บ้านปู บริษัทแรกในอาเซียน ตั้งคณะกรรมการ ESG สร้างพลังงานสู่อนาคต

บ้านปู

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) มาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่ผ่านมามีการจัดตั้งคณะกรรมการ ESG โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับกระบวนการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจ เพื่อมุ่งให้ความสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ยิ่งเฉพาะเรื่องพลังงานและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงประเด็นด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ

ภายใต้จุดยืน “Smarter Energy for Sustainability : อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน”

สำหรับคณะกรรมการ ESG ประกอบด้วย “พิริยะ เข็มพล” ประธาน พร้อมด้วย “พิชัย ดุษฎีกุลชัย” และ “ธีรภัทร สงวนกชกร” เป็นกรรมการ ซึ่งจะมีบทบาทในการสนับสนุนคณะกรรมการบริษัทในการกำกับดูแลเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ESG ไม่ว่าจะเป็นอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน ชุมชน ความรับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ

“พิริยะ” ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) กล่าวว่า คณะกรรมการจะเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง, พิจารณานโยบาย เป้าหมาย การดำเนินงาน และผลลัพธ์, ตรวจสอบและติดตามการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย, ตลอดจนดูแลเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่สำคัญออกสู่สาธารณะ

“รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ร่วมกับคณะผู้บริหารบริษัท เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน ESG ให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด เพราะบ้านปูมีธุรกิจอยู่ใน 10 ประเทศ และแต่ละประเทศจะมีความหลากหลายของธุรกิจ และมีกฎระเบียบสังคมแตกต่างกัน”

“สมฤดี ชัยมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บ้านปูถือเป็นบริษัทแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีคณะกรรมการ ESG ดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อมุ่งเน้นในการสร้างธุรกิจของเราให้มีกระแสเงินสดจากส่วนที่เป็นสีเขียวมากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2025

สมฤดี ชัยมงคล_ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

“การทำเรื่อง ESG ผ่านมา เรามีการพัฒนาและมีตัวอย่างกิจกรรมมากมาย เพราะเรามี sustainability committee ด้วยการนำแผน SDGs ข้อที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ โดยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 1.1 GW ภายในปี 2568 ทั้งยังมีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน, พลังงานเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบสนองแนวโน้มและความต้องการพลังงานแห่งโลกอนาคต”

“หรือข้อที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยภายในปี 2568 เราจะลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติสำหรับธุรกิจเหมือง และร้อยละ 20 สำหรับธุรกิจไฟฟ้า และข้อที่ 15 ระบบนิเวศบนบก (life on land) ภายในปี 2568 บ้านปูกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุผลกระทบสุทธิเชิงบวกหลังสิ้นสุดการทำเหมือง สำหรับเหมืองที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (หลังสิ้นสุดการทำเหมืองจะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีกว่าก่อนเริ่มทำเหมือง)”

“สมฤดี” กล่าวต่อว่า นอกจากประเด็นสิ่งแวดล้อมแล้ว บ้านปูยังคงให้ความสำคัญกับด้านสังคม ตั้งแต่ระดับภายในองค์กรจนถึงภายนอกองค์กร เช่น การจัดการและพัฒนาศักยภาพของพนักงาน การจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การทำงานชุมชนสัมพันธ์ และการพัฒนาชุมชน เพราะบ้านปูมีวัฒนธรรมองค์กร “Banpu Heart” ที่เชื่อมโยงและหลอมรวมพนักงานจากหลากหลายเชื้อชาติและต่างวัฒนธรรมใน 10 ประเทศที่บ้านปูดำเนินธุรกิจ

สำหรับโครงการเพื่อสังคมที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง เช่น โครงการสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนให้มีครูภาษาอังกฤษเจ้าของภาษาเข้ามาสอนในโรงเรียนทั้ง 6 แห่งในจังหวัดลำพูน, ลำปาง และพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บ้านปูเคยดำเนินธุรกิจ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษแก่นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พัฒนาครู พัฒนาการบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

อีกทั้งยังมีโครงการ “Power Green Camp (PWG)” โดยความร่วมมือระหว่างบ้านปูกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่เยาวชน โดยโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม ด้วยความร่วมมือระหว่างบ้านปู และคณะวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนานักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและนักเรียนอาชีวศึกษาให้มีทักษะของนวัตกรรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการสร้างบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้

นอกจากนี้ยังก่อตั้งกองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19 ที่ทำร่วมกับกลุ่มมิตรผล เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 โดยปัจจุบันกองทุนฯมีงบประมาณรวม 1,000 ล้านบาท

ส่วนการกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืน มีการดูแลจริยธรรมทางธุรกิจ การจัดการคู่ค้า และผู้รับเหมา การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และการจัดการความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Data Privacy & Cybersecurity)

เนื่องจากบ้านปูมีการจัดตั้งหน่วยงาน Digital Center of Excellence (DCOE) เพื่อขับเคลื่อนบ้านปูให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และแนวคิดแบบดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้กับองค์กร พร้อมกับยกระดับความรับผิดชอบด้าน ESG ใน Supply Chain ด้วยการผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการคู่ค้า โดยใช้ระบบ ESG Audit Performance ในกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าและผู้รับเหมารายใหม่ก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และคู่ค้าที่ร่วมงานกันอยู่ในปัจจุบัน

นับว่าน่าสนใจทีเดียว