จดหมายแห่งอนาคต (14) ยุคของอเมริกาเสื่อมลงแล้ว ดอลลาร์จะเสื่อมลงหรือยัง ?

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกของพ่อ

คำถามยอดนิยมที่นักลงทุนชอบถามพ่อ คือทำไมเวลาประเทศไทยเจอปัญหาเศรษฐกิจหนัก ๆ ค่าเงินบาทมักจะอ่อนตัว และประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอื่น ๆ ก็มักจะประสบชะตากรรมเดียวกัน แม้แต่ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างจีน และแม้แต่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป ออสเตรเลีย หรือสิงคโปร์ ก็หนีไม่พ้นกฎนี้

ยกเว้นก็แต่ สหรัฐอเมริกา เท่านั้น ที่หลายครั้งในยามวิกฤติเศรษฐกิจที่ควรจะทำให้คนหมดความมั่นใจต่ออเมริกา กลับกลายเป็นว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับแข็งขึ้น สวนความคาดหมาย

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ช่วงปี 2008 ที่มีจุดศูนย์กลางของวิกฤติอยู่ที่อเมริกาอย่างชัดเจน ในขณะนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังพุ่งดิ่งลงติดตัวแดง แต่เงินดอลลาร์กลับแข็งค่าสวนทางค่าเงินของชาติอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาหนักเท่า

อะไรที่ทำให้เงินดอลลาร์เป็นข้อยกเว้น “เศรษฐกิจอเมริกาอ่อน แต่ค่าเงินกลับแข็ง ?”

สิทธิพิเศษของ reserve currency

เหตุผลสำคัญที่สุดข้อหนึ่ง คือการที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีสถานะเป็น Reserve currency หรือคือสกุลเงินที่ประเทศต่าง ๆ ใช้เป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้า ลงทุน และเก็บออม

ในยามที่นักลงทุนทั่วโลกตื่นตระหนก มักจะถอนการลงทุนที่ตัวเองมีในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น หุ้นกู้ สินค้าโภคภัณฑ์ พันธบัตรของรัฐบาลในเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ หรือสินทรัพย์ที่อยู่ในเงินตราไม่ว่าจะเป็นในประเทศใดที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ ให้กลับมาเป็น “แหล่งเงินดั้งเดิม” ก่อนที่จะไปลงทุนในที่ต่าง ๆ ซึ่งแหล่งเงินดั้งเดิมส่วนใหญ่มักจะเป็นดอลลาร์สหรัฐ เสมือนเวลาเราไม่มั่นใจกับอนาคตแล้วถอนการลงทุนทั้งหมดขายทิ้งทุกอย่างที่มี ก็จะได้รับ “เงินสด” กลับคืนมา ดังนั้น ดอลลาร์สหรัฐจึงเป็นเหมือน “เงินสด” ของโลกนั่นเอง

บางครั้งกฎกติกาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตลาดการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงต่อผู้ให้กู้ เช่น ธนาคาร ก็อาจทำให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมากกว่าเดิม เช่น การที่สถาบันการลงทุนกู้เงินสกุลต่าง ๆ มาลงทุน เมื่อตลาดหุ้นตกทั่วโลก สถาบันการลงทุนก็อาจโดนเรียก margin call คือถูกเรียกให้เพิ่มเงินทุน เพราะสินทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันเงินกู้มีมูลค่าตกลง ขั้นตอนเช่นนี้ก็อาจยิ่งทำให้เงินกลับสู่แหล่งเดิม คือสกุลดอลลาร์เร็วยิ่งขึ้น

บารมีดอลลาร์ vs บารมีสหรัฐอเมริกา

ลูกอาจถามต่อว่า แล้วทำไม “แหล่งเงินดั้งเดิม” ของพวกนักลงทุน โดยเฉพาะพวกนักลงทุนสถาบันถึงต้องเป็นดอลลาร์สหรัฐ พ่อคิดว่ามีสองสาเหตุใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ข้อแรก คือ การค้าโลกส่วนใหญ่ยังใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ

ในวันที่พ่อเขียนจดหมายนี้ สัดส่วนดอลลาร์สหรัฐในการค้าโลกน่าจะประมาณ กว่า 40% นำหน้าที่สองคือเงินสกุลยูโรที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 30% ส่วนเงินหยวนยังมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 2% แม้ว่าจีนจะมีสัดส่วนตลาดการค้าระหว่างประเทศของโลกในบางปีสูงกว่าสหรัฐอเมริกาเสียอีก

นอกจากนี้ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการกำหนดราคาสินค้าต่าง ๆ ในโลก มักจะทำกันในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ไม่เพียงแต่สินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ เช่น น้ำมัน ข้าวสาลี ถั่วเหลือง รวมไปถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายเท่านั้น แม้แต่การค้าระหว่างประเทศที่ไม่มีอเมริกาเป็นคู่ค้าด้วย ส่วนใหญ่ก็ยังใช้การตั้งราคาและทำใบเสร็จเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขในส่วนนี้หาไม่ง่าย แต่ศาสตราจารย์ Gita Gopinath ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ศึกษาเจาะลึกโดยสำรวจ 40 กว่าประเทศ และพบว่าสัดส่วนของการค้าโลกที่ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐนั้นมีสูงกว่าสัดส่วนการค้าโลกของอเมริกาสามถึงสี่เท่าตัว นอกจากนี้ แม้ประเทศไทยของเราจะเลิกใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ไปแล้ว แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่ผูกค่าเงินของตนอยู่กับดอลลาร์สหรัฐ เช่น ฮ่องกงดอลลาร์ และเงินหลายสกุลในตะวันออกกลางมีนโยบายการเงินผูกอยู่กับสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะใน “อดีต” อเมริกาคือเศรษฐกิจที่ครองอำนาจมากที่สุดในโลก ไม่ใช่เพียงแต่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีเสถียรภาพมากที่สุด แต่สหรัฐยังเป็นผู้ตั้งกฎกติกาเศรษฐกิจและการเงินโลกผ่านองค์การระหว่างประเทศในยุค Bretton Woods เช่น IMF และ WTO ดังที่เคยเล่าให้ฟังในตอนก่อน ๆ

นอกจากนี้ อเมริกายัง “ยอม” ซัพพลายเงินดอลลาร์ของตนให้ทั่วโลกยามจำเป็น เช่น การก่อเกิดตลาด “ยูโรดอลลาร์” หรือ เงินดอลลาร์นอกสหรัฐอเมริกา ที่มีส่วนทำให้กรุงลอนดอนกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก

เหตุผลที่สองที่มีความเกี่ยวพันกับข้อแรกด้วยก็คือ ธนาคารกลางทั่วโลกยังใช้เงินดอลลาร์สหรัฐอย่างแพร่หลาย ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ สัดส่วนของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในกองทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ที่อยู่ที่ประมาณกว่า 60% แม้สัดส่วนนี้จะลดน้อยลงมาเรื่อย ๆ ก็ตาม แต่เงินยูโรที่ครองอันดับสองยังตามมาห่าง ๆ ที่สัดส่วน 20% จากตัวเลขของระบบการชำระเงินข้ามประเทศของ SWIFT

แน่นอนเหตุผลหนึ่งที่ธนาคารกลางต่าง ๆ สำรองเงินตราต่างประเทศเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐมากที่สุด เป็นเพราะระบบชำระเงินและการค้าระหว่างประเทศยังใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นวงจรที่เสริมกันและกัน

พูดง่าย ๆ ก็คือ ต้นตอของบารมีเงินดอลลาร์สหรัฐทุกวันนี้เกิดจากบารมีทางด้านเศรษฐกิจอเมริกาที่มีอยู่มากในอดีต และภายหลังอาจก้าวข้ามความสำคัญของประเทศอเมริกาไปเสียอีก เมื่อนักลงทุนและรัฐบาลต่าง ๆ ยังมีความเชื่อมั่นและใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการค้าการลงทุน ที่อาจไม่ได้มีอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง

เรียกได้ว่าเงินดอลลาร์กลายเป็น สินค้าส่งออก ที่สำคัญที่สุดของอเมริกาเลยก็ว่าได้ จนมีตัวเลขที่น่าสนใจ คือ มีการประมาณการโดยธนาคารกลางสหรัฐว่า ทุกวันนี้เงินธนบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐกว่าครึ่งหนึ่งนั้นอยู่นอกสหรัฐอเมริกา

ปัญหาจากความไม่สมดุลบารมีเศรษฐกิจอเมริกาและดอลลาร์

ลูกรู้หรือไม่ ว่า “ความไม่สมดุล” ระหว่างบารมีของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่มาก กับความสำคัญของเศรษฐกิจอเมริกา เป็นรากของความสับสนและผันผวนในเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกเลยทีเดียว

ในอดีตที่เศรษฐกิจอเมริกายังเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุด หากเศรษฐกิจอเมริกาโตได้ดี ก็จะเป็นข่าวดีของตลาดเกิดใหม่อย่างเราด้วยเช่นกัน เพราะถ้าตลาดส่งออกขนาดใหญ่ของเราฟื้นตัว การส่งออกและเศรษฐกิจของเราก็ดีตาม ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นด้วย

แต่ในวันที่พ่อเขียนจดหมายนี้ บางครั้งสถานการณ์ก็กลับตาลปัตร เพราะตลาดการเงินเราอิงกับดอลลาร์สหรัฐ (และดอกเบี้ยอเมริกา) มากกว่าเศรษฐกิจของอเมริกา

กลายเป็นว่าหากเศรษฐกิจอเมริกาดูจะฟื้นตัวได้ดีมาก บางครั้งกลับกลายเป็นข่าวร้ายสำหรับตลาดหุ้นและค่าเงินของเรา เพราะนักลงทุนคาดการณ์ว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตดีมาก ธนาคารกลางอเมริกาอาจประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น

หากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เงินทุนก็จะไหลออกจากตลาดการเงินเกิดใหม่ ทำให้ค่าเงินของตลาดเกิดใหม่หรือของเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอ่อนค่าลง จนบางครั้งธนาคารกลางของบางเศรษฐกิจที่มีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจไม่ดีพอ อาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน ชะลอไม่ให้เงินไหลออกเร็วเกินไป กลายเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงินในประเทศ และส่งผลลบกับทั้งเศรษฐกิจและตลาดการเงินของตน

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ทั้งหมดนี้ ก็จะเป็นการกลบ “ข่าวดี” ที่ว่าเศรษฐกิจอเมริกาโตเร็วขึ้น เพราะเศรษฐกิจหลายแห่งรวมทั้งของไทยเองไม่ได้อิงกับภาวะเศรษฐกิจในอเมริกามากเท่าแต่ก่อน

อานิสงส์ที่ได้จากการส่งออกที่ดีขึ้นนั้น เจือจางลงกว่าwแต่ก่อน แต่ถ้าหากความสำคัญของเงินดอลลาร์ลดลงไป เช่นเดียวกับความสำคัญของเศรษฐกิจอเมริกาที่ลดลง เมื่อ Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ย ผลที่ตามมาก็คงจะไม่ต่างไปจากการที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วแห่งหนึ่งปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งไม่ได้ส่งผลลบสะเทือนไปทั่วเช่นนี้

แม้วันนี้ดอลลาร์สหรัฐยังคงทรงอำนาจ แต่คำถามก็คือ ต่อไปในอนาคต บารมีของดอลลาร์สหรัฐจะลดลงตามเศรษฐกิจอเมริกาหรือไม่ และเงินหยวนของจีนจะผงาดขึ้นมาแทนที่ได้หรือไม่ มาต่อกันฉบับหน้า

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (4) ฤๅโลกมหาวิทยาลัยจะเดินตามโลกดนตรี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (6) MOOC เป็นตั๋วให้ผู้ตกขบวนรถไฟได้หรือไม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (7) พิษร้ายความไม่เท่าเทียมกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (8) เคล็ดการเรียนรู้ตลอดชีพ

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (9) การเสื่อมอำนาจของอเมริกาและอนาคตการค้าโลก

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (10) กับดัก Kindleberger “จีน” เป็นผู้นำใหม่แทน “อเมริกา” ได้ไหม ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (11) ภาพร่างโลกาภิวัตน์ลายมังกร

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (12) ทำไมโครงการรถไฟ “ไฮสปีด” อาจเดินหน้าแบบ “สโลโมชั่น”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (13) อุปสรรคสู่ทางสายไหมของจีน