“ภากร” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย รับลูกนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ลุยเปิดเฮียริ่ง “ขยายเวลาซื้อขายหุ้น” ดึงนักลงทุน-เพิ่มวอลุ่มตลาด พร้อมเปิดแผนหารือ ออกไปโรดโชว์นักลงทุนต่างชาติ แสดงความสามารถทำกำไร-ศักยภาพบริษัทจดทะเบียนไทย ปั้นโปรดักต์ใหม่
วันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากการได้เข้าพบคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เพื่อหารือแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ได้ข้อสรุปด้วยกัน 5 เรื่องสำคัญคือ 1.การขยายเวลาซื้อขายหุ้นไทย ซึ่งเรื่องนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ทำการศึกษามาโดยตลอด เพียงแต่ในอดีตยังไม่เห็นประโยชน์ที่สูงมากนัก
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
แต่อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมองว่าควรจะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมีข้อมูลเตรียมไว้แล้ว โดยคาดว่าจะเอาเข้าประชุมคณะกรรมการ เมื่อเสร็จแล้วจะเอาไปเปิดรับฟังความเห็น (เฮียริ่ง) จากผู้ร่วมตลาดทุน และฝ่ายงานกำกับดูแล ต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย ที่จะมีการปรับเพิ่มเวลาการซื้อขาย ระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถจะเปิดซื้อขายได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะขึ้นอยู่กับองค์กรที่เกี่ยวข้องเห็นประโยชน์กับการขยายเวลาตรงนี้อย่างไร
สำหรับแนวทางการขยายเวลาซื้อขายหุ้นไทยนั้น ประโยชน์ที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับเวลาในการขยาย เพราะการซื้อขายของตลาดหุ้นทั่วโลกมีความต่อเนื่องกัน เริ่มจากตลาดหุ้นออสเตรเลีย มายังเอเชีย ไปยุโรป และไปยังสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นการขยายช่วงเวลาจะต้องดูว่าจะเป็นช่วงเช้า หรือช่วงเที่ยง หรือช่วงเย็น ซึ่งประโยชน์จะไม่เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้คงจะต้องไปนำเสนอข้อดีแต่ละช่วงเวลาให้กับผู้ร่วมตลาดต่อไป
“การที่เราจะขยายเวลาซื้อขายหุ้นไทยในแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน เราก็จะได้วอลุ่มของนักลงทุนที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นช่วงเช้าจะเป็นวอลุ่มของนักลงทุนในเอเชียนมาร์เก็ต ถ้าเป็นช่วงเที่ยงจะเป็นนักลงทุนเอเชียนและยูโรเปียน และถ้าเป็นช่วงเย็นจะเป็นนักลงทุนยูโรเปียน เพราะฉะนั้นคงจะต้องหารือกันอีกทีว่ากลุ่มนักลงทุนกลุ่มไหนที่เราน่าจะได้ประโยชน์สูงสุด” นายภากรกล่าว
2.ต้องมีการปรับกระบวนการทำงาน การให้ข้อมูล การจัดการการซื้อขายหุ้น และการยกระดับการจัดการของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ให้ความเชื่อมั่นกลับมาในตลาดทุนให้ได้มากขึ้น
จากที่เกิดเหตุการณ์กรณีของ MORE เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2565 และกลางปี 2566 กรณีของ STRAK ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้วงการตลาดทุนรู้ว่าจะต้องปรับตัวและทำงานร่วมกันมากขึ้น ดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น และรุนแรงขึ้น แต่ต้องบาลานซ์ไม่ทำให้การทำธุรกิจ การลงทุน และการระดมทุนยากกว่าเดิม
3.ต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และออกไปชักชวนหรือโรดโชว์นักลงทุนต่างชาติให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรและศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนไทย ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ ซึ่งตอนนี้มีหลายธีม อาทิ ความยั่งยืน (Sustainability)
รูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) อาทิ ธุรกิจพลังงานสะอาดหรือธุรกิจอีวี และเรื่องของ Well Being เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในตลาดทุนไทยมากขึ้น
4.ต้องทำให้ตลาดทุนไทยเป็นที่นักลงทุนรายย่อยและธุรกิจรายย่อย สามารถใช้ตลาดทุนไทยทั้งในการระดมทุนและไปลงทุนในต่างประเทศได้
5.ต้องผลักดันตลาดทุนไทยไปสู่ระดับภูมิภาค ซึ่งตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯมีนโยบายนี้อยู่แล้วในการสนับสนุนให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในประเทศไทย
“นโยบายที่เราได้รับจากนายกฯ ถือว่าค่อนข้างสอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่เราดำเนินการอยู่” ผู้จัดการตลาดหุ้นกล่าว
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า สำหรับภาวะตลาดหุ้นไทยสิ้นเดือน ก.ย.66 พบว่าดัชนี SET Index ปิดที่ 1,471.43 จุด ปรับลดลง 6% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีหลักทรัพย์อื่น ๆ ในภูมิภาค และปรับลดลง 11.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มบริการ
ส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 49,462 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 34.1% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 9 เดือนแรกปี 66 อยู่ที่ 56,218 ล้านบาท
โดยนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิเป็นเดือนที่ 8 โดยในเดือน ก.ย. 2566 ขายสุทธิไปกว่า 22,436 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับไปยังพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯและเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ รวมถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจจีน
จึงทำให้เห็นสัญญาณเงินทุนไหลออกจากหลายตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียและทำให้เงินสกุลต่าง ๆ ปรับตัวอ่อนค่า โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่ปรับลดลงมาก อย่างไรก็ดีนักลงทุนต่างชาติยังรอจังหวะการกลับเข้าซื้อหุ้นไทยด้วยเหตุผลหลายประการ
เช่น ความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ทิศทางค่าเงินบาท รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย