึงสถานะชาติเป็นกลางสำหรับสวีเดน ถือเป็นประเทศที่ยึดถือแนวทางดังกล่าวมายาวนาน สวีเดนเป็นประเทศที่เป็นกลางในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และไม่เคยข้องเกี่ยวหรือร่วมทำสงครามใดมานานกว่า 200 ปี

ปีเตอร์ ฮูลท์ควิสต์ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสวีเดนมาตั้งแต่ปี 2014 จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน เคยกล่าวว่า คู่มือฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่ควรนิ่งนอนใจ แม้สวีเดนจะยึดถือแนวทางเป็นกลางมานาน ที่ผ่านมาหลายครั้งรัสเซียแสดงให้เห็นว่า พร้อมเสมอที่จะใช้กำลังทางทหารเพื่อเป้าหมายทางการเมือง

ลิงก์คู่มือรับภัยสงครามของสวีเดน https://rib.msb.se/filer/pdf/28706.pdf