ถอดสลักรถไฟฟ้า ต้องรอฟ้าผ่า-ต้นไม้หัก

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

ตั้งแต่คนกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯเมืองคนใหม่ ดูทุกอย่างเปลี่ยนไป และเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

ล่าสุด ผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตอบชัดเจนเรื่องไลฟ์สดทุกวันว่า ใครจะบ่นบ้างก็ยอมรับ แต่จะไม่หยุดไลฟ์ เพราะมีคนคนหนึ่งเลิกคิดฆ่าตัวตาย เมื่อเข้ามาดู LIVE ชัชชาติ

“ใครจะว่าก็ว่าไป เราไม่ได้บังคับให้ดู คุณข้ามไปได้เลย แต่การได้ช่วยให้ชีวิตหนึ่งหลุดพ้น รอดพ้น ไม่คิดฆ่าตัวตาย ผมว่าคุ้มนะ”

อีกประเด็นที่ซีเรียส และภาคธุรกิจกำลังเฝ้าจับตา คือ คำมั่นสัญญาเรื่องพิจารณาทบทวนสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรม

ชัชชาติยอมรับว่า เป็นงานหิน และซับซ้อนพอสมควร เรื่องรถไฟฟ้าส่วนตัวมีความตั้งใจที่ดี และไม่คิดเป็นศัตรูกับใคร

เพียงแต่ กทม. โดยกรุงเทพธนาคมในฐานะคู่สัญญา ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า ทำไมต้องเป็นราคานี้ จะลดราคาลงได้หรือไม่

ลดไม่ได้ เพราะติดปัญหาอะไร สัญญาเคลียร์มั้ย แล้วทำไมการต่อสัญญาจ้างเดินรถถึงยาวนาน

ทั้งหมดเป็นความสงสัยโดยปกติ เช่นเดียวกับที่ชัชชาติสงสัยเรื่องสัญญาว่าจ้างการเก็บขยะ

ด้วยเหตุนี้ ชัชชาติจึงต้องผ่องถ่ายงานไปให้ “ทีมเวิร์ก” หรือคณะบุคคล ที่เขาคิดว่า จะพึ่งพาพึ่งพิงได้อย่างสนิทใจให้ช่วยทำการบ้าน

หวยออกที่ “อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ” ศาสตราจารย์พิเศษผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางราชสำนัก และพระราชพิธี

ในฐานะประธานบอร์ดคนใหม่ของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) บริษัทที่ กทม.ถือหุ้นใหญ่ และเป็นคู่สัญญาสัมปทานทุกโปรเจ็กต์ของภาคเอกชน

ข่าววงในกระซิบว่า อาจารย์ธงทองตกใจ และส่ายหัว เมื่อเห็นกองเอกสารสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวมีมากมาย โดยขอใช้คำว่า “มหึมา” คือเยอะจริง ๆ

เอกสารเยอะไม่ว่า แต่ทำไมจับประเด็นได้ยาก เหมือนกับที่ตั้งคำถามกันว่า ทำไมไม่มีใครเคยเห็นสัญญาโครงการนี้เลย เป็นความลับหรือไม่ หรือไม่ลับ แต่ไม่มีใครสนใจ

จนได้เลือกตั้งผู้ว่าฯคนใหม่ และกลายเป็นนโยบายขอทบทวนโครงการ เป้าหมายเพื่อการจัดระเบียบและตั้งราคาโดยสารด้วยโครงสร้างที่เป็นธรรม

แต่แล้วคนที่มาร่วมศึกษาสัญญาสายสีเขียวก็ต้องมึนตึ้บ จับต้นชนปลายไม่ถูก กว่าจะจับทางได้ ฉายภาพรวมได้ ให้ประชาชนเข้าใจกันแบบง่าย ๆ ก็ต้องใช้เวลา และสื่อสารให้เป็น ไม่งั้นฟ้าผ่าฟ้าร้อง ต้นไม้หักตามมาอีก

กลายเป็นว่า รถไฟฟ้าสายนี้มีอาถรรพ์ ด้วยสัญญาที่สลับซับซ้อน อีนุงตุงนัง หากถอดสลักไม่ดี อาจทำเอาสัญญาพันคอ หายใจไม่ออก เหมือนที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เจ้ากระทรวงคมนาคม กล่าวเตือนไว้ “ระวังจะเสียค่าโง่”

ล่าสุด ผู้ว่าฯ กทม.พยายามคลี่ทีละประเด็นว่า หัวใจหลักของสายสีเขียวอยู่ตรงไหน สัญญามีกี่ส่วน ตอนนี้กำลังตระเตรียมประเด็นให้ชัดเจนถึงข้อดี ข้อเสีย โดยมี “ประชาชน” เป็นโจทย์ตั้ง คือผลประโยชน์ต้องตกแก่ส่วนรวม

งานนี้อาจมีหยิกเนื้อเจ็บเล็บกันบ้าง

โดยเฉพาะใจของชัชชาติต้องการให้สัญญาจ้างการเดินรถที่เซ็นไว้ล่วงหน้า ที่เริ่มปี 2572-2585 (เฉพาะสายหลักสายสุขุมวิทที่เปรียบเสมือนเส้นทางไข่แดง) จบที่ปี 2572 จะได้หรือไม่ เราต้องแลกหรือต้องเสียอะไร ต้องชั่งน้ำหนัก เปรียบเทียบ

จะว่าไปแล้ว งานนี้ไม่ง่าย อาจต้องให้ธรรมชาติเปล่งเสียง เปรี้ยงปร้าง มีฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ต้นไม้หักกันบ้าง ใครที่เสียงแข็งมาตลอด อาจจะเสียงอ่อนลงก็ได้

เหมือนกรณีคูปองทิพย์แซลมอนบุฟเฟต์ “ดารุมะ” ข่าวดังรัวติด ๆ กัน ไม่กี่วันก็เงียบเป็นปลิดทิ้ง

เพราะเจ้าของแฟรนไชส์อายุน้อยร้อยคดี ตัดสินใจบินกลับไทยมาให้โดนจับ

เรื่องที่ว่ายาก ก็จบง่ายเอาดื้อ ๆ

ใจเราก็ภาวนาขอ “สายสีเขียว” เป็นแบบนี้บ้าง