Prachachat BITE SIZE
ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผู้ใช้โมบายแบงกิ้งน่าจะวุ่นวายกับการไปที่ธนาคารอยู่พอสมควร เพราะตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลายธนาคารประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าไปที่สาขาของธนาคารหรือช่องทางต่าง ๆ ที่กำหนด เพื่อยืนยันตัวตน ถ่ายรูปใบหน้า หรืออัพเดตข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อรองรับกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
หลายคนอาจจะสงสัย หรือยังไม่ทราบว่า จะต้องไปอัพเดตทำไม ถ้าไม่อัพเดตจะใช้งานโอนจ่ายเงินผ่านมือถือได้หรือไม่ ?
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
- ตรวจหวย ตรวจผลรางวัล ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 1 มิ.ย. 66 (อัพเดต)
- เปิดสถิติผู้สมัครกลุ่มคณะแพทย์ ปี 66 มหา’ลัยไหนยอดสมัครสูงสุด
ทำไมต้องสแกนใบหน้า ?
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2565 มีเคสลูกค้าธนาคารที่ใช้โมบายแบงกิ้งถูกดูดเงิน เงินหาย มีรายการโอนเงินออกทั้งที่ไม่ได้ทำธุรกรรมเองเป็นจำนวนมาก ชนิดที่ว่า มีเคสเกิดขึ้นรายวัน มีคนโดนหลอกแทบทุกวัน
ชัชวัฒน์ อัศวรักวงศ์ ประธานกรรมการ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยี สารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) กล่าวว่า เริ่มเห็นเคสความเสียหายกรณีแอปดูดเงินตั้งแต่กลางปี 2565
ขณะที่สมาคมธนาคารไทย เผยถึงมูลค่าความเสียหายต่อประชาชน กรณีถูก “แอปดูดเงิน” ว่าอยู่ที่กว่า 500 ล้านบาท (ณ สิ้นปี 2565) แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น
ทำให้ทั้งสมาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐต้องหามาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การทำธุรกรรมปลอดภัยยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้น คือ การสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน เมื่อทำธุรกรรมตามที่แบงก์ชาติกำหนด
ธุรกรรมแบบไหน ต้องสแกนใบหน้า ?
ธุรกรรมแบบไหน ที่แบงก์ชาติกำหนดให้ต้องสแกนใบหน้า แบงก์ชาติกำหนดไว้ 3 เงื่อนไข คือ
- โอนเงินเกิน 50,000 บาท/ครั้ง
- โอนเงินรวมกันเกิน 200,000 บาท/วัน
- การปรับเพิ่มเพดานการโอน วงเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป/ครั้ง
หากทำธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น จะต้องทำการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรม
และนับตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา แบงก์ต่าง ๆ รวมถึงผู้ให้บริการ e-wallet ก็เริ่มแจ้งให้ลูกค้าเข้าไปที่สาขา เพื่ออัพเดตข้อมูล และ ดำเนินการถ่ายภาพใบหน้าเก็บไว้แล้ว
วิธีเช็กสถานะข้อมูลใบหน้ากับธนาคาร
หลังจากการประชาสัมพันธ์ของธนาคาร ถึงการให้ลูกค้าอัพเดตข้อมูล หรือเก็บภาพใบหน้า ลูกค้าหลายคนเกิดความสงสัยว่า เราจะรู้ได้ยังไงว่ามีข้อมูลใบหน้าในฐานข้อมูลของธนาคารแล้ว ?
หลายธนาคารแนะนำวิธีการเช็กสถานะข้อมูลใบหน้าแบบง่าย ๆ คือ ให้เข้าไปที่เมนูสมัครบริการ NDID ซึ่งตำแหน่งของเมนูดังกล่าวจะแตกต่างกัน บางแอป จะอยู่ที่หน้าแรก บางแอป ต้องไปเข้าจากเมนูอื่น
คำถามต่อมาคือ เช็กผ่านเมนูสมัคร/รายละเอียด NDID เท่ากับรู้ว่ามีข้อมูลใบหน้ากับธนาคารแล้วได้ยังไง ?
ระบบ NDID เป็นระบบยืนยันตัวตนสำหรับการทำธุรกรรมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้ข้อมูลใบหน้าเหมือนกัน และต้องมีข้อมูลใบหน้าก่อนการสมัครหรือใช้บริการเหมือนกัน ก็สามารถตรวจสอบได้ทันที
แต่มีธนาคารอื่น ๆ ที่มีวิธีแจ้งไปยังลูกค้าโดยตรง ดังนี้
- ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) ส่งข้อความแจ้งสถานะของแต่ละคนผ่านแอป ttb touch โดยตรง พร้อมบอกสถานะการมีข้อมูลใบหน้าว่า ใครมีข้อมูลใบหน้าแล้ว ใครยังไม่มี ข้อมูลใครยังไม่อัพเดต
- ธนาคารกรุงเทพ แจ้ง SMS ไปยังลูกค้าที่ต้องไปยืนยันเก็บภาพใบหน้าที่สาขา
อย่างไรก็ตาม มีหลายธนาคารออกมาให้ข้อมูลว่า ลูกค้าที่เพิ่งเปิดบัญชีใหม่ หรือลูกค้าส่วนใหญ่ที่ทำธุรกรรมอย่างต่อเนื่อง ธนาคารมีการเก็บข้อมูลใบหน้าอยู่แล้ว ก็สามารถใช้งานต่อเนื่องได้เลย
ถ้ายังไม่มีข้อมูลใบหน้า ทำอย่างไร ?
สำหรับใครที่ยังไม่มีข้อมูลใบหน้า ไปที่สาขาของธนาคารนั้น ๆ สาขาใกล้บ้านได้เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นสาขาที่เปิดบัญชี แล้วนำบัตรประชาชนไปด้วย เพื่ออัพเดตข้อมูล
แต่ถ้าไม่สะดวกไปที่สาขา บางธนาคารมีช่องทางอื่น ๆ รองรับ เช่น ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย ลูกค้าที่ยังไม่มีข้อมูลใบหน้า สามารถนำบัตรประชาชนไปยืนยันตัวตนที่ตู้ ATM ได้
ลูกค้าธนาคารกรุงไทย ไปยืนยันที่ตู้ ATM เครื่องสีเทา จอสัมผัส หรือสังเกตที่ตู้ ATM จะมีคำว่า Confirm ID โดยเมื่อยืนยันตัวตนแล้ว ข้อมูลใบหน้าจะถูกเก็บไว้ทั้งแอป Krungthai Next และแอป เป๋าตัง
ลูกค้าธนาคารกสิกรไทย ไปยืนยันที่ตู้ ATM ที่มีสัญลักษณ์ K Check ID
หรือสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนผ่านแอป โดยตอนนี้มี 2 ธนาคาร ที่ประกาศว่าสามารถทำได้ คือ ธนาคารกสิกรไทย และทีทีบี
ลูกค้าธนาคารกสิกรไทย เข้าไปที่แอป K PLUS เลือกเมนูตั้งค่า แล้วไปที่ “ยืนยันตัวตนด้วยใบหน้ากับธนาคาร” ก็ทำการเก็บข้อมูลใบหน้าได้เลย แต่ถ้ามีข้อมูลใบหน้าแล้ว ระบบจะแจ้งทันที
ขณะที่ทีทีบี ระบุว่า จะเริ่มใช้งานการสแกนใบหน้า ทำธุรกรรมตามที่กำหนด ตั้งแต่กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป และจะเริ่มให้อัพเดตข้อมูลใบหน้า ผ่าน ttb touch ตั้งแต่กรกฎาคม 2566 เช่นกัน
ถ้าไม่สแกนใบหน้าเก็บไว้ในระบบธนาคาร จะยังใช้แอปได้หรือไม่ ?
ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB DBank) ให้ข้อมูลว่า ลูกค้าที่ไม่อัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หากต้องการทำธุรกรรมการเงิน และเข้าข่ายภายในเงื่อนไข 3 ข้อข้างต้น จะไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินดังกล่าวได้ ส่วนกรณีลูกค้าที่ทำธุรกรรมไม่ได้เข้าข่ายเงื่อนไข 3 ข้อยังคงสามารถทำธุรกรรมการเงินได้ปกติ
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ เพื่อการใช้โมบายแบงกิ้งที่ปลอดภัย คือ ไม่กดลิงก์แปลก ๆ หรือลิงก์ที่อ้างว่าเป็นธนาคาร เพราะธนาคารเลิกส่งลิงก์แนบ SMS แล้ว และไม่โหลดแอปแปลก ๆ หรือโหลดจากที่อื่นที่ไม่ใช่ App Store แต่หากตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแล้ว รีบติดต่อ Hotline ของธนาคาร และรีบแจ้งความให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยหยุดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต