จ่ายค่าตกใจ 1 เดือนจริงหรือ ?

ค่าตกใจ เลิกจ้าง
คอลัมน์ : เอชอาร์คอร์เนอร์
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ https://tamrongsakk.blogspot.com

มักจะมีการบอกต่อ ๆ กันมาว่า ถ้าหากจะแจ้งเลิกจ้างพนักงานวันนี้แล้วบอกว่าพรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ บริษัทต้องจ่ายค่าตกใจ (หรืออาจจะเรียกว่า ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า) 1 เดือน

แล้วบริษัทต่าง ๆ มักจะจ่ายค่าตกใจ 1 เดือนกันมาโดยตลอด

คำถามคือตกลงแล้วการจ่ายค่าตกใจ 1 เดือนที่ทำกันต่อ ๆ มานั้นถูกต้องหรือไม่ ?

มาตรา 17 ของกฎหมายแรงงาน บอกไว้ว่า…ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้

แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้

ผมเลยทำผังให้ดูแบบเข้าใจง่ายตามภาพครับ

จากมาตรา 17 ข้างต้น ผมสมมุติว่าบริษัทจ่ายเงินเดือนทุกสิ้นเดือน (ตามภาพประกอบ) ถ้าบริษัทแจ้งเลิกจ้างลูกจ้างวันที่ 30 มิ.ย. โดยบอกว่า พรุ่งนี้ (คือวันที่ 1 ก.ค.) ไม่ต้องมาทำงานแล้ว บริษัทต้องจ่ายค่าตกใจ (หรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้า) ไป 1 เดือน คือตั้งแต่ 1 ก.ค. ถึง 31 ก.ค.

ส่วนค่าจ้างในเดือน มิ.ย.ก็ต้องจ่ายให้ลูกจ้างเต็มเดือนตามปกติอยู่แล้วนะครับ เพราะตามมาตรา 17 ให้บอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างหรือก่อนหน้านั้น เพื่อให้มีผลเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในครั้งต่อไป

แต่ถ้าสมมุติว่าบริษัทไปแจ้งเลิกจ้างพลาดไปเพียง 1 วัน คือแทนที่จะแจ้งวันที่ 30 มิ.ย. แต่กลับไปแจ้งเลิกจ้างในวันที่ 1 ก.ค. โดยบอกลูกจ้างว่าพรุ่งนี้ (2 ก.ค.) ไม่ต้องมาทำงานแล้ว จึงเสมือนกับบริษัทไปแจ้งเลิกจ้างวันที่ 31 ก.ค. ก็เลยต้องนับจากวันที่ 31 ก.ค.ไปอีก 1 รอบการจ่ายค่าจ้างถึงวันที่ 31 ส.ค.

บริษัทจึงต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือน ก.ค.และเดือน ส.ค.

บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1-31 ก.ค. (เต็มเดือน) และ 1-31 ส.ค. (เต็มเดือน)

สรุปคือกรณีนี้บริษัทจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือนครับ

ดังนั้น การจ่ายค่าตกใจ หรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้าอาจจะเป็น 1 เดือน หรือ 2 เดือนก็ได้ แล้วแต่ว่านายจ้างจะบอกกล่าวล่วงหน้าวันไหน อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าเราคงเข้าใจหลักการจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตรงกัน และเลือกวันแจ้งได้เหมาะสมแล้วนะครับ