พลังของการยอมรับในความไม่รู้ (จบ)

คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : รณดล นุ่มนนท์

ฉบับที่แล้ว ผมเขียนถึง “ความเชื่อ” ว่าถ้าเราเชื่อแบบหัวปักหัวปำแล้ว ก็ยากจะเปลี่ยนแปลง

“ศาสตราจารย์อดัม แกรนต์” (Adam Grant) ผู้เขียนหนังสือ “Think Again : The Power of Knowing What You Don’t Know” จึงขอให้เราทบทวนความเชื่อของตนเองอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อจะได้หลุดพ้นจาก “ความเชื่อที่ฝังใจ” ผันตัวเองเข้าสู่โหมด “นักวิทยาศาสตร์”

โดยเริ่มจากการเลือกใช้เหตุผลที่ปัง ๆ เพียง 2-3 เหตุผลตั้งสมมุติฐาน เพื่อแสวงหาคำตอบ

อย่างไรก็ดี กระบวนการคิดใหม่ เรียนรู้ใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะต้องละทิ้งความคิดที่เพียงให้มองเห็นแค่อะไรก็ได้ที่คาดหวังจะเห็น จะต้องพึงเข้าใจว่ามนุษย์เรามีระดับความเชื่อมั่นแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ

กลุ่มแรกมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เช่น แฟนกีฬาที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ และดูจะเก่งกว่าโค้ช และนักกีฬาเสียอีก พวกนี้จัดว่าเป็น “ยอดฝีมือ บนเก้าอี้นวม” (the armchair quarterback) คือ “ดีแต่พูด เล่นไม่เป็น”

ส่วนกลุ่มที่สองถ่อมตัวแบบเตี้ยติดดินไปอีกสุดขั้วหนึ่ง แม้จะมีความรู้ความสามารถ แต่กลับไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ถือเป็นกลุ่ม “คนไร้ตัวตน” (impostor syndrome) คิดเพียงว่าทำไม่เป็น ทำไม่ได้ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอะไรเลย

คนทั้ง 2 จำพวกนี้ต่างต้องจมอยู่ในหลุมพรางของตัวเอง และคนอื่นตลอดไป ไม่สามารถเปลี่ยนความคิด (rethink) และทิ้งความรู้เดิม ๆ (unlearn) ให้เข้ามาอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ และวิธีแก้พฤติกรรมต่างขั้วของ 2 กลุ่มนี้ คือ การทำให้เกิดความพอดีระหว่างความเชื่อมั่นกับความถ่อมตัว (confident humility) (1)

นอกเหนือจากความยากที่จะเปลี่ยนความเชื่อของตนเองแล้ว การจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อของผู้อื่น ยังเป็นความท้าทายที่ยิ่งกว่า “ศาสตราจารย์แกรนต์” ยกตัวอย่างเรื่องราวของการพบกันเมื่อปี 1983 ระหว่าง “แดริล เดวิส” (Daryl Davis) นักดนตรีผิวสี กับชายอเมริกันผิวขาว สมาชิกลัทธิคูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan : KKK) กลุ่มชาตินิยมขวาสุดโต่งที่ดูถูก เหยียดหยามคนผิวสี

หลังจาก “เดวิส” เล่นเปียโนเพลงคันทรี่ที่ชายผิวขาวคนนั้นชื่นชอบ และออกจะแปลกใจที่ “เดวิส” สามารถเล่นเพลงคันทรี่ได้ และแปลกใจเป็นคำรบสอง เมื่อ “เดวิส” เดินลงจากเวทีเข้ามาคุยด้วย ชายผิวขาวรู้สึกตื่นเต้น เพราะในชั่วชีวิตยังไม่เคยได้พูดคุยกับคนผิวสีมาก่อนเลย

เขาบอก “เดวิส” อย่างไม่อ้อมค้อมว่าเขาอยู่ในกลุ่ม KKK ซึ่งแทนที่ “เดวิส” จะเดินหนี กลับป้อนคำถามอย่างสุภาพว่า… ผมขอถามตรง ๆ เถอะครับว่าทำไมคุณมองผมอย่างดูถูก และรังเกียจ ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อนครับ

เป็นคำถามที่กินใจ ก่อให้เกิดจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนมุมมองในเรื่องเชื้อชาติตั้งแต่วินาทีนั้น และทั้งสองเริ่มสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ชายผิวขาวได้ลาออกจากสมาชิกภาพกลุ่ม KKK แถมยังขอร้องให้ “เดวิส” ไปเกลี้ยกล่อมเพื่อน ๆ ให้ออกจากสมาชิกของกลุ่ม และที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือเขาได้ขอร้องให้ “เดวิส” เป็นพ่อทูนหัวของลูกสาวอีกด้วย (2)

เรื่องราวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความเชื่อเดิมของแต่ละคนอาจจะถูกปลูกฝังมาแบบผิด ๆ ทำให้เกิดอคติอย่างไร้เหตุผล เมื่อสมาชิกลัทธิ KKK ได้สัมผัสกับคนผิวสีอย่าง “เดวิส” ทำให้ได้รู้จักกับโลกของความเป็นจริง และตระหนักว่าไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใด สีผิวใด ต่างก็เป็นมนุษย์บนโลกใบเดียวกัน จะต้องอยู่ร่วมกันให้ได้

ดังนั้น เมื่อเรามีโอกาสจะโน้มน้าวผู้อื่นให้คิดใหม่ และเรียนรู้ใหม่ เราจำเป็นต้องหัดตั้งคำถามที่ถูกต้อง เป็นคำถามที่เกิดจากความสงสัย ไม่ควรใช้คำถามว่า “ทำไม” ที่เต็มไปด้วยความลำเอียง แต่ควรใช้คำถามว่า “อย่างไร” เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดต่อกันเหมือนกับการเต้นรำไปด้วยกัน

ในบางครั้งเรานำ ในบางครั้งเขานำ ไม่ใช่เหมือนการชกมวยที่หวังจะเอาแพ้เอาชนะ รวมทั้งต้องเป็นผู้ฟังที่ดีคือฟังอย่างไตร่ตรอง ทำให้เกิดแรงจูงใจให้ผู้ฟังคิดทบทวนตนเองว่าทำไมจึงควรเปลี่ยนความเชื่อนั้น

การคิดใหม่ การเรียนรู้ใหม่ ไม่ควรจำกัดแค่ตนเอง แต่ควรจะทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมในองค์กรด้วย เพื่อเราจะได้เกิดกระบวนการคิดใหม่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในโลกยุค new normal

“ศาสตราจารย์แกรนต์” สรุปเนื้อหาของหนังสือด้วยวลีทองว่า…เมื่อไหร่ที่คุณรู้ตัวว่าคุณไม่รู้ แปลว่าคุณฉลาดขึ้นแล้ว