ปตท.ขึ้นแท่นผู้ผลิตยาระดับโลก ลงทุน 1.3 หมื่นล้าน โปรเจ็กต์สุขภาพ

ปตท.ฉีกหนีวิกฤตพลังงาน เร่งเครื่องธุรกิจใหม่เท 1.3 หมื่นล้าน ส่งอินโนบิกปูพรมผนึกพันธมิตรลงทุนธุรกิจสุขภาพครบวงจร ขึ้นแท่นผู้ผลิตยาระดับโลก หลังถือหุ้นใหญ่ Lotus Pharmaceutical ของไต้หวัน เดินหน้าตลาด “อาหารเพื่ออนาคต” ยื่นบีโอไอขึ้นโรงงานผลิตแพลนต์เบสที่นิคมโรจนะ ลงทุน “อินเตอร์ฟาร์มา” ปักหมุด “ยาสัตว์” น่านน้ำใหม่ เผยอยู่ระหว่างพิจารณาอีกหลายโปรเจ็กต์ ต่อจิ๊กซอว์ขับเคลื่อนไทยก้าวสู่ “เมดิคอลฮับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางวิกฤตพลังงานโลก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เดินหน้าขยายการลงทุนธุรกิจใหม่ที่เป็นธุรกิจ New S-curve ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) โดยมุ่งเน้นเรื่องยา เทคโนโลยีทางการแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ ภายใต้บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด รวมถึงธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) ในการร่วมทุนกับกลุ่มฟ็อกซ์คอนน์ ตั้งโรงงานผลิตยานยนต์อีวีในพื้นที่อีอีซี

ขึ้นแท่นผู้ผลิตยาโลก

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจัดตั้งบริษัทอินโนบิกฯเมื่อช่วงปลายปี 2563 ผ่านไป 1 ปีครึ่ง บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 13,000 ล้านบาท ในการร่วมลงทุนกับพันธมิตร ใน 3 สาขาธุรกิจหลัก

บุรณิน รัตนสมบัติ

คือ ธุรกิจยา เทคโนโลยีทางการแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ถือว่าเป็นการลงทุนใหญ่และทำให้ ปตท. ก้าวเข้าสู่ธุรกิจผู้ผลิตยาอย่างรวดเร็ว ก็คือการเข้าไปลงทุนในบริษัท Lotus Phamaceutical ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ตอนแรกเข้าไปถือหุ้น 6% แต่ล่าสุดได้ขยายการลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 37% เม็ดเงินลงทุน 475 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 12,000 ล้านบาท

“ช่วงแรกเข้าไปลงทุนเพียง 6% ก็เข้าไปเปิดบ้านดู โรงงานเป็นยังไง มีวิธีการทำงานอย่างไร เมื่อเห็นว่าดี ประกอบกับกองทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมถือมาระยะเวลาหนึ่งต้องการจะออกพอดี ทางอินโนบิกก็เข้าไปสวมแทนในกองทุน ทำให้เพิ่มสัดส่วนเป็น 37% และเมื่อรวมกับพันธมิตรที่เป็นผู้บริหารของโลตัสฯ ก็จะมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 51% มีอำนาจในการบริหาร รวมถึงมีการส่งคนเข้าไปอยู่ในองค์กรด้วย”

เล็งขยายฐานตั้งโรงงานยาในไทย

นายบุรณินกล่าวว่า โลตัสฯเป็นบริษัทผู้ผลิตยาสามัญที่มีนวัตกรรมกว่า 250 รายการ โดยเฉพาะกลุ่มยารักษาโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs เช่น มะเร็ง หัวใจ และมีฐานตลาดในสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย และเป้าหมายต่อไปก็คือการมองหาโอกาสและขยายตลาดสู่อาเซียน ถ้าบริษัททำได้ ต่อไปก็อาจจะมีการตั้งโรงงาน หรือทำอะไรในเมืองไทยเพิ่มขึ้น

