อัพเดท ไทม์ไลน์ฉีดไฟเซอร์ 12-18 ปี เข็มแรก 4 ต.ค.นี้

ไทม์ไลน์ฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก

กระทรวงศึกษาธิการ อัพเดท ไทม์ไลน์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ นักเรียน นักศึกษา อายุ 12-18 ปี เข็มแรกเริ่ม 4 ต.ค.

วันที่ 15 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้อัปเดตไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา อายุ 12-18 ปี ทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านเฟซบุ๊ก ศธ.360 องศา โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • วันที่ 10-17 กันยายน 2564 กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมกับ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพม.) อาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) และผู้บริหารโรงเรียน สถานศึกษา ซักซ้อมความเข้าใจในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ และทำความเข้าใจผู้ปกครอง รวมทั้งระหว่างนี้โรงเรียน สถานศึกษา จัดเตรียมรายชื่อและจำนวนนักเรียน
  • 17-22 กันยายน 2564 : โรงเรียน / สถานศึกษา จัดประชุมทำความเข้าใจให้ข้อมูลกับผู้ปกครองในการฉีดวัคซีน
  • 21-24 กันยายน 2564 : โรงเรียน / สถานศึกษา เชิญผู้ปกครองลงนามแจ้งความประสงค์ (ยินยอม) ให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์
  • 25 กันยายน 2564 : โรงเรียนสถานศึกษา นำส่งบัญชีรายชื่อนักเรียน ที่ประสงค์จะรับวัคซีนไฟเซอร์ แก่ ผอ.สพม. /อศจ. แล้วนำส่ง ศธจ.
  • 26 กันยายน 2564 : ผอ.สพม. / อศจ./ ศธจ. ผู้แทนหน่วยงานในจังหวัดประชุมสรุปจำนวนและรายชื่อนักเรียน เพื่อนำส่งสาธารณสุขจังหวัด
  • 28-30 กันยายน 2564 : สาธารณสุขจังหวัด วางแผนการเข้ารับวัคซีน และกำหนดการฉีดวัคซีนรายโรงเรียน
  • 1ตุลาคม 2564 : โรงเรียน สถานศึกษา รับทราบกำหนดการฉีดวัคซีน และจัดเตรียมสถานที่
  • 4 ตุลาคม 2564 : เริ่มการฉีดวัคซีนนักเรียน

ศบค. ชี้ มีความเสี่ยงหัวใจอักเสบ

วันที่ 10 กันยายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า การฉีดไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12-17 ปี ทีมทางวิชาการมีความห่วงกังวลว่าจะต้องไม่ปิดบังเรื่องที่จะมีผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ซึ่งมีรายงานที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

“โดยเฉพาะผู้ปกครองได้รับทราบว่า มีความเสี่ยง และต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อนฉีดกับเด็ก เพราะฉะนั้นแนวทางด้านนี้ต้องขอให้เป็นความสมัครใจ จะไม่มีการบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น นี่คือไฟเซอร์ ไฟเซอร์ที่จะฉีดในผู้ที่มีอายุ 12-18 ปี” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

ฉีดเชื้อตายก่อน 2 เข็ม ปลอดภัยกว่า

วันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าในกลุ่มเด็กควรได้รับวัคซีนทั้งหมด แต่มีข้อควรระวังอย่างสูงในกรณีของวัคซีนไฟเซอร์เกี่ยวข้องกับหัวใจอักเสบที่จะพบได้ในกลุ่มอายุเช่นนี้เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ


การฉีดวัคซีนเชื้อตายสองเข็ม น่าจะให้ความปลอดภัยได้มากกว่า และหลังจากนั้นจะฉีดกระตุ้นต่อด้วยวัคซีนอื่นโดยวิธีเข้าชั้นผิวหนัง ก็ทำได้โดยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการควบคุมสายพันธุ์ต่าง ๆ และให้ความปลอดภัยด้วย