ทำไมนิเทศศาสตร์ ม.เกษตรฯ มีจำนวนผู้สมัคร TCAS66 สูงเป็นอันดับ 1 ปีนี้

นิเทศ ม.เกษตร
ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ : ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ม.เกษตร (cai kasetsart)

เปิดเหตุผล ทำไม นิเทศศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ถึงมียอดผู้สมัคร TCAS รอบแอดมิชชั่นสูงอันดับ 1 ในปีการศึกษา 2566 

วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้เผยรายชื่อ 10 สาขาวิชาที่มีผู้สมัคร TCAS รอบ 3 แอดมิชชั่นมากที่สุด ประจำปีการศึกษา 2566 โดยที่อันดับ 1 คือ คณะมนุษยศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ยอดรับ 38 ที่นั่ง ยอดสมัคร 9,244 คน หรืออัตราส่วน 243:1 สูงมากกว่าสาขาที่ได้อันดับ 1 ในปีการศึกษา 2565 อย่างคณะสหเวชศาสตร์ สาขาเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีผู้สมัครมากสุดในปี 2565 อยู่ที่ 5,812 คน

และที่สำคัญ ถ้าดูสถิติย้อนหลังของสาขานิเทศศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์นั้น ในปี 2565 รับ 40 ที่นั่ง มีผู้สมัคร 938 คน ซึ่งถ้าเทียบกับปี 2566 นี้ถือว่ายอดสมัครพุ่งสูงขึ้นหลายเท่า

เพจ Dek-D’s TCAS สอบติดไปด้วยกัน ซึ่งรายงานข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา และการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยว่า หากนำสถิติปีนี้ของคณะมนุษยศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ไปเทียบกับปีก่อนพบว่ามียอดผู้สมัครสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 10 เท่า

  • ปี 2565 รับ 40 ที่นั่ง มีผู้สมัคร 938 คน
  • ปี 2566 รับ 38 ที่นั่ง มีผู้สมัคร 9,244 คน

นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกณฑ์คัดเลือกปี 2565 ใช้คะแนน GAT 30% + PAT1 หรือ PAT7 70% แต่ปี 2566 ใช้คะแนนเกรด 30% + TGAT40% + สังคม 10%, ไทย 10%, อังกฤษ 10%,

นิเทศศาสตร์แข่งขันสูงมาตลอด

ส่วนสถิติยอดการสมัครปี 2563 จำนวน 1,100 คน ปี 2564 จำนวน 3,933 คน ปี 2565 จำนวน 938 คน ปี 2566 จำนวน 9,244 คน

จากสถิติยอดผู้สมัครในแต่ละปีจะเห็นว่า คณะมนุษยศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นคณะยอดนิยมและแข่งขันสูงมาโดยตลอด แต่เนื่องจากปีนี้ทาง ทปอ.มีการปรับรูปแบบการสอบใหม่ มีทั้งเปิดวิชาใหม่ ยุบวิชาเดิม และจัดหมวดหมู่ของวิชาต่าง ๆ ส่งผลให้หลายคณะต้องปรับการใช้คะแนนใหม่ตามวิชาที่มีเปิดสอบ 

โดยจะเห็นได้ว่าสาขานิเทศศาสตร์ มีปรับเกณฑ์หลายส่วน อาทิ ปีนี้ใช้เกรดมาเป็นสัดส่วนถึง 30% จากที่ปี 2565 ไม่ได้ใช้ หรือการเปลี่ยนจากใช้วิชาคณิตศาสตร์ หรือภาษาที่ 3 มาใช้วิชาสังคม ภาษาไทย และภาษาอังกฤษแทน

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็จะเห็นว่า เกณฑ์ปีก่อนวิชาที่กำหนดใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาที่มีผู้เข้าสอบเป็นกลุ่มเฉพาะ เช่น PAT7 ภาษาต่างประเทศ ที่คนลงสอบส่วนใหญ่ก็จะเรียนในแผนการเรียน และมีความรู้พื้นฐานด้านภาษานั้น ๆ

แต่ปีนี้ได้ปรับมาใช้วิชา A-Level ภาษาไทย, สังคม และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานที่นักเรียน ม.6 ส่วนใหญ่ลงสอบ ประกอบกับภาพรวมของเกณฑ์ใหม่ ส่วนใหญ่เป็นวิชาที่มีสถิติคะแนนสูงเมื่อเทียบกับเกณฑ์เดิม 

“ดังนั้นเมื่อนักเรียนนำคะแนนไปคำนวณก็จะพบว่าคะแนนในปีนี้ จะสูงกว่าคะแนนต่ำสุดของปีก่อน หลายคนจึงพิจารณาว่าคะแนนลุ้นได้ มีวิชาครบ เพราะคะแนนบวกจากปีก่อนพอสมควร ประกอบกับเป็นสาขาและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จึงไม่ลังเลที่จะเลือกเป็น 1 ใน 10 อันดับ นี่จึงอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คณะมนุษยศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จากที่เป็นสาขายอดนิยมและแข่งขันสูงอยู่แล้ว ได้เพิ่มความนิยมและแข่งขันสูงขึ้นไปอีกก็เป็นได้”

Dek66 เรียนหลักสูตรฉบับปรับปรุงใหม่

สำหรับสาขานิเทศศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้รับการอนุมัติจัดตั้งขึ้นเป็นภาควิชาในคณะมนุษยศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2552 ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 157 ง ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างหน่วยงานภายในคณะมนุษยศาสตร์ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น โดยเป็นการรวมภาควิชาบรรณารักษศาสตร์กับสาขาวิชาสื่อสารมวลชน ภาควิชาศิลปนิเทศเข้าด้วยกัน มีการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาบัณฑิต และปริญญามหาบัณฑิตจำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ ตลอดจนสอนรายวิชาต่าง ๆ ทางด้านสารสนเทศศาสตร์เป็นวิชาบริการ แก่นิสิตทุกคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเป็นวิชาพื้นฐานทั่วไปและวิชาเลือกเสรี

สำหรับนิสิตที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป จะได้เรียนหลักสูตรฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 132 หน่วยกิต

ค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงการศึกษา

ค่าธรรมเนียมการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์

  • เหมาจ่ายภาคเรียนละ 12,900 บาท
  • ชำระตามระบบของมหาวิทยาลัย

ค่าบำรุงภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์

  • ภาคเรียนละ 2,500 บาท
  • ชำระตามประกาศภาควิชา

อาชีพที่ประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

  • Content Creator
  • นักข่าว
  • นักโฆษณา
  • ผู้เขียนบทรายการวิทยุ โทรทัศน์ ละคร และภาพยนตร์
  • นักประชาสัมพันธ์
  • นักสื่อสารการตลาด
  • ช่างภาพ
  • บรรณาธิการ
  • ผู้ดูแลงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก
  • พิธีกรและผู้ประกาศข่าว
  • ผู้ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์