“เศรษฐา” ดึงลงทุนครั้งใหญ่ โรดโชว์ญี่ปุ่นอุ้มผลิตรถสันดาป

เศรษฐา ปาฐกถาพิเศษ Next Chapter ประเทศไทย ประกาศต่อหน้านักธุรกิจ 300 ราย ร่วมสัมมนาประชาชาติ “ถอดรหัสลงทุน ก้าวข้ามวิกฤต” ดึงดูดนักลงทุนระดับโลกครั้งใหญ่ที่สุด-ทุ่มลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เชิญชวนนักธุรกิจ-รัฐวิสาหกิจเร่งทำแผนโรดโชว์ สัญญาไม่ลืมญี่ปุ่นพันธมิตรต้นน้ำรถยนต์สันดาป ให้สิทธิประโยชน์เต็มที่ ถ่วงดุลอำนาจจีน-อเมริกา เร่งเดินหน้าเอฟทีเอ แข่งเวียดนาม-อินโดนีเซีย แก้ความเหลื่อมล้ำคู่ขนานแก้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 29 กันยายน 2566 ที่ห้องแกรนด์ ฮอลล์ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Next Chapter ประเทศไทย” บนเวทีสัมมนา ถอดรหัสลงทุน ก้าวข้ามวิกฤต จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ทุกคนเข้าใจดี ดูได้จากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศเพื่อนบ้านโตกว่าเราสองเท่า ประเทศเราประสบปัญหาเหมือนกัน กำลังอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 รัฐบาลก็พยายามที่จะเข็นนโยบายอะไรออกไปดี ๆ หลายเรื่อง เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ค่าแรง 600 บาทภายในปี’70 พักหนี้เกษตรกรและเอสเอ็มอี 3 ปี

“ขอพูดถึงปรัชญา ปัญหาเศรษฐกิจพี่น้องเดือดร้อนอยู่เยอะมาก ถ้าไม่มีการเยียวยา หรือบริหารจัดการ จะเรียกว่าประชานิยม จะเรียกว่านโยบายหาเสียงอะไรก็ได้ แต่มีอีกหลายสิบล้านคนที่เขาเดือดร้อนอยู่จากปัญหาปัจจุบัน รัฐบาลนี้มาเพราะประชาชน อะไรที่เราทำได้ เราทำก่อน ลดค่าไฟ จาก 4.45 บาทต่อยูนิต เป็น 4.10 บาทต่อยูนิต อีกอาทิตย์หนึ่งก็ลดลงไปเหลือ 3.99 บาทต่อยูนิต เราไตร่ตรองแล้ว ทำได้ทำไปก่อน ประกาศไปก่อน ให้ความมั่นใจ ให้ความสบายใจ ถ้าเราทำได้ เราก็จะทำต่อไป แล้วก็จะพยายามทำต่อไปอีก เราพยายามอยู่”

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องของการพักหนี้เกษตรกรก่อนหน้านี้ อาจจะไม่เข้าใจความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ขอบอกไว้ว่า เขาเดือดร้อนเยอะ เดือดร้อนมาก เรามีการพักหนี้ไป 13 หน ภายใน 9 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น คำถามถ้าเกิดพักแล้ว พักอีก พักต่อไป แล้วต้องพักอีกหรือเปล่า เป็นปัญหาที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น คือต้องพักอีก แต่ความจำเป็นในการต้องพักหนี้เดี๋ยวนี้ เพราะเขาเดือดร้อนมาก ไม่สามารถมีขวัญและกำลังใจที่จะลุกขึ้นไปทำงานต่อได้ การที่เราพักหนี้ทำให้เขามีขวัญและกำลังใจในการที่จะไปทำงานต่อ ทำให้นโยบายของรัฐบาลนำเข้าไปสู่ขบวนการฟื้นฟูได้ ใช้การตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้