จากปัจจุบันที่โลตัสฯมีโรงงานอยู่ในเกาหลี และไต้หวัน ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ไม่ได้ซื้อแค่บริษัทโลตัสฯ แต่ยังได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท Adalvo ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจซื้อสิทธิบัตรยา หากเห็นว่ายาตัวไหนดีก็จะเข้าไปซื้อ หรือยาตัวไหนที่กำลังพัฒนาก็ไปเสาะแสวงหาสิ่งเหล่านี้ และมองถึงโอกาสงานวิจัยดี ๆ ของไทยก็ทำได้ ก็จะดูว่าสิทธิบัตรซื้อมาแล้วไปขายต่อในต่างประเทศได้ไหม

“การลงทุนในฝั่งธุรกิจยา ถือว่ามีความก้าวหน้าไปพอสมควร เพราะในการพัฒนายา ขอใบอนุญาต ขึ้นทะเบียนใช้เวลานาน แต่ดำเนินการด้วยการเข้าไปลงทุนในผู้ผลิตอย่างนี้ ก็ทำให้เรามีตัวตนมากขึ้นในธุรกิจผลิตยาในเวลาเพียงปีกว่า”

นายบุรณินฉายภาพว่า การลงทุนร่วมกับโลตัสฯครั้งนี้ยังจะเชื่อมโยงกับโครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานยามะเร็ง ที่ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ สวทช. ก่อนหน้านี้ โครงการดังกล่าวอาจมีการปรับรูปแบบ ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญของอินโนบิกฯคือ การผลิตสารตั้งต้นในการผลิตยา (API)

รวมถึงการขยายสู่ชีววัตถุ ซึ่งเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในการกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ จะได้รับการสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนการลงทุนใน BCG ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้โรงงาน ผลิตภัณฑ์ การตลาด งานวิจัย มีการขับเคลื่อนมากขึ้น

ปตท กราฟฟิก ธุรกิจ

รุกคืบ “อุปกรณ์การแพทย์”

ขณะที่ธุรกิจเทคโนโลยีการแพทย์ทางอินโนบิกฯ ได้ร่วมกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัทลูกผลิตต่อยอดการใช้ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นสินค้าพื้นฐานของกลุ่ม ผลิตเป็นเม็ดพลาสติกสำหรับใช้ในหน้ากากอนามัย N95 และผ้าที่ใช้สำหรับผลิตชุด PPE โดยขายให้กับโรงงานเอสเอ็มอีในประเทศไทยนำไปใช้ผลิตหน้ากาก ชุดพีพีอี ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบ จากเดิมที่ไทยต้องนำเข้า แผนการลงทุนนี้เป็นการ “ฉีก” เพื่อตอบสนองลูกค้าได้

และเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 ยังได้ลงทุนในบริษัท นำวิวัฒน์ การช่าง (1992) จำกัด (มหาชน) ประมาณ 17% เป็นโรงงานผลิตตู้อบ ตู้ฆ่าเชื้อ เป็นระบบฆ่าเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งมีจุดแข็งด้านมาตรฐาน ISO13485 เป้าหมายคือการยกระดับให้ไทยเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ในประเทศ และส่งออกไปประเทศใกล้เคียง

ขึ้น รง.แพลนต์เบสใหญ่สุดในไทย

นายบุรณินกล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจอาหารเพื่ออนาคต ในการพัฒนาและผลิตโปรตีนจากพืช (plant based) อินโนบิกฯได้ร่วมทุนกับบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป

จัดตั้งบริษัทใหม่ Nutra Regenation Protein หรือ NRPT โดยถือหุ้นสัดส่วน 50:50 และบริษัทพันธมิตรอังกฤษของ NRF สร้างโรงงานแพลนต์เบส ที่นิคมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว อยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2565 แล้วเสร็จเริ่มผลิตได้ในปี 2566

โรงงานแห่งนี้จะเป็นการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) เพื่อป้อนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือสตาร์ตอัพ ซึ่งตลาดแพลนต์เบสปัจจุบันเปิดกว้างสำหรับคนที่รักสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นคาดว่าจะผลิตสินค้า 3 รายการหลัก

คือ ไส้แฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก และแฮมจากถั่วเหลือง มีกำลังการผลิตประมาณ 3,000 ตัน/ปี ซึ่งถือเป็นเป็นขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ที่ผ่านมา บริษัทยังได้เปิดคอมมิวนิตี้อาหารขายแพลนต์เบสโดยเฉพาะ ชื่อว่า “alt. Eaterly” ที่ซอยสุขุมวิท 51 ด้วยการสนับสนุนสถานที่จากกลุ่มแสนสิริ

ปักหมุด “ยาสัตว์เลี้ยง”

นายบุรณินกล่าวว่า ในปีนี้บริษัทต้องเดินหน้าเก็บเกี่ยวผลจากการร่วมลงทุน ขณะเดียวกันก็แสวงหาโอกาสใหม่ ขณะนี้ก็ยังมีธุรกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหลายโปรเจ็กต์ ล่าสุดบอร์ดเพิ่งอนุมัติลงทุนในบริษัท อินเตอร์ฟาร์มาจำกัด (มหาชน) จำนวน 20% ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai บริษัทมีคอนเซ็ปต์คล้ายกับของ ปตท. มีธุรกิจยา อาหารเพื่อสุขภาพ และที่น่าสนใจคือมีเรื่องยาสัตว์เลี้ยงด้วย ซึ่งเป็นตลาดที่ดีในช่วงที่ผ่านมา

จุดเด่นอินเตอร์ฟาร์มา คือเดิมเป็นบริษัทเทรดดิ้งยา อาหารเสริม และที่ผ่านมาได้ไปลงทุนโรงงานผลิตยา ชื่อ “เทวา” ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบริษัทยาระดับโลกของอิสราเอล สินค้าหลักคือยารักษาโรคตา ซึ่งเป็นยาเฉพาะทางที่มีแนวโน้มเติบโตที่ดี เพราะในยุคที่คนอยู่กับเทคโนโลยี อยู่กับหน้าจอมือถือมากขึ้น ปัญหาโรคตาก็มีมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีเอาต์เลตชื่อ “แล็บ ฟาร์มาซี” ลักษณะคล้ายกับร้าน Boots ร้าน Watson ซึ่งถือเป็นเครือข่ายที่จะพัฒนามาอยู่ในกลุ่มของ ปตท. เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายก็จะเข้าไปร่วมมือ

ธุรกิจแตกตัวแบบไวรัส

“โมเดลธุรกิจของบริษัท อินโนบิกฯ จะเป็นการแตกย่อยอาจสัก 10 บริษัท ซึ่งจะมีรูปแบบลักษณะที่ต่างกันออกไปตามแต่ละธุรกิจ เป็นลักษณะเลียนแบบไวรัส แตกตัว เติบโต ทุกคนจะต้องมีบริษัท และมีภูมิคุ้มกันของตัวเอง เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือแต่ละบริษัทก็ต้องสามารถสร้างผลตอบแทนให้เกิดขึ้น”

นายบุรณินกล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนของอินโนบิกฯมี 2 แบบ คือเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทที่เห็นโอกาส แต่ก็ก็ต้องทำยุทธศาสตร์ร่วมกันให้เติบโต โดยใช้ประโยชน์จากกำลังการผลิตที่มีอยู่ อีกด้านก็ดำเนินการต่อธุรกิจใหม่ที่ยังค้างอยู่ อย่างโรงงานยามะเร็งต้องเดินหน้า และต้องทำเรื่องงานวิจัยเข้าไปเกี่ยว เพราะทำวันนี้ไม่ได้เสร็จพรุ่งนี้ แต่ทำวันนี้เสร็จใน 5 ปี 10 ปี

วิกฤตสู่โอกาส

ดังนั้นจึงต้องเริ่มทำ เพราะแม้วิกฤตโควิดหมดไป วิกฤตใหม่ ๆ ก็เข้ามา ยกตัวอย่างเรื่อง “ยา” ต่อไปเราต้องเตรียมรับสังคมสูงวัย ทั้งเรื่องยา อาหารโภชนาการตั้งแต่เยาวชนไปถึงสังคมสูงวัย เรื่องวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ปตท.ยังเสาะแสวงหาดีลใหญ่ ๆ ที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิต

จากที่เดิมส่วนใหญ่จะเป็นการผลิต ถุงมือยาง ชิ้นส่วนบางส่วน ทางอินโนบิกฯก็เริ่มหาโอกาสใหม่ เช่น ที่เซ็นกับ IRPC และบริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) เพื่อต่อยอดปิโตรเคมีไปสู่การเป็นวัสดุทางการแพทย์ อะไหล่ภายในมนุษย์ ซึ่งต้องศึกษาเรื่องวัสดุศาสตร์ advanced materials เป็นวัสดุที่ชั้นสูงขึ้น

“วันนี้โลกกำลังเกิดวิกฤตอาหาร ขณะที่เรื่องพลังงานเราอาจจะซัฟเฟอร์ เพราะประเทศไทยเป็นผู้นำเข้า 80-90% แต่อาหารประเทศไทยเป็นผู้ส่งออก เมื่อราคาพลังงานสูงขึ้น อาหารสูงขึ้น ดังนั้นขาหนึ่งเราได้รับผลกระทบ

แต่ส่งออกอาหารราคาสูงขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดี ปตท.ลุกขึ้นมาทำธุรกิจนวัตกรรม เราหนีสินค้าคอมโมดิตี้ที่มีความผันผวน ราคาขึ้นลง ซึ่งการลงทุนธุรกิจใหม่ของ ปตท. ทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ และทำให้เด็กไทยในอนาคตจะได้มีงานใหม่ ๆ เกิดขึ้น”

ต่อจิ๊กซอว์สู่เมดิคอลฮับ

“เรื่องผลตอบแทนการลงทุน ปตท.วางเรื่องนี้ไว้ 10 ปี ไม่ได้กดดันว่าจะต้องได้กำไรทันที แต่ให้เงินมาดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง ทำให้เกิดการลงทุน แต่ก็มีวินัยทางการเงิน การคลัง เหมือนสมัยที่ ปตท.เกิดมาช่วงที่วิกฤตพลังงาน 2521 โดย ปตท.ให้เงินตั้งต้นอินโนบิกฯมา 2 พันล้าน และเพิ่มให้ 1.3 หมื่นล้าน

ตอนนี้ถามเหมือนกันว่าเวลาเดินต่อไป มีวิธีหาเงินมาเติมไหม ซึ่งเรายืนยันว่าทุกบริษัทที่เข้าไปลงทุนมีผลประกอบการกำไรทั้งหมด ตัวอย่างเช่น บริษัทโลตัสฯ มีรายได้ปีละ 10,000 ล้านบาท กำไร 1 พันล้านบาท รวมถึงบริษัทอินเตอร์ฟาร์มา หรือนำวิวัฒน์ฯก็มีกำไร บริษัทก็จะรับรู้รายได้เพิ่ม หลังการร่วมลงทุน”

นายบุรณินย้ำว่า อนาคตอินโนบิกฯยังต้องการขยายการลงทุนต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจอีกมาก เพราะปัจจุบันธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ ถือว่าเป็น 4 ใน 12 สาขา New S-curve คือ เกษตรสมัยใหม่ ไบโอเทคโนโลยี การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สุขภาพ อาหารแห่งอนาคต การแพทย์ครบวงจร

ซึ่งทั้งหมดจะมาช่วยให้ไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) และสร้างระบบเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy)