อัพเดตแผนลงทุน “ปตท.” ครึ่งปีหลังลุยธุรกิจใหม่

ปตท.

ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ร้อนแรงตลอดช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา รัฐบาลและภาคเอกชนต่างมุ่งวางมาตรการดูแลราคาพลังงานในประเทศ พร้อมเร่งขับเคลื่อนการลงทุนด้วยอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันให้ไทยในอนาคต

“นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อัพเดตถึงแผนธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ว่ายังคงเดินหน้าตามแผน 5 ปี (ปี 2573)

การดำเนินงานของ ปตท.ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ คาดว่ายอดขายจะปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และมีการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น เบื้องต้นพบว่ายอดการใช้น้ำมันในปัจจุบันเริ่มกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงปี 2562 ที่เป็นสถานการณ์ปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ลุยธุรกิจใหม่

ช่วงที่เหลือของปี 2565 กลุ่ม ปตท.ยังเดินหน้าขยายการลงทุนด้านพลังงานตามแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2573) หรือพลังงานแห่งอนาคต future energy ไปสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำด้วยเม็ดเงินลงทุน 14,600 ล้านบาท ด้วยวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” คือการมุ่งไปสู่ธุรกิจสีเขียว อย่างการลงทุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ครบทั้งแวลูเชน ทั้งการผลิตประกอบตัวรถ ผลิตชิ้นส่วนชิปอย่าง smart electronics และ semiconductor

ซึ่งปัจจุบันลงนามกับทางฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) เพื่อผลิตและประกอบรถ EV กำลังการผลิต 50,000 คัน ซึ่งจะใช้เวลา 2 ปี จะมีรถออกมาขายตามแผน ภายใต้งบฯลงทุน 1,000 ล้านเหรียญ ล่าสุดจากการหารือชัดเจนว่าจะจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมแถบภาคตะวันออก (EEC) เฟส 2 ในปี 2573 อีก 150,000 คันต่อปี ส่วนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มผลิตรถ EV นั้น เบื้องต้นมีผู้สนใจแล้ว 2-3 ราย

จากนั้นจะต่อยอดขยายการลงทุนไปสู่ชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่ปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก และการลงทุนด้านแบตเตอรี่ EV มีโอกาสที่จะมองการลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่ในต่างประเทศ ล่าสุดได้หารือกับผู้ประกอบการรถบัส เพื่อสนับสนุนให้เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ EV โดย ปตท.จะสนับสนุนเรื่องของแบตเตอรี่ ส่วนสถานีชาร์จปีนี้จะมีครบ 450 แห่งทั่วประเทศ ที่ทาง OR จะเริ่มเก็บค่าบริการชาร์จในเดือน ส.ค.นี้

ขณะเดียวกัน ปตท.ยังมีแผนการลงทุนในพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าเป้าหมาย 12,000 เมกะวัตต์ จากเดิม 400 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ทำได้ 2,000 เมกะวัตต์แล้ว

ลดปล่อยคาร์บอน

“เมื่อถึงเป้าหมายสัดส่วน กำไรสุทธิ 30% ของ ปตท.จะเป็นพลังงานสีเขียว จากปัจจุบันที่มี 10% โดยบริษัทในกลุ่มจะดำเนินงานไปตามส่วนที่ตนถนัด เช่น ธุรกิจโรงกลั่นลงทุนเพิ่มพัฒนาตัวน้ำมันให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง EURO 5 ทางด้านธุรกิจปิโตรเคมี การนำเอาพลาสติกมาใช้อีกครั้ง หรือการเป็น Bio พลาสติกโดยใช้วัตถุดิบ (feedstock) จากผลิตภัณฑ์การเกษตร เพื่อให้เกิดการย่อยสลายได้”

เรื่องคาร์บอนต่ำ ปตท.ได้ประกาศแผนที่ทำได้จริงก่อนรัฐบาล หรือให้ได้ก่อนปี 2065 (ปี 2608) โดยนำวิธีการดักจับคาร์บอนที่ไม่เป็นประโยชน์มากักเก็บไว้ในพื้นที่อ่าวไทย ที่เคยสูบก๊าซออกมาแล้ว ซึ่งมีศักยภาพเก็บได้ถึง 40 ล้านตัน/ปี

ชูแนวคิดแก้วิกฤตพลังงาน

นายอรรถพลระบุว่า การแก้ไขปัญหาราคาพลังงานที่ผันผวนของประเทศไทย วิธีที่ดีที่สุด คือ การประหยัดพลังงาน เพราะเรื่องใหญ่ของพลังงานมันประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1.ความมั่นคงด้านพลังงาน ไทยไม่เคยขาดแคลน 2.ราคาพลังงาน ขึ้นลงตามตลาดโลก 3.สิ่งแวดล้อม ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบ ซึ่งทั้งหมดต้องวางแผนให้เกิดสมดุลในทุกด้าน และต้องไม่ให้ถูกกระทบจากกติกากีดกันทางการค้าของโลก

ในส่วนของ ปตท.ได้เข้าช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนพลังงานให้ “กลุ่มเปราะบาง” นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ด้วยการใช้ส่วนลดราคา NGV และ LPG รวมเป็นงบประมาณเกือบ 3,300 ล้านบาท และจะยังยืดอายุมาตรการช่วยเหลือตามนโยบายรัฐต่อไปอีก 3 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม เขาประเมินว่าราคาน้ำมันดิบปี 2566 มีแนวโน้มอ่อนตัวลงต่ำกว่าระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก (โอเปก) เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเดือนละ 6 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งถึงสิ้นปี 2565 จึงทำให้มีซัพพลายน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่ตลาดอีก 3 ล้านบาร์เรล/วัน ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตมากนัก

ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันยังไม่หวือหวา จึงน่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงได้ แม้ยังมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนอยู่ก็ตาม ขณะที่ต้นทุนราคาพลังงานอื่น ๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ก็คาดว่าจะเริ่มทยอยอ่อนตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมัน แต่ในส่วนของ LNG ราคาจะยังปรับขึ้น-ลงตามซีซั่น

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปี 2565 คาดว่าจะมีราคาเฉลี่ย 103-104 เหรียญ/บาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ต้นทุนราคาขายปลีกพลังงานโดยรวมของไทยทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซ NGV และก๊าซ LPG ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศในช่วงที่ราคาแพง คือ แนวทางรับมือที่ดีที่สุด