เปิดตลาดมิดเดิลอีสต์-แอฟริกา

นายเศรษฐากล่าวว่า การตลาดนำ คือ การที่รัฐบาลจะไปเปิดตลาดใหม่ ๆ มีหลายตลาดที่เราด้อยกว่าประเทศอื่น เช่น ตลาดมิดเดิลอีสต์ หรือตลาดที่แอฟริกา ซึ่งไม่มีความมั่นคงทางด้านอาหารเลย เราให้ความสำคัญกับสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (EU) แต่ถ้าเราไปเปิดตลาดตรงนี้ให้เยอะขึ้น ทำให้มี demand for goods ของเราเยอะขึ้น จะทำให้ราคาดีขึ้น รายได้ของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้น

นายเศรษฐากล่าวว่า นวัตกรรมที่เราจะนำมาใส่ให้กับพี่น้องเกษตรกร เรื่องของการให้องค์ความรู้ วิธีการเทสต์หน้าดิน วิธีการให้ปุ๋ยที่ตรงกับความต้องการของพืชผลนั้น ๆ ระบบชลประทานที่ดีกว่า จะเป็นการแก้ปัญหาในเชิงบูรณการและแก้ปัญหาระยะยาว ทำให้เราพักหนี้สินของเกษตรกรน้อยลง ผมใช้คำว่าน้อยลง เพราะเป็นที่น่าเสียใจว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพที่พึ่งดินฟ้าอากาศเยอะ อาจจะมีบางโอกาสที่เราอาจจะต้องทำอย่างนี้

“อาจจะมีคำถามในใจ ประกัน จำนำ จ้างผลิต จะใช้วาทกรรมอะไรก็ตามที รัฐบาลนี้จะมีไหม ก็ต้องบอกว่า เราไม่มีความประสงค์ที่จะมี เราใช้การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม ยกเว้นแต่มีภัยพิบัติอย่างร้ายแรงที่ต้องช่วยเหลือจุนเจือพี่น้องเกษตรกร เราตระหนักดีว่าไม่ควรจะทำ เราจะไม่ทำ ถ้าไม่เกิดภัยพิบัติ”

ภาคอุตสาหกรรมต้องไม่แล้งน้ำ

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องไม่ท่วมไม่แล้ง เรื่องนี้สำคัญ ตนไปกรมชลประทาน มีความเป็นห่วงเรื่องของระดับน้ำที่อยู่ตามเขื่อนต่าง ๆ มีระดับน้อยลงเยอะ เรื่องการบริหารจัดการน้ำมีอยู่ 3-4 ส่วน ส่วนแรก การบริโภค คือ กิน ดื่ม ใช้ ไม่มีปัญหา เรื่องของการรักษาระบบนิเวศ ไม่มีปัญหา

“เรื่องของการใช้ภาคอุตสาหกรรม กรมชลประทานรายงานมาว่าไม่มีปัญหา แต่ผมมีความกังวลใจอยู่บ้าง เรื่องที่ 4 สำคัญที่สุด คือ เรื่องเกษตรกรรม ทุกภาคส่วนเห็นด้วยว่ามีปัญหาแน่นอน ปีนี้ฝนตกช้า ตกน้อย ตกหลังเขื่อน แต่ยังมีความหวังอยู่ว่า ก็ต้องพึ่งดินฟ้าอากาศว่า ฤดูฝนจะ extend (ขยาย) ไปยาวกว่าปัจจุบัน เพราะจะได้เก็บน้ำในเขื่อนให้เยอะขึ้น การบริหารจัดการเรื่องน้ำ

ในส่วนภาคอุตสาหกรรมต้องทำได้ดีกว่านี้ ต้องให้ความมั่นใจกับภาคธุรกิจได้มากกว่านี้ ได้พูดคุยกับเพื่อนนักธุรกิจที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เยอะ เช่น ภาคตะวันออก ถ้าเราไม่บริหารจัดการได้ดีกว่านี้ น้ำในอุตสาหกรรมจะขาดแคลนภายในเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งกรมชลประทานจะผันน้ำมา ทำให้เรามีความหวัง” นายเศรษฐากล่าวและว่า

“ตอนที่เราจะไปขยายตลาดไปเชื้อเชิญนักลงทุนมาลงทุนที่ประเทศไทยเยอะขึ้น เราไม่สามารถจะมี negative news ออกไป ว่าประเทศเราขาดแคลนน้ำ ใครจะมาลงทุน อุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมต้องการน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ได้สั่งการกรมชลประทานแล้วว่า เป็นปัญหาที่ต้องไม่ให้เกิดขึ้น ควบคู่กับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรรมทั้งหมด”

ทำเอฟทีเอ-สนธิสัญญาการค้า

นายเศรษฐากล่าวว่า การเดินทางไป ประชุม UNGA เป็นเรื่องของการบริหารความคาดหวังของสองประเทศมหาอำนาจ ระหว่างจีนกับสหรัฐ ไม่อยากบอกว่าไปประเทศไหนก่อน ไม่ได้ไปเจอแค่ผู้นำสหรัฐ ไปเจอผู้นำหลายประเทศ ผมเชื่อว่าเป็นการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า ประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจกับทุกประเทศ เราจะมีผู้นำ เราจะมีคณะรัฐบาลที่เดินทางออกไปเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้ากับทุกประเทศ จะให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าเสรี (FTA) หรือสนธิสัญญาการค้าให้ aggressive มากขึ้น ให้ระยะเวลามากยิ่งขึ้น

“เพราะเหตุผลหนึ่งที่เราแพ้เวียดนาม ไม่ใช่เรื่องค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องของเอฟทีเอที่เรามีน้อยกว่า เป็นเรื่องของการที่เราไม่ได้ออกไปประกาศว่าเราจะมีการเปิดประเทศครั้งใหญ่ เราไม่ได้นำเอกชน ไม่ได้นำองค์กรรัฐที่ให้การสนับสนุนการลงทุนระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนในการที่ไปโฆษณา”

นายเศรษฐากล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์กันดีอยู่แล้วการเดินทางไปประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ตนไปเจอบริษัทอะไรมาบ้าง หลาย ๆ บริษัทให้ความสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ เทสลา กูเกิล 3-4 บริษัทเทคใหญ่ ๆ นี้จะลงทุนแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่าบริษัทละ 5 พันล้านเหรียญ ธุรกรรมต่อเนื่องก็จะมีมาอีก เรามีความคาดหวังอย่างสูงว่าจะเกิดขึ้นและมีความต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่จับมือแล้วก็จบ

ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมเอเปกที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้มีการนัดหมายกันแล้วว่าจะไปพูดคุยต่อและเป็นความหวังลึก ๆ ของรัฐบาลว่า จะมีการตกลงกันได้ในขั้นพื้นฐานกับหลาย ๆ บริษัท ซึ่งจะเป็นนิมิตหมายอันดีให้กับทั่วโลกว่า ประเทศไทยได้เปิดแล้ว และพร้อมสำหรับการยกระดับการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ เราไม่สามารถพึ่งการเจริญเติบโตของจีดีพีได้จากภาคเกษตรอย่างเดียว

ต้องมีการลงทุนครั้งใหญ่ ครั้งใหญ่ที่สุด เราจะต้องไปเชื้อเชิญเขามาลงทุน ให้ความมั่นใจ ว่าเรามีแพ็กเกจในการสนับสนุนให้เขาลงทุนอย่างดี แต่เหนือสิ่งอื่นใด การมาลงทุนก็ต้องมีการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติด้วย มี technical know-how ที่เราอิมพอร์ตเข้ามา เพราะฉะนั้นการที่นักลงทุนจะมาอยู่ วิธีการทำธุรกิจ หรือการได้รับวีซ่า ก็ต้องได้รับการสนับสนุนที่ดี

“ถ้าเกิดนักธุรกิจทุกท่านมีคู่ค้าต่างประเทศให้บอกด้วยว่า ประเทศไทยไม่ใช่มีแค่ภูเขา ทะเล วัฒนธรรม อาหารอร่อย ค่าครองชีพถูก เรามีโรงเรียนอินเตอร์เนชั่นแนลดี ๆ เยอะมาก เรามีระบบดูแลรักษาสุขภาพที่ดีระดับโลก มีโรงพยาบาลดี ๆ หลายโรงพยาบาล โดยเฉพาะมีชาวต่างชาติเดินทางมารักษาเหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ประเทศไทยน่าลงทุน นอกจากแพ็กเกจการลงทุนที่ดี” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ เมื่อมีชาวต่างชาติมาลงทุน เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ต้องขอบคุณบริษัทเทเลคอมทั้งหลาย เรื่องอินเทอร์เน็ตของเราดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และในเรื่องของการไฟฟ้า แต่ยังไม่เปอร์เฟ็กต์อยู่ดี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องมีอย่างต่อเนื่อง เรื่องของสนามบินก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่อย่างนั้นความเจริญก็จะกระจุกตัวอยู่แค่กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ ปัจจุบันนี้สลอตเครื่องบินที่สามารถเข้ามาจอดได้ก็เกือบเต็มแล้ว ต้องขยายกันอย่างมาก

นายเศรษฐากล่าวว่า เราพูดกันถึงตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่หลายสิบล้านคน แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็เป็นแค่ประเด็นหนึ่ง เราต้องการเน้นระยะเวลาในการพักอยู่ เราต้องเน้นรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวมากกว่า การต้องพัฒนาเมืองรองให้เป็นที่ต้องการของต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด กระจายความเจริญให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในชนบท กระทรวงต่าง ๆ ต้องช่วยกันโปรโมต ไม่ใช่เป็นภาระของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างเดียว

กระทรวงคมนาคมต้องยกระดับท่าอากาศยานในหลายจังหวัด ให้รองรับเครื่องบินได้มากขึ้น ให้สามารถบินเข้าออกได้ในช่วงกลางคืนได้มากขึ้น กระทรวงวัฒนธรรมต้องทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลเพื่อยกระดับหลาย ๆ เมืองที่มีวัฒนธรรมที่ดีให้เป็นเมืองมรดกโลกให้ได้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาให้ได้

ยกระดับสนามบินเหนือคู่แข่ง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นภาคอุตสาหกรรมที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยได้อย่างดี และกระจายไปทั่วทุกจังหวัดได้ เป็นความปรารถนาของรัฐบาลนี้ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว จะมีการขยายสนามบินนานาชาติที่ภูเก็ต เรามีพังงา กระบี่ ระนอง วิธีการตั้งชื่อก็สำคัญ ตนพยายามบอกท่าอากาศยานไทย (AOT) ว่าให้ตั้งชื่อว่า อันดามัน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต หรือที่เชียงใหม่ก็อาจจะเป็น ล้านนา เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้เหนือกว่าคู่แข่ง

“ปัจจุบันนี้มีอินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการแย่งแหล่งเงินทุนของเรา ผู้นำเขาออกไปค้าขายอย่างมาก เราเองก็ต้องสู้ เราก็ต้องพัฒนา รัฐบาลนี้มาด้วยอย่างที่บอก ผมเทหมดหน้าตักที่จะมาบริหารจัดการประเทศ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน ยิ่งออกไปต่างประเทศไปค้าขายมากขนาดไหน ก็ต้องลงพื้นที่ต่างจังหวัดมากขนาดนั้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนเห็นว่า เราไม่ได้ดูแค่การลงทุนต่างประเทศ เราเองมีความปรารถนาดีกับพี่น้องประชาชนทุก ๆ จังหวัด เช่น การเกษตร หรือปัญหาเฉพาะหน้า น้ำท่วม อีก 6 เดือนก็จะเจอน้ำแล้งอีก ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ” นายเศรษฐากล่าวและว่า

“เรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ท่วมไม่แล้งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ผมคิดว่าสำคัญมากกว่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงอีก เพราะทุกบาททุกสตางค์ที่ลงไปเรื่องไม่ท่วมไม่แล้ง ทุกบาททุกสตางค์จะช่วยจีดีพีของประเทศไทย ไม่ใช่ไฮเทคอะไรที่ต้องไปอิมพอร์ตเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ มา เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรจะให้ความสำคัญ ประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางด้านอาหารสูง เป็นแหล่งที่เราจะส่งอาหารออกไป ค้าขายกับต่างประเทศได้” นายเศรษฐากล่าว

Intensive ค่ายรถสันดาปญี่ปุ่น

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่อง geopolitics เรื่องการบาลานซ์ระหว่างจีนกับอเมริกา ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก แต่มีความภาคภูมิใจในเอกราชที่เรามีมาโดยตลอด เราจะไม่เลือกไปกับประเทศใดประเทศหนึ่ง เราต้องมีความเป็นกลาง เราต้องยึดมั่นในความสงบและความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน ควบคู่กันไปกับภาวะของการทะเลาะเบาะแว้งกัน

นายเศรษฐากล่าวว่า ไทยได้เปรียบบางเรื่อง เช่น ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นที่หมายมั่นปั้นมือของแต่ละประเทศ เราต้องบริหารจัดการตรงนี้ให้ดี ทางรัฐบาลเองก็จะบาลานซ์ให้ดีที่สุด และนำประโยชน์สูงสุดมาให้กับประเทศ เราเองต้องไม่ลืมด้วยว่ายังมีมหาอำนาจอีกคน คือ ญี่ปุ่น ถือว่ามีการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่สูงที่สุดในประเทศไทย เราเป็นคนไทย เราไม่ลืมต้นน้ำ ใครที่ทำอะไรดีให้เรามา ญี่ปุ่นมีความกังวลเรื่องตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่าจะเข้ามาแล้วทำให้เขาเสียเปรียบในแง่ของเชิงธุรกิจ เพราะเขาอาจจะช้าไปนิดหนึ่งสำหรับเรื่องอีวี

“ผมจะเดินทางไปญี่ปุ่นในเดือนธันวาคมนี้ ผมยืนยันกับเจ้าหน้าที่บีโอไอว่า รัฐบาลนี้ไม่ลืมต้นน้ำ ไม่ลืมพระคุณที่รัฐบาลญี่ปุ่น หรือเอกชนญี่ปุ่นที่ช่วยเหลือเรามาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ช่วงเวลานี้เมืองไทยเคยเป็นดีทรอยต์ออฟเอเชีย มีอู่ประกอบรถยนต์สันดาปเยอะมาก ถึงแม้ว่าเราจะสนับสนุนอีวี เราก็จะสนับสนุนต่อไป แต่การมาเทกแคร์ธุรกิจเดิม ๆ ที่ยังต้องดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตามทีรถยนต์สันดาปยังต้องมีต่อไป 10-15 ปี ทำอย่างไรให้ภาคอุตสาหกรรมนี้อยู่ต่อไปได้ มีซัพพลายเชนที่เยอะมากในประเทศไทย ถ้าอยู่ดี ๆ หายไป หรือไม่ได้รับการสนับสนุน พี่น้องประชาชนคนไทยที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้ก็จะเดือดร้อน” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลคำนึงถึงเรื่องนี้ และเสนอไปจะมีการพูดคุยอย่างต่อเนื่องจากนี้ไปจนถึงเดือนธันวาคมว่า เราจะมีการคุยกับสมาคมยานยนต์ จะทำอย่างไรให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลาง อาจจะดูย้อนแย้ง ศูนย์กลางของช่วงสุดท้ายของการผลิตรถยนต์สันดาป อาจจะมีการให้ intensive บางประการให้ย้ายฐานมาผลิตที่ไทยเพื่อส่งออกออกไป ทำให้ซัพพลายเชนของรถยนต์สันดาปสามารถมีอนาคตยาวต่อไปได้อีก ทำให้ช่วงเวลาของรถยนต์สันดาปปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

นายเศรษฐากล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Green Economy ผมเชื่อว่าการประชุม UNGA ครั้งที่ผ่านมา มีการทะเลาะเบาะแว้งกันเยอะมาก จับคู่ทะเลาะกันเยอะมาก เลขาธิการสหประชาชาติได้หยิบยกแกนนำมาพูดกันในเรื่องของ SDGs เป็นเรื่องที่ 190 ประเทศเห็นตรงกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจับคู่กัน มีการพูดคุยเชิงสร้างสรรค์ มีการพูดคุยในเรื่อง Green Finance ซึ่งเราไปประกาศด้วยว่า เราออกกรีนบอนด์เยอะแล้ว และจะออกอีก แต่จะเป็นรูปแบบใหม่ คือ sustainability-linked bond ซึ่งทำให้ขอบเขตในการลงทุนกู้เงินกว้างขวางมากขึ้น รัฐบาลจะให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง

เปิดประเทศลงทุนครั้งใหญ่

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องสุดท้ายจริง ๆ รัฐบาลเองอย่างเดียวจะออกไปประกาศไม่ได้ ว่าเรา open for business เรา open for business จริง ๆ เราเดินทางไปจริง ๆ เรามีการพูดคุยจริง ๆ แต่คนที่เป็นตัวแทนของประชาชนคนไทยทุกคนคือบริษัทเอกชน ผมมายืนตรงนี้ มาขอร้องวันนี้ว่า รัฐบาลพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ พร้อมสำหรับการพูดคุย พร้อมที่จะรับข้อเสนอแนะในการเปิดประเทศไปข้างหน้าเพื่อดึงดูดการลงทุนครั้งใหญ่

“ผมอยากให้ทุกท่านช่วยกันออกไปพูด มีอะไรที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้ เรื่อง business matching ที่ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลนี้ยินดีให้การสนับสนุนช่วยเหลือ หน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ หน่วยงานอื่น ๆ เรื่องโรดโชว์เป็นเรื่องสำคัญ เราไม่ได้ทำเรื่องนี้มานาน ไม่มีใครรู้จักประเทศไทย ไม่มีใครรู้เลยว่าของเราดีอย่างไร ผมขอเรียกร้อง วิงวอนวันนี้ว่า เริ่มทำแผนกันได้แล้วครับ ออกไปพูดคุย ออกไปโฆษณาประเทศ ให้ทุกท่านมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย” นายเศรษฐากล่าวทิ้งท้าย

ลดขัดแย้งคู่ขนานแก้รัฐธรรมนูญ

นายเศรษฐายังกล่าวว่า ส่วนปัญหาของสังคม ความแตกแยก ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียม เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ๆ อาจจะเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด เรื่องนี้เป็นภารกิจใหญ่ของรัฐบาล เป็นปัญหาที่หมักหมมมาระยะเวลาที่นานมาก ๆ ไม่อยากจะบอกว่าถูกการละเลย หรือถูกการปล่อยปละ ไม่มีการแก้ไขปัญหามา แต่เป็นปัญหาที่ยาก เป็นปัญหาที่ใหญ่ มีหลายมิติซึ่งอาจจะทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด

“ผมก็จะไม่เคลมว่ารัฐบาลนี้จะมีทางออกทั้งหมด ที่ทำให้ทุกท่านฟังแล้วสบายใจ แต่เราเริ่มกันด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันนี้เราก็วางโรดแมปไว้แล้วบ้าง ถึงแม้ว่ายังไม่สมบูรณ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ก็ต้องทำต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องของการแก้กฎกติกาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า เรื่องกระบวนการในการแก้ไขปัญหาที่จะทำให้สังคมดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ คนที่มีเยอะ ขอให้งดการใช้โซเชียลมีเดียในการอวด ในการเสนอตนว่าเหนือท่าน หลาย ๆ เรื่องพวกนี้ถ้าเกิดลดลงไปได้บ้าง คนที่อยู่ชายขอบของสังคม เขาก็จะมีความสบายใจขึ้น

“ทุกท่านในที่นี้ รวมถึงตัวผมก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบไปด้วยกัน ไม่สายเกินไป เรามาช่วยเยียวยาสังคมให้ดีขึ้นจากการกระทำของพวกเราเอง ทุกคนมีความไม่สบายใจในเรื่องนี้ ต้องรับผิดชอบต่อสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่เราจะนำประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ควบคู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่มีประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น